Modern Apps Study

VMware เผยองค์กรใน APAC ที่อาศัยซอฟต์แวร์เป็นเครื่องมือดำเนินการปรับเปลี่ยนองค์กรมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จทางธุรกิจมากกว่า

จากผลการวิจัยทั่วโลกฉบับล่าสุดที่เผยแพร่โดยบริษัท วีเอ็มแวร์ ชี้ให้เห็นชัดเจนว่าการทำงานอย่างสอดคล้องกันระหว่างฝ่ายธุรกิจ ฝ่ายไอที และฝ่ายพัฒนาแอป จะสามารถสร้างนวัตกรรม และช่วยให้บริษัทมีอัตราการเติบโตเป็นไปตามเป้าหมายทางธุรกิจที่วางไว้

ขณะที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ผลการวิจัยของวีเอ็มแวร์พบว่าบริษัทที่มีความก้าวหน้าในการปรับเปลี่ยนองค์กรสู่ดิจิทัล หรือดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน (Digital Transformation – DX) มีสถานะและความพร้อมที่ดีกว่าสำหรับการรับมือกับวิกฤติและเศรษฐกิจขาลง เพราะมีการพัฒนาและปรับใช้โมเดิร์นแอปพลิเคชัน (Modern Application) ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

เอกภาวิน สุขอนันต์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท วีเอ็มแวร์ กล่าวว่า “ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า องค์กรธุรกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (APAC) ให้ความสำคัญเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับองค์กรต่างๆ ทั่วโลก ในการลดสัดส่วนความสำคัญในการมอบประสบการณ์ให้กับลูกค้า และหันไปมุ่งเน้นความสำคัญในเรื่องที่เกี่ยวกับพนักงานแทน เช่น การปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกัน และการดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ โดยให้ไปอยู่ในตำแหน่งที่จะช่วยขับเคลื่อนโครงการดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันได้ในระยะยาว”

ลักษณะขององค์กรในเอเชียแปซิฟิกที่ประสบความสำเร็จ เผยให้เห็นว่า เทคโนโลยีเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งที่เกื้อหนุนความสำเร็จ ขณะที่บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ผู้บริหารที่เข้าใจเรื่องซอฟต์แวร์ และการปรับเปลี่ยนองค์กรให้สอดคล้องกัน คือกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จ:

  • บุคลากรมีความสำคัญ – 94% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า จำเป็นที่จะต้องเปิดโอกาสให้บุคลากรที่มีทักษะด้านเทคนิคที่แตกต่างหลากหลายเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจังในโครงการ DX เพื่อให้โครงการประสบผลสำเร็จอย่างแท้จริง
  • ผู้บริหารมีความสำคัญ – 89% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า องค์กรที่มีผู้บริหารที่ใส่ใจเรื่องซอฟต์แวร์จะประสบความสำเร็จได้มากกว่า
  • ความสอดคล้องกันของทีมงาน – 88% ของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่า ความสอดคล้องกันที่มากขึ้นระหว่างภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการพัฒนาแอปจะช่วยยกระดับความสำเร็จในการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน

อย่างไรก็ดี เกือบทุกบริษัทไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ล้วนพบเจออุปสรรคในการดำเนินโครงการ DX: 

  • 97% ของผู้ตอบแบบสอบถามในเอเชียแปซิฟิกมองเห็นความสำเร็จในระดับหนึ่งจากการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน อย่างไรก็ตาม ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมาก (90%) พบเจออุปสรรคบางประการ โดยปัญหาท้าทายด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันที่สำคัญที่สุด 3 ข้อสำหรับองค์กรใน เอเชียแปซิฟิกมีดังนี้:
    • มีอุปสรรคและข้อกำหนดมากเกินไปในเรื่องความปลอดภัยและกฎระเบียบ (32% – สูงกว่า 5 จุดเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลก)
    • แอป/ซอฟต์แวร์ไม่สามารถบูรณาการอย่างเหมาะสมเข้ากับระบบรุ่นเก่า/ระบบที่มีอยู่ (27%) 
    • มีหลายแพลตฟอร์มมากเกินไป ทำให้การเปลี่ยนแปลงกลายเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น (27%)

ในเรื่องของกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชัน สำหรับองค์กรในเอเชียแปซิฟิกที่มีอัตราการเติบโตสูงมากกว่า 5% พบว่าโดยเฉลี่ยแล้ว ซอฟต์แวร์/แอปใหม่ที่องค์กรพัฒนาขึ้นถูกนำไปใช้งานจริงสูงกว่าเกือบ 14% เมื่อเทียบกับองค์กรที่มีอัตราการเติบโตไม่เกิน 5%  และเมื่อเจาะลึกรายละเอียดในส่วนของกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์/แอป ผู้บริหารสายงานไอทีและนักพัฒนาแอปทั้งจากองค์กรที่มีอัตราการเติบโตสูงและต่ำเปิดเผยว่า ทีมงานของตนเองใช้เวลาไปกับงานบำรุงรักษาในสัดส่วนที่เท่ากัน (39%)  อย่างไรก็ตาม บริษัทที่มีอัตราการเติบโตสูงกว่าใช้เวลาไปกับการสร้างสรรค์นวัตกรรมมากกว่าบริษัทที่มีผลประกอบการต่ำกว่า (49% เทียบกับ 44%) และในทำนองเดียวกัน บริษัทที่มีอัตราการเติบโตสูงมีขั้นตอนอัตโนมัติในกระบวนการพัฒนาแอปในสัดส่วนที่มากกว่า (58% เทียบกับ 46%)

หลักการวิจัย

รายงาน “Successful Digital Transformation: Apps At The Ready” ของวีเอ็มแวร์ อ้างอิงผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารสายงานธุรกิจ ผู้บริหารสายงานไอที และนักพัฒนาแอปในองค์กรขนาดกลางและขนาดใหญ่ 5,000 คนใน 17 ประเทศทั่วโลก โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 1,650 คนมาจาก 5 ประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้  ทั้งนี้ บริษัท แวนสัน บอร์น (Vanson Bourne) ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นดังกล่าวในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน 2563