HUAWEI CLOUD Developer Contest การแข่งขันนักพัฒนาเทคโนโลยีบนคลาวด์เป็นครั้งแรกในประเทศไทย มุ่งสนับสนุนยกระดับศักยภาพบุคลากรด้านไอซีทีสู่เวทีโลก มุ่งสนับสนุนยกระดับศักยภาพบุคลากรด้านไอซีทีสู่เวทีโลก
บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด จัดการแข่งขัน HUAWEI CLOUD Developer Contest เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อค้นหาและสนับสนุนนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีศักยภาพของไทยทั้งระดับนักศึกษาและประชาชนทั่วไป ร่วมสร้างสรรค์แอปพลิเคชันและโซลูชันผ่านหัวเว่ย คลาวด์ สำหรับองค์กรธุรกิจและภาคสังคมในประเทศไทย ซึ่งนอกเหนือจากรางวัลต่างๆ แล้ว ผู้ชนะเลิศของทั้งสองประเภทยังจะได้เข้าร่วมทริปสุดเอ็กซ์คลูซีฟเยี่ยมชมสำนักงานใหญ่ของหัวเว่ย ณ เมืองตงกวน ประเทศจีนอีกด้วย โดยการแข่งขันดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของงาน ‘POWERING DIGITAL THAILAND 2021: HUAWEI CLOUD & CONNECT’ ซึ่งเป็นการจัดแสดงเทคโนโลยีใหม่ๆ พร้อมแสดงวิสัยทัศน์ด้านดิจิทัลสำหรับประเทศไทยในปี พ.ศ. 2564 ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้
นายโรเบน หวัง ประธานกลุ่มธุรกิจ Huawei Cloud และ AI บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “หัวเว่ยดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมากว่า 21 ปีแล้ว ซึ่งการแข่งขันสำหรับนักพัฒนานี้ถือเป็นครั้งแรกที่ HUAWEI CLOUD จัดขึ้น โดยทีมงานของเราได้คัดเลือกโครงการต่างๆ ที่เข้าร่วมการแข่งขัน ซึ่งมีทั้งโซลูชันที่เกี่ยวข้องกับปัญหาต่างๆ ในปัจจุบัน โซลูชันที่แสดงถึงการพัฒนาไปสู่อนาคต ซึ่งทุกโครงการล้วนสะท้อนนวัตกรรมด้านความคิดและสามารถนำไปใช้ได้จริง
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งเท่านั้น มนุษย์ต่างหากที่เป็นผู้นำนวัตกรรมมาปรับใช้และเปลี่ยนเครื่องมือเหล่านั้นให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์หรือการบริการที่ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ทุกคนและสร้างประโยชน์แก่สังคม โดยหัวเว่ย ก็จะยังคงมุ่งมั่นสร้างสรรค์อีโคซิสเต็มเพื่อพัฒนาบุคลากรด้าน ICT ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องเช่นกัน”
การแข่งขัน HUAWEI CLOUD Developer Contest ครั้งแรกในไทยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้ผู้เข้าร่วมงานได้พัฒนาและนำโซลูชันที่สามารถมอบประโยชน์แก่คนไทยและสังคมไทยมาใช้งานได้จริง โดยเป็นการใช้ประโยชน์จากการให้บริการทั้งขั้นพื้นฐาน และขั้นสูงของ Huawei Cloud อันประกอบด้วย Big Data (MRS), AI (ModelArts, OCR), Container (CCE, Service Stage), Blockchain (BSC) และอื่นๆ โดยการแข่งขันแบ่งเป็นประเภทบุคคลทั่วไป และประเภทนักศึกษา โดยจะมีเพียง 12 ทีมเท่านั้นที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ
ผลงานที่ได้รับการคัดเลือกนั้น ครอบคลุมทั้งด้านสุขภาพ (การใช้ tele-bio signal streaming), การขายและการตลาด (การจัดหาลูกค้า และการวิเคราะห์ด้านการขายผ่านเทคโนโลยี AI), การศึกษา (ระบบอี-เลิร์นนิ่ง, การใช้เทคโนโลยี AI เพื่อให้คำปรึกษาด้านการศึกษาและการว่างงาน), การนำไปใช้ด้านกฎหมาย (การค้นหาข้อมูลด้านกฎหมายได้อย่างชาญฉลาดจากแหล่งข้อมูลกลาง), ความปลอดภัยด้าน AI ไปจนถึงโซลูชันการป้องกันการคุกคามทางไซเบอร์ (cyberbullying) ด้วยการใช้เทคโนโลยี AI
การตัดสินรอบชิงชนะเลิศนั้น ได้รับเกียรติจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคการศึกษาและภาคธุรกิจ อันประกอบด้วย นายวีรสกล ชวะโนทัย รองผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายดิจิทัลและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน), ผศ. ดร. กรกฎ ใยบัวเทศ ทิพยาวงศ์ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหกรรม ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ รศ. ดร. โอม ศรนิล, ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science) จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) โดยมี รศ. พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ให้เกียรติมอบรางวัลพร้อมกล่าวว่า“การแข่งขันครั้งนี้ทำให้เราเห็นว่ามีแอปพลิเคชันจำนวนมากที่จะมอบประโยชน์อันหลากหลายแก่สังคม หากได้รับการพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบและทำให้เกิดขึ้นจริง โดยในนามของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เราพร้อมสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้นักพัฒนาทุกคนมุ่งมั่นพัฒนาแอปพลิเคชันซึ่งสามารถต่อยอดนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ ทางกระทรวงฯ ขอขอบคุณหัวเว่ยที่จัดกิจกรรมเช่นนี้ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีกิจกรรมเช่นนี้เกิดขึ้นอีก เพื่อที่ประเทศไทยจะเติบโตด้านเทคโนโลยีต่อไปอย่างมั่นคง”
สำหรับทีมชนะเลิศประเภทนักศึกษาเป็นของทีม Remy จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ซึ่งประกอบด้วยนายสิริกร ชลานันต์ และนายศุภกฤษฏิ์ ท่านมุข โดยมี ผศ.ดร.นพ. ปิยพงษ์ คำริน อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว เป็นที่ปรึกษาประจำทีม ในโครงการ Tele-biosignal streaming system and signal extraction ซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นต้นแบบของการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการวัดสัญญาณชีพแบบดิจิทัล ระบบการนำเสนอภาพสัญญาณและ ระบบการดูแลผู้ป่วยทางไกล ช่วยให้การดูแลผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยใช้ Huawei Cloud มาสนับสนุนการส่งสัญญาณไร้สายอย่างต่อเนื่องของคลื่นสัญญาณชีพจากเครื่องมอนิเตอร์หลากหลายแบบเข้าสู่ระบบการจัดการข้อมูลบนเทคโนโลยีคลาวด์เพื่อติดตามอาการของผู้ป่วยได้จากทุกที่และทุกเวลา โดยทีมยังกล่าวด้วยว่า Huawei Cloud ตอบโจทย์ในการพัฒนาระบบที่ซับซ้อน มีความยืดหยุ่นในการขยายขนาดเพื่อรองรับปริมาณการใช้งานตามจริง สามารถส่งข้อมูลได้อย่างปลอดภัยและ
มีประสิทธิภาพ
สำหรับประเภทบุคคลทั่วไป รางวัลชนะเลิศเป็นของทีม InDistinct นำโดยนายเสฐียรพงศ์ จึงอุดมพร นายธนพล นรเสฏฐ์ และนายศุกลเจษฎ์ สี่สุวรรณกุล ซึ่งร่วมกันพัฒนาโครงการที่มุ่งหวังให้เกิดการใช้งานการยืนยันตัวตนแบบดิจิทัล หรือ Digital ID ผ่านเทคโนโลยี AI โดยมีการนำเทคโนโลยี Optical Character Recognition (OCR) มาใช้ร่วมกันเพื่อช่วยคัดแยกคุณภาพของรูปถ่าย ช่วยให้การใช้งานบัตรประจำตัวหรือเอกสารต่างๆ อาทิ ทะเบียนบ้าน หนังสือเดินทาง บัตรประจำตัวประชาชน สามารถใช้งานร่วมกันได้เพื่อความสะดวกรวดเร็ว ป้องกันการรั่วไหลของข้อมูล เร่งการเกิดกระบวนการยืนยันตัวตนแบบดิจิทัลในไทยที่เชื่อถือได้
การแข่งขัน HUAWEI CLOUD Developer Contest นี้ถือเป็นกิจกรรมสำคัญส่งท้ายการจัดงาน “POWERING DIGITAL THAILAND 2021 HUAWEI CLOUD & CONNECT” ซึ่งบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมมือกับ บริษัท บางกอกโพสต์ จำกัด (มหาชน) และพาร์ทเนอร์อีกกว่า 50 รายจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ด้วยเป้าหมายที่จะศึกษาการนำเทคโนโลยี CLOUD AI และโครงข่าย 5G เข้ามาช่วยยกระดับนวัตกรรมและเพิ่มประสิทธิภาพในด้านกระบวนการดำเนินงานให้แก่อุตสาหกรรมในประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ