CAT จัดการแข่งขัน Virtual Reality Contest ภายใต้แนวคิด Now Normal City เมืองแห่งวิถีใหม่ ในงาน CAT Network Showcase 2020 ด้วยมิติใหม่ในรูปแบบ Virtual Event ครั้งแรก!
บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT จัดการแข่งขันประชันไอเดียครีเอทีฟเสมือนจริง “Virtual Reality Contest” ภายใต้แนวคิด Now Normal City เมืองแห่งวิถีชีวิตใหม่ ในงาน CAT Network Showcase 2020 เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 ผ่านเว็บไซต์ www.catcns2020.com
คุณกวินนันทน์ ภัทร์ชนันท์ ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์สื่อสารข้อมูล บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดการแข่งขันในครั้งนี้ว่า “ ปัจจุบันเทคโนโลยีเสมือนจริงอย่าง AR/VR ได้เข้ามามีบทบาทในธุรกิจมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา นำไปสู่การหยุดชะงักของภาคธุรกิจทางด้านบันเทิง กีฬา และการจัดงานอีเวนต์ พฤติกรรมการรับชมของผู้บริโภคจึงเปลี่ยนจากการเข้าชมในสถานที่จัดงาน มารับชมการถ่ายทอดสดผ่านช่องทางออนไลน์แทน เนื่องจากเทคโนโลยีเสมือนจริงเหล่านี้ สามารถนำเสนอมุมมองการรับชมแบบ 360 องศา พร้อมทั้งรองรับระบบเสียงรอบทิศทาง จึงทำให้ผู้ชมได้รับอรรถรสในการรับชมใกล้เคียงกับบรรยากาศการรับชมในสถานที่จริง และได้ประสบการณ์ในมุมมองที่หลากหลายมิติกว่าการเข้าชมจากสถานที่จริงอีกด้วย แต่การจะสร้างสรรค์เทคโนโลยี AR/VR ขึ้นมาก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เหล่าครีเอเตอร์จำเป็นต้องมีทักษะพื้นฐานในการสร้างงานเสมือนจริงเหล่านี้ และต้องมีแพลตฟอร์มที่จะเข้ามารองรับการสร้างสรรค์ผลงาน CAT จึงอยากใช้เวทีนี้ในการจัดกิจกรรมแข่งขัน VirtualReality Contest และเป็นเวทีในการสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อผลักดันผลงานของครีเอเตอร์รุ่นใหม่ๆ รวมถึงการสนับสนุนของทั้งภาครัฐและเอกชนในการนำผลงานครีเอทีฟเสมือนจริงเหล่านี้ มาขับเคลื่อนธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์ต่อไป ”
การแข่งขัน Virtual Reality Contest ในครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภท 360 VR ผู้เข้าแข่งขันจะต้องเล่าเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับวิถีชีวิตแบบใหม่ เพื่อแสดงถึงการเว้นระยะห่างทางสังคมที่สร้างสรรค์ อันเป็นประโยชน์กับชีวิตในสถานการณ์โควิด-19 และประเภท Mobile AR/VR โดยเปิดโอกาสให้ผู้แข่งขันสร้างสรรค์เกมดิจิทัลแบบโต้ตอบ (interactive digital games) การจำลองในระบบสามมิติ (3D simulation) การผสมผสานเทคโนโลยี 2D, 3D ร่วมกับเทคโนโลยี VR โดยไม่จำกัดด้านเทคนิคหรือวิธีการที่ใช้ในการสร้างสรรค์ โดยมีคณะกรรมการจากวงการครีเอทีฟและเทคโนโลยีดิจิทัล ให้เกียรติร่วมตัดสินผลงาน ได้แก่ อาจารย์ธีมา หมึกทอง เลขานุการหลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาการออกแบบนิเทศศิลป์ (หลักสูตรนานาชาติ) ภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คุณเกรียงศักดิ์ ภานุวัฒน์วนิชย์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมและเทคโนโลยีโยธา สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร, ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คุณกวินนันทน์ ภัทร์ชนันท์ ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์สื่อสารข้อมูล บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)และ ดร.พัชรินี เทียนตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายธุรกิจคลาวด์และบิ๊กดาต้า บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)
สำหรับผลการแข่งขันประเภท 360 VR รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม โครงการ Chula 5G จากผลงาน VR เพื่อรักษาผู้ป่วยอาการสมองเสื่อม โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม Tuk-TuK Thailand Raindy Day in Bangkok จากผลงานการนำเสนอ ภาพบรรยากาศของกรุงเทพมหานคร แบบ 360 องศา ผ่านมุมมองบนรถตุ๊กตุ๊ก โดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนือ และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม งดการสมรส จากผลงานการพาชมทำงานเบื้องหลังก่อนการแสดงละครเวทีเรื่อง “งดการสมรส” อย่างสมจริง ด้วยเทคโนโลยีแบบ 360 VR โดยภาควิชาศิลปะการละคร คณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย