กลุ่มนักวิจัยในประเทศมาเลเซีย ได้คิดค้นและพัฒนาการนำวัสดุเหลือใช้จากการทำไร่สัปปะรด มาแปรรูปเป็นชิ้นส่วนเฟรมของโดรน
มันเป็นการใช้เส้นใยที่พบในใบสัปปะรดที่มักจะถูกทิ้ง ซึ่งสามารถนำมาใช้สร้างวัสดุที่แข็งแรงเพื่อสร้างเฟรมสำหรับโดรนได้ โดยมีเป้าหมายของโครงการในครั้งนี้คือ การค้นหาประโยชน์อย่างยั่งยืนสำหรับขยะจากสัปปะรดที่เกษตรกรสร้างขึ้นในพื้นที่ Hulu Langat ของมาเลเซีย
ที่สำคัญ วัสดุที่ทีมวิจัยพัฒนาขึ้นสามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ พวกเขากล่าวว่า หากโดรนได้รับความเสียหาย สามารถนำเฟรมของโดรนที่ทำจากใบสัปปะรดฝังลงในดินได้ ซึ่งมันจะย่อยสลายในเวลา 2 สัปดาห์
โดรนต้นแบบที่พัฒนาโดยทีมงานสามารถบินได้สูงถึง 3,280 ฟุตหรือประมาณ 999.74 เมตร และบินอยู่ในอากาศได้นาน 20 นาที
ทั้งนี้ ทีมวิจัยตั้งเป้าจะสร้างโดรนที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับน้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้นรวมถึงเซ็นเซอร์ภาพ เพื่อใช้ในการเกษตรและการตรวจสอบทางอากาศ
โดยปกติ ลำต้นของสัปปะรดจะถูกทิ้งหลังจากการเก็บเกี่ยวสัปปะรดเป็นประจำทุกปี เกษตรกรหวังว่าโดรนจะกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมเพื่อค้นหาวัสดุเหลือใช้นำกลับมาแปรรูปให้เกิดประโยชน์และเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร
ทีมงานยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า โดรนที่ทำจากวัสดุผสมชีวภาพนั้น มีความแข็งแรงต่อน้ำหนักสูงกว่าที่ทำจากเส้นใยสังเคราะห์ ที่สำคัญคือราคาถูก น้ำหนักเบา และง่ายต่อการกำจัด/ย่อยสลาย
ในเบื้องต้น ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าทีมวิจัยจะนำวัสดุเหลือใช้จากสัปปะรดมาผลิตเป็นส่วนประกอบของโดรนและออกขายในเชิงพาณิชย์เมื่อใด
ที่มา : SLASHGEAR