E-Waste

AIS ชวนคนไทย ทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) อย่างถูกวิธี

AIS ยกระดับโครงการ “คนไทยไร้ E-Waste” สู่วาระแห่งชาติ ผนึก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เดินหน้าชวนคนไทย ทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) อย่างถูกวิธี พร้อมขยายจุดรับทิ้งทั่วประเทศ

AIS และ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมพลังสร้างเครือข่ายคนไทยไร้ E-Waste ทั่วประเทศ สร้างการตระหนักรู้ และการมีส่วนร่วมด้วยช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ผ่าน 2 ความร่วมมือหลัก

  • ขยายจุดวางถังรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ ณ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด หรือ ทสจ. ทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่ต้องการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี
  • ร่วมกับ อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน หรือ ทสม. เพื่อเป็นตัวแทนสื่อสาร สร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับการจัดเก็บและทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกต้อง
AIS E-Waste

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “รัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งที่เกิดขึ้นในประเทศและที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยมี รมว.ทส. เป็นประธานมีหน้าที่และอำนาจในการเสนอแนะมาตรการ แนวทาง และติดตามประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งการขับเคลื่อนการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้ประสบผลสำเร็จต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน/ประชาสังคม ภาคการศึกษา และภาคีเครือข่าย ทส. ดำเนินโครงการ “คนไทยไร้ E-Waste” เพื่อรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ประเภทซากโทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์ต่อพ่วง ได้แก่ สายชาร์จ แบตเตอรี่ หูฟัง พาวเวอร์แบงก์ และนำไปจัดการอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยรายได้จากการรีไซเคิล จะนำไปมอบให้มูลนิธิชัยพัฒนาต่อไป

ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นในประเทศมีมากกว่า 400,000 ตันต่อปี แต่มีการเก็บรวบรวมและนำไปจัดการอย่างถูกต้องเพียง 500 ตัน ส่วนที่เหลือจะถูกเก็บไว้ตามบ้านเรือน ขายเป็นสินค้ามือสอง ขายให้รถเร่/ซาเล้ง นอกจากนี้ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในปี 2557 มีการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ในปริมาณประมาณ 900 ตัน อย่างไรก็ตาม ในปี 2560 ปริมาณนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์มีมากกว่า 50,000 ตัน ทั้งนี้ ยังมีการตรวจพบโรงงานและสถานประกอบกิจการถอดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ดำเนินการอย่างไม่ถูกหลักวิชาการ ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม จึงต้องมีการรวบรวมและนำไปจัดการอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า “วันนี้ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) ที่เป็นอุปกรณ์สื่อสารและ ICT นับว่าเป็นปัญหาใหญ่ของคนทั่วทั้งโลก โดยมีตัวเลขจาก The global E-Waste 2020 by the United Nation University and the United Nations Institute for Training and Research,
the International Telecommunication Union and the International Solid Waste Association ที่รายงานเมื่อปี 2562 ว่า ทั่วโลกมีปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ถึง 53.6 ล้านเมตริกตัน และมีการใช้งานต่อคนถึงคนละ 7.3 กิโลกรัม ซึ่งขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกได้รับการ recycle อย่าง ถูกวิธี เพียง 17.4% หรือ คิดเป็น 9.3 ล้านเมตริกตันเท่านั้น ในขณะที่ข้อมูลจากรายงานสถานการณ์ของเสียอันตรายจากชุมชน โดยกรมควบคุมมลพิษ ปี 2562 ประเทศไทยมีปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) อยู่ที่ 400,000 ตัน
นี่คือสิ่งที่เราควรต้องให้ความสำคัญและบริหารจัดการร่วมกันก่อนจะสายเกินไป

AIS E-Waste

ดังนั้นในฐานะ Digital Life Service Provider ที่มีเป้าหมายในการเป็นผู้ให้บริการด้านดิจิทัลที่ดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ พร้อมร่วมดูแลรับผิดชอบต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของประเทศให้พัฒนา และเติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน เราจึงให้ความสำคัญต่อการจัดการปัญหาขยะทุกประเภท รวมถึงขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) ที่นับได้ว่าเป็นขยะอีกหนึ่งประเภทที่จะต้องมีการคัดแยกและนำไปกำจัดอย่างถูกต้องตามมาตรฐาน ที่ผ่านมาเราจึงอาสาเข้ามาเป็นศูนย์กลางและจัดทำโครงการ “คนไทยไร้ E-Waste” ขึ้น โดยมีเป้าหมายในการปลูกจิตสำนึกคนไทยให้เข้าใจและตระหนักถึงการบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี พร้อมสร้างการมีส่วนร่วมในการกำจัด โดยจัดทำถังรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ให้สามารถนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) ซึ่งประกอบไปด้วย โทรศัพท์มือถือ/แท็บเล็ต, แบตเตอรี่มือถือ, พาวเวอร์แบงก์, สายชาร์จ, หูฟัง มาทิ้ง ได้ ณ จุดบริการของ AIS และจุดบริการของภาคีเครือข่ายซึ่งปัจจุบันมีแล้วมากกว่า 2,300 จุดทั่วประเทศ จากนั้นส่งต่อไปทำลายอย่างถูกต้องตามมาตรฐานสากลในรูปแบบของ Zero Landfill

โดยล่าสุด ได้รับเกียรติจาก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้การสนับสนุน ร่วมเป็นอีก 1 ภาคีเครือข่ายหลัก ยกระดับภารกิจ คนไทยไร้ E-Waste สู่วาระแห่งชาติ ในการขยายจุดรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) พร้อมร่วมบูรณาการส่งต่อองค์ความรู้และปลูกจิตสำนึกคนไทย ผ่านการทำงานของ อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน หรือ ทสม. ที่จะเป็นตัวแทนหลักที่เข้าถึงประชาชนทั่วประเทศเพื่อสื่อสารเกี่ยวกับโทษภัยของขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste), ให้ข้อมูลการจัดเก็บและทิ้งอย่างถูกวิธี ตลอดจนส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งเอไอเอสต้องขอขอบคุณกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมกลุ่ม ทสม. ที่เห็นความสำคัญของโครงการนี้และร่วมสนับสนุนอย่างดี โดยยืนยันว่า เราจะร่วมเป็นอีก 1 พลังสานต่อภารกิจของกระทรวงฯ  ในการดูแลปกป้องสิ่งแวดล้อมของบ้านเราเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของลูกหลานเราในอนาคตให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป”

ปัจจุบันโครงการ “คนไทยไร้ E-Waste” สามารถรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้จำนวนกว่า 6.3 ตัน โดยทางเอไอเอส ได้นำขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) ที่เก็บรวบรวมได้จากจุดรับทิ้ง นำส่งให้กับ บริษัท เทส จำกัด ผู้เชี่ยวชาญในการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้มาตรฐานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อกำจัดอย่างถูกวิธีด้วยกระบวนการ Zero Landfill (การจัดการขยะทำให้นำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ให้เกิดมูลค่าได้อีกครั้ง) ต่อไป

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.ewastethailand.com