รีวิว Amazfit GTR 2 และ GTS 2 ราคา

รีวิว Amazfit GTR 2 และ GTS 2 สมาร์ทวอทช์ ดีไซน์สวย ฟีเจอร์ครบครัน

รีวิว Amazfit GTR 2 และ GTS 2 ถือว่าเป็นสมาร์ทวอทช์รุ่นระดับพรีเมี่ยมของทาง Amazfit ที่เน้นในเรื่องของดีไซน์ ให้มีความเป็นไลฟ์สไตล์มากกว่าเป็นนาฬิกาสปอร์ต แต่ก็ใส่ฟีเจอร์มาให้ครบสำหรับการออกกำลังกายและเล่นกีฬาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ส่วนเรื่องของราคาก็ยังอยู่ในระดับเป็นเจ้าของได้ไม่ยาก

หลังจากที่ออกรุ่นแรกมา กระแสถือว่าตอบรับค่อนข้างดี ที่ทางอเมซฟิต ทำนาฬิกาสมาร์ทวอทช์รุ่นเน้นความเป็นแฟชั่นไลฟ์สไตล์ ที่แยกออกมาเป็น 2 ซีรีย์ตามรูปทรงของตัวหน้าปัด ก็คือซีรี่ย์ GTR ที่จะเป็นทรงหน้าปัดวงกลม ขนาดใหญ่เหมาะสำหรับข้อมือผู้ชาย และซีรี่ย์ GTS เป็นหน้าปัดทรงสี่เหลี่ยมที่มีขนาดเล็กลงมา เหมาะกำลังดีกับข้อมือของผู้หญิง ซึ่งนอกจากดีไซน์แล้ว ประสิทธิภาพและฟีเจอร์การใช้งานต่างๆ ถือว่าใกล้เคียงกันมาก

ดังนั้น เราจะมาไล่เรียง แกะกล่องดูทั้งรุ่น GTR 2 และ GTS 2 กันก่อนเลยว่าหน้าตารูปทรงต่างๆ มีรายละเอียดเป็นอย่างไร

Amazfit GTR 2

รีวิว Amazfit GTR 2

ดีไซน์ของซีรี่ย์นี้ ตัวหน้าปัดจะเป็นวงกลม หน้าจอเป็นแบบ AMOLED ขนาด 1.39 นิ้ว (326ppi) ค่าความสว่างอยู่ที่ 450 nit ถือว่าอยู่ในระดับที่พอจะสู้แสงสว่างกลางแดด ใช้งานระหว่างออกกำลังกายกลางแจ้งได้ค่อนข้างดี

รีวิว Amazfit GTR 2

ตัวกระจกหน้าดีไซน์เป็น Corning Gorilla Glass แบบ 3D Curve ที่ขอบด้านข้างมีความโค้งเล็กน้อย และยังมีการเคลือบสารลดการเกิดรอยนิ้วมือ และ oDLC (optical Diamond-like Carbon) ช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับผิวกระจก และเป็นรอยขีดข่วนได้ยาก และการสั่งงานรองรับการสัมผัสจากหน้าจอ

สำหรับ Amazfit GTR 2 ตัวที่ทางทีมงานได้มา รีวิว จะเป็นรุ่น Classic Edition ที่ตัวเรือนจะเป็นสแตนเลสสตรีลสีเงินเงา (รุ่น Sport จะเป็นอลูมิเนียม) ที่ด้านข้างทางขวาจะมี 2 ปุ่มควบคุม ปุ่มบนจะมีขอบแดงอยู่ เป็นปุ่มเรียกเมนูการใช้งาน และถ้ากดค้างไว้ประมาณ 8-10 วินาที จะเป็นการเรียกคำสั่งเปิดปิด และรีสตาร์ทเครื่อง

ส่วนปุ่มล่างจะเป็นปุ่ม Shortcut สำหรับเรียกเมนูด่วนที่เราตั้งเอาไว้ อาทิ การออกกำลังกายที่เราใช้อยู่บ่อย ทำให้สะดวกในการเริ่มบันทึกกิจกรรม ไม่ต้องต้องกดเข้าไปเลือกด้านใน

รีวิว Amazfit GTR 2

ตัวสายนาฬิกาในรุ่น Classic Edition สายนาฬิกาจะเป็นหนังสีดำ ที่ถอดเปลี่ยนได้ง่าย และเลือกใช้สายนาฬิกาทั่วไปที่มีขนาด 22 มิลลิเมตรเท่ากัน มาเปลี่ยนได้ตามต้องการ ถ้าใครชอบออกกำลังกายก็สามารถหาสายแบบซิลิโคนที่มีช่องระบายอากาศได้มากกว่า รวมถึงเลือกเปลี่ยนสี ลาย วัสดุ ให้เข้ากับแฟชั่นและการแต่งกายได้อย่างที่ต้องการ

พลิกดูด้านหลัง สังเกตดีๆ ที่ด้านข้างซ้ายและขวา จะมีช่องของลำโพงสนทนา และไมโครโฟนอยู่ ช่วยให้เราสามารถใช้งานรับสายที่โทรเข้าและพูดคุยจากตัวนาฬิกาได้เลย

ส่วนด้านหลังของนาฬิกา วัสดุจะเป็นพลาสติกช่วยให้คนที่แพ้โลหะสามารถสวมใส่ได้อย่างไม่มีปัญหา ตรงกลางมี BioTracker 2 PPG ที่เป็นเซ็นเซอร์แบบแสง สำหรับวัดค่าต่างๆ อย่าง อัตราการเต้นของหัวใจ ที่สามารถตรวจวัดต่อเนื่องได้ตลอด 24 ชั่วโมง และยังมี OxygenBeats ที่ช่วยวัดความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดได้ด้วย

รีวิว Amazfit GTR 2

และยังมีจุดโลหะสัมผัส 2 จุด ที่เอาไว้สำหรับประกบติดกับสายชาร์จที่แถมมาให้ในกล่อง ตัวหัวชาร์จมีใส่เป็นแม่เหล็กมา ช่วยให้แปะติดกับตัวนาฬิกาเวลาชาร์จได้ง่าย ไม่ต้องกดล็อคให้วุ่นวาย

Amazfit GTS 2

ดีไซน์ของ GTS 2 อย่างที่บอกไปตั้งแต่ตอนต้น คือ ตัวเรือนหน้าปัด จะเป็นรูปทรงแบบสี่เหลี่ยม ขนาด 42.8 x 35.6 x 9.7 มม. ที่มีขอบโค้งมน ตัวเรือนที่เราได้มารีวิว จะเป็นสีทองแบบโรสโกลด์ ให้ความรู้สึกหรูหราและสวยงาม เข้ากับสายซิลิโคนที่เป็นสีเบจ ดูแล้วเข้ากับแฟชั่นของสาวๆ ได้เป็นอย่างดี โดยตัวสายจะเป็นขนาด 20 มิลลิเมตร

ขนาดหน้าปัดของ GTS 2 จะอยู่ที่ 1.65 นิ้ว กระจกด้านหน้าเป็น 3D Corning Gorilla Glass แบบขอบข้าง Curve โค้งมนรับกับเฟรมที่เป็นวัสดุอลูมิเนียมอัลลอย ที่ผิวของกระจกมีเคลือบสารลดการเกิดรอยนิ้วมือและ oDLC เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งเหมือนกับรุ่น GTR 2 ทุกประการ

รีวิว Amazfit GTSS 2

ความต่างของ GTS 2 อีกอย่างก็คือนอกจากดีไซน์ที่ไม่เหมือนกัน ตัวปุ่มกดด้านข้างจะมีแค่ปุ่มเดียว วางอยู่ตแหน่งด้านข้างตรงกลาง เป็นปุ่มสำหรับเรียกเมนูการใช้งาน และกดค้างเพื่อเปิดปิดหรือรีสตาร์ทเครื่อง ส่วนด้านหลังก็มีเซ็นเซอร์ต่างๆ รวมถึงตำแหน่งของจุดชาร์จแบตเตอรี่เหมือนกันกับรุ่น GTR 2 ทุกอย่าง

รีวิว Amazfit GTSS 2

ก่อนจะเริ่มไปถึงเรื่องฟีเจอร์และประสิทธิภาพการใช้งาน ที่ 2 รุ่นนี้ทำได้เหมือนกันทุกอย่าง ดังนั้นจุดที่ให้ตัดสินใจเลือกระหว่าง 2 รุ่นนี้คือเรื่องของดีไซน์เป็นหลัก ซึ่งส่วนตัวผมแล้ว GTR 2 นั้น ดีไซน์และขนาดหน้าปัดเหมาะสำหรับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง คือใหญ่ชัดเจนดีแต่ถ้าผู้หญิงตัวเล็กๆ ใสอาจจะรู้สึกใหญ่เกินไป แล้วมันก็มีดีไซน์ที่ดูไปทางแมนๆ มากกว่า

รีวิว Amazfit GTSS 2

ส่วนตัว GTS 2 นั้น เป็นหน้าปัดสี่เหลี่ยม ที่จริงก็เข้ากับทั้งผู้หญิงและผู้ชายนะ แต่ตัวเลือกสีของฝั่งนี้มีสีหวานๆ อย่างโรสโกลด์ให้เลือกด้วย ก็ถือว่ามีความเป็นแฟชั่นมากกว่า ดูเรียบและเข้ากับการแต่งกายของสาวๆ ได้เป็นอย่างดี

การใช้งานร่วมกับสมาร์ทโฟน ผ่านแอปพลิเคชั่น ZEPP

ในการจะเริ่มใช้งานตัวนาฬิการ่วมกับสมาร์ทโฟนของเรา จะต้องทำการดาวน์โหลดติดตั้งแอปพลิเคชั่น ZEPP ให้เรียบร้อย โดยมีรองรับให้ใช้งานได้ทั้งใน iOS และ Android เมื่อทำการติดตั้งแล้ว ลงทะเบียนผู้ใช้ให้เรียบร้อย เพื่อเตรียมพร้อมเชื่อมต่อและบันทึกข้อมูลต่างๆ เอาไว้กับบัญชีผู้ใช้ของเรา

รีวิว Amazfit GTSS 2

เมื่อเปิดเครื่องตัว GTR 2 และ GTS 2 เราจะเลือกการเชื่อมต่อได้ทั้งแบบสั่งค้นหาผ่าน Bluetooth หรือสั่งสแกน QR Code เอาก็ได้ (ผมเลือกสแกนคิวอาร์เอาเพราะว่าสะดวกดี) เมื่อเชื่อมต่อกันครั้งแรกจะใช้เวลานานพอสมควร แนะนำให้เสียบสาย USB เพื่อชาร์จตัวนาฬิกาเอาไว้ได้วย เพราะหลังจากที่เชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนเสร็จแล้ว จะมีการเช็คเพื่ออัปเดตเฟิร์มแวร์ของตัวนาฬิกให้เป็นเวอร์ชั่นล่าสุดอีกด้วย

รีวิว Amazfit GTSS 2

ในแอป ZEPP จะแบ่งเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ ตัวหน้าหลักเป็นหน้ารวมสถิติของกิจกรรมและการออกกำลังกายของเราในแต่ละวัน ที่เลือกดูย้อนหลังได้ทั้งแบบวัน, สัปดาห์, เดือน เพื่อเช็คและสรุปว่าเราออกกำลังกายมากน้อยหรือพักผ่อนเพียงพอหรือไม่

เมนูที่ 2 จะเป็นรวมฟีเจอร์การใช้งานร่วมต่างๆ อาทิ นาฬิกาปลุก, ตารางนัดหมาย, การกดค้นหาอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อ, เปลี่ยนและติดตั้งหน้าปัดนาฬิกา, เชื่อมต่อข้อมูลกับผู้ใช้อื่น, การตั้งเป้าหมายการออกกำลังกาย และการจัดการเรื่องการแจ้งเตือนต่างๆ

สุดท้ายเป็นส่วนของ Profile สำหรับตั้งค่าส่วนตัวเพื่อการใช้งาน และการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่างๆ ของ Amazfit

สำหรับการใช้งานครั้งแรก แนะนำให้จัดการตั้งค่าในส่วนของเป้าหมายในการเดิน, ออกกำลังกาย และในส่วนของการแจ้งเตือนแอปพลิเคชั่นต่างๆ ให้เรียบร้อย การแจ้งเตือนนั้น เลือกได้ว่าจะรับจากแอปใดบ้าง แนะนำเลือกเฉพาะแอปที่จำเป็น เพราะยิ่งมีการแจ้งเตือนเยอะก็จะทำให้แบตเตอรี่การใช้งานของนาฬิกาน้อยลง

ฟีเจอร์ที่น่าสนใจในตัวสมาร์ทวอทช์

ในการใช้งานผ่านตัวนาฬิกาโดยตรง ถือว่ามีฟีเจอร์ที่น่าสนใจหลายอย่างด้วยกัน ตั้งแต่ตัวหน้าปัดการแสดงผลมีให้เลือกเป็นแบบ Alway-on Display ที่จะแสดงผลหน้าจอตอนที่ล็อคหน้าจอ เพื่อให้สะดวกสำหรับคนที่อยากเอาไว้ใช้ดูข้อมูลทั่วไป เพราะเลือกตัว AOD ได้ให้แสดงเฉพาะเวลา, วันที่, การนับก้าว ฯลฯ โดยที่จะเป็นการแสดงผลแบบประหยัดพลังงาน

หน้าปัดนาฬิกาของ GTR 2 และ GTS 2 ต้องบอกว่ามีให้เลือกติดตั้งได้เยอะเลย นอกจากที่มีติดตั้งในเครื่องมาอยู่แล้ว เราสามารถเข้าในแอป ZEPP เพื่อดาวน์โหลดและติดตั้งเพิ่มได้ สำหรับการเปลี่ยนหน้า Watchface ทำได้จากตัวนาฬิกาด้วยการแตะค้างที่หน้าแรกประมาณ 2-3 วินาที ก็จะเลื่อนเพื่อเปลี่ยนหน้าปัดที่ติดตั้งไว้ในนาฬิกาได้เลย และสำหรับบาง Watchface ที่มีการแสดงผลข้อมูลหลายอย่าง ยังเลือกเปลี่ยนตัว Widget ข้อมูลที่เราต้องการได้อีกด้วย

การใช้งานดูข้อมูลควบคุมโดยการสัมผัสหน้าจอ ถ้าปัดในแนวนอนไปทางซ้ายขวา จะเป็นการเลื่อนดูข้อมูลใน Widget อื่นๆ ได้แก่

  • PAI ที่เป็นค่าสรุปการออกกำลังกาย ที่จะให้เราทำตามเป้าหมายของระบบ แล้วจะเอามาสรุปเป็นคะแนนให้ ซึ่งถ้าเราขยันและตั้งใจทำตามคอร์ส จะมีผลต่อความฟิตของร่างกายและความแข็งแรงที่ดีขึ้น
  • สรุปกิจกรรมในแต่ละวันในรูปแบบแถบวงกลม ที่จะบอกว่าในแต่ละวันเราเดิน, ยืน และออกกำลังกายตามเป้าหมายได้ครบหรือยัง
  • วัด Heartrate อัตราการเต้นของหัวใจ
  • ข้อมูลอุณหภูมิและพยากรณ์อากาศ
  • ควบคุมในส่วนการเล่นเพลง ที่เลือกได้ทั้งควบคุมเพลงที่เปิดอยู่ในสมาร์ทโฟน หรือเล่นเพลงที่บันทึกไว้ในหน่วยความจำของนาฬิกา ที่เก็บได้มากกว่า 600 เพลง ใช้ฟังผ่านลำโพงของนาฬิกา หรือเชื่อมต่อหูฟังบลูทูธก็ได้
  • Command Center สรุปข้อมูลในทุก Widget เอาไว้ในหน้าเดียว

และที่หน้าโฮมเวลาปัดขึ้น จะเป็นการเรียกหน้า Notification ที่มีการแจ้งเตือนจากสมาร์ทโฟนมาที่นาฬิกา

การแจ้งเตือน แสดงผลเป็นภภาษาไทย

ในหน้าโฮมปัดจากด้านบนลงมา จะเป็นการปรับค่า Setting ของตัวนาฬิกา ตั้งแต่เปิดสว่างเป็นไฟฉาย, ปรับค่าความสว่าง, ปิดไม่ให้รบกวน (Do not Disturb), โหมดประหยัดพลังงาน, ล็อคนาฬิกา, ค้นหาสมาร์ทโฟน, ปรับระดับเสียง, โหมดใช้งานในโรงภาพยนตร์ และสั่งเปิดหน้าจอค้างไว้

ในหน้า Quick Access App เข้าด้วยการกดปุ่มด้านข้างปุ่มบน (ในรุ่น GTR 2) และปุ่มด้านข้าง (GTS 2) จะมีเมนูการใช้งานแอปของนาฬิกาให้เลือก ซึ่งเราไปปรับใน Preference ของนาฬิกาได้ โดยพื้นฐานติดตั้งมาจะมีดังนี้

  • PAI ดูข้อมูลสรุปการออกกำลังกายโดยรวม สรุปออกมาเป็นคะแนน
  • Heart Rate สั่งวัดอัตราการเต้นของหัวใจ
  • SpO2 วัดค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด เวลาที่วัดจะต้องนั่งอยู่นิ่งๆ วางข้อมือไว้บนโต๊ะ แล้วกดวัดค่า
  • Workout เลือกประเภทกีฬาเพื่อทำการบันทึกกิจกรรม
  • Activities ดูข้อมูลการออกกำลังกายย้อนหลัง
  • Stress ดูข้อมูลประเมินความเครียด
  • Activity Goal ดูข้อมูลว่าการออกกำลังกายในแต่ละวันสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือยัง
  • Music ควบคุมการเล่นเพลง
  • Weather เช็คข้อมูลและพยากรณ์อากาศ
  • Alarm จัดการเรื่องการตั้งปลุก
  • Events เช็คข้อมูลตารางนัดหมาย โดยซิงค์มาจาก Calendar
  • Widget แอปเสริมอื่นๆ อาทิ เข็มทิศ, เครื่องวัดความกดอากาศ, จับเวลา, นับถอยหลัง, สั่งค้นหาสมาร์ทโฟน

จะเห็นว่าหลายๆ เมนูนั้น จะเหมือนกับใน Widget ที่ปัดดูด้านข้างของหน้าโฮม ซึ่งตรงนี้ เราเข้าไปในส่วน Setting/User preferences เพื่อเปลี่ยนสลับเมนูให้เรียกใช้งานในแอปที่เราต้องการเองได้อีกด้วย

สำหรับใน Amazfit GTR 2 จะมีปุ่มด้านข้างอีกปุ่ม เป็นปุ่ม Lower Button ที่พื้นฐานตั้งค่ามาให้เรียกใช้งานแอป Workout ซึ่งเข้าไปเปลี่ยนใน Setting ให้เป็นแอปอื่นได้ด้วยเช่นกัน

พิเศษอีกอย่างสำหรับสมาร์ทโฟน 2 รุ่นนี้คือ รองรับการสั่งงานด้วยเสียงผ่าน Amazon Alexa เพื่อสอบถาม หาข้อมูลออนไลน์ รวมถึงควบคุมอุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ และยังทำงานแบบออฟไลน์ เพื่อสั่งงานนาฬิกาให้ทำงานอย่าง สั่งบันทึกกิจกรรม, วัดอัตราการเต้นของหัวใจ หรือเปิดโหมดใช้งานต่างๆ

ความสามารถด้านสุขภาพ

มาดูกันต่อที่เรื่องของสุขภาพกันบ้าง การทำงานของ Amazfit GTR 2 และ GTS 2 นั้น มีเซ็นเซอร์หลายตัวที่ใช้เก็บข้อมูลกิจกรรมต่างๆ ตลอดทั้งวัน เพื่อนำไปบันทึกและประเมินค่า เพื่อให้ผู้ใช้รู้สถานะด้านสุขภาพของตัวเองได้ โดยหลักๆ มีส่วนที่น่าสนใจคือ

  • ก้าวเดิน จะนับจากการเดินและการเคลื่อนไหวของเราในแต่ละวัน สามารถตั้งเป้าหมายได้ แนะนำว่าเพื่อสุขภาพที่ดี เราควรเดินอย่างน้อยวันละ 10,000 ก้าว
  • แคลลอรี่ ประเมินการเผาผลาญพลังงานจากกิจกรรม ให้เราประเมินได้ว่าออกกำลังกายมากน้อยแค่ไหน เพื่อให้ช่วยเอาไปคำนวนต่อสำหรับคนที่ควบคุมอาหารได้
  • อัตราการเต้นของหัวใจ ระบบของนาฬิกาสามารถเก็บค่า Heart Rate ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง แค่เราสวมนาฬิกาไว้ตลอด ข้อมูลจะถูกบันทึกและทำเป็นกราฟสถิติให้เราเห็นและประเมินได้ว่า การเต้นของหัวใจเราปกติและเหมาะสมหรือไม่ โดยนอกจากอัตราการเต้นของหัวใจแล้ว ยังวัด Rest Heartrate ได้ด้วย
  • การนอน ฟังค์ชั่นนี้ Amazfit ทำได้ค่อนข้างดี เพราะสามารถตรวจจับและบันทึกช่วงเวลาการนอนของเราได้อัตโนมัติ ไม่ต้องกดหรือกำหนดช่วงเวลา และยังวัดระดับค่าได้ละเอียด ที่ดูได้ว่ามีช่วงไหนที่หลับลึก หลับตื้น หรือตื่นระหว่างนอน และยังนำเอาผลทั้งหมดมาประเมินเป็นคะแนนการนอน เพื่อให้เรารู้ตัวเองว่าการนอนของเรานั้น ช่วยให้พักผ่อนได้เพียงพอหรือเปล่า หรือถ้ามีงีบหลับตอนกลางวันก็สามารถบันทึกได้ด้วย
  • ถ้าคุณมีอุปกรณ์อื่นๆ ของ Amazfit อย่างตัว Smart Scale ตาชั่งอัจฉริยะ ก็ยังสามารถเอาข้อมูลน้ำหนักมาประเมินควบคู่กับที่ได้จากนาฬิกา ทำให้การวิเคราะห์ด้านต่างๆ มีรายละเอียดมากยิ่งขึ้น

การออกกำลังกาย Workout

ที่นี้มาด้านสายกีฬากันบ้าง ถึงแม้ว่า Amazfit GTR 2 และ GTS 2 จะเป็นดีไซน์สายแฟชั่นพรีเมี่ยม แต่เรื่องการออกกำลังกายฟีเจอร์ต่างๆ ก็จัดเต็ม เพราะใส่เซ็นเซอร์ต่างๆ มาให้ครบ ทั้ง GPS สำหรับวัดพิกัดดาวเทียมเพื่อเก็บเส้นทาง, ระยะทาง, ความเร็ว สำหรับกีฬากลางแจ้ง , มีเข็มทิศ, เซ็นเซอร์วัดความเร่ง และเซ็นเซอร์วัดความดัน ทำให้เก็บข้อมูลกิจกรรมกีฬาได้หลากหลายมากขึ้น โดยจะแบ่งเป็น 12 โหมดกีฬา แต่นับแยกย่อยแล้วมีมากกว่า 90 ประเภท

คือมีครบทุกกิจกรรมหลักที่นิยมกัน ไม่ว่าจะเป็น เดิน, วิ่งเทรดมิลในร่ม, วิ่งกลางแจ้ง ที่รองรับได้ถึงระดับการวิ่งเทรลที่มีการขึ้นเขาและเส้นทางวิบาก

สายปั่นจักรยาน ก็รองรับทั้งปั่นกลางแจ้ง, ปั่นในร่ม, ปั่นจักรยานเสือภูเขาเส้นทางวิบาก และปั่นจักรยาน BMX

การว่ายน้ำก็รองรับ เรพาะตัวนาฬิกาสามารถกันน้ำ 5ATM และใส่เล่นกีฬาในน้ำได้ รองรับการว่ายในสระ และการว่ายในพื้นที่เปิดแบบ Open Water

สำหรับกีฬากลางแจ้ง รองรับได้มากมาย ทั้งปีนเขา, ไต่เขา, ตกปลา, สเก็ตบอร์ด, โรลเลอร์สเก็ต ส่วนกีฬาในร่ม และฟิตเนส ก็รองรับการเล่นเครื่องเล่นรูปแบบต่างๆ และคอร์สท่าออกกำลังกายให้ใช้บันทึกเป็นข้อมูลการเล่นได้อย่างหลากหลาย

นอกจากนั้นยังมีทั้งกีฬากลางแจ้ง, ต่อสู้, กีฬาทางน้ำ, เต้น, กีฬาฤดูหนาว ฯลฯ เรียกว่ามีเยอะมากๆ แต่สังเกตแล้ว ตัวนี้จะไม่รองรับขั้นสูงอย่าง ไตรกีฬา

สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ทำให้นาฬิกา 2 รุ่นนี้ น่าสนใจสำหรับการใช้ออกกำลังกาย คือการเชื่อมต่อข้อมูลกับแพลตฟอร์มอื่น ที่สามารถส่งข้อมูลไปยัง Apple Health, Google Fit รวมไปถึง Strava และ Relive ที่เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการเล่นกีฬา ที่สามารถใช้งานกับผู้เล่นที่ใช้อุปกรณ์อื่นๆ ได้

ความรู้สึกหลัง รีวิว ทดสอบลองใช้ Amazfit GTR 2 และ GTS 2 ดีหรือไม่ น่าใช้หรือเปล่า?

รีวิว Amazfit GTR 2 GTS 2

ถือว่าการพัฒนาของทั้ง 2 รุ่นนี้ เรื่องของดีไซน์นั้นถือว่าลงตัว คือเรียบง่ายแต่ว่าดูดี เลือกได้ทั้งแบบจอกลม หรือจอเหลี่ยม ชอบแบบไหนเลือกแบบนั้นได้เลย ส่วนฟีเจอร์ภภายในอย่างที่บอกเหมือนกันหมด

ฟีเจอร์ทุกอย่างจัดมาครบหมดแบบไม่มีกั๊ก ทั้งด้านการเป็นสมาร์ทวอทช์ที่ใช้งานได้ทั้งกับ iPhone และ Android แบบไม่เลือกค่าย เปลี่ยนหน้าตา Watchface ได้หลากหลายและยืดหยุ่น และที่สำคัญการแสดงผลการแจ้งเตือนและเมนูมีเป็นภาษาไทย ใช้งานง่าย

การออกแบบนาฬิกามา สามารถสวมได้ทั้งแขนซ้ายและขวาได้ถนัด คือตัวหน้าปัดสามารถแสดงผลสลับได้เมื่อใส่คนละข้าง เพื่อให้ปุ่มกดด้านข้างอยู่ด้านนอก ทำให้กดปุ่มได้ถนัดกว่าเดิม อันนี้ใส่ใจเรื่องการออกแบบได้ดีจริงๆ

ด้านสุขภาพถือว่าวัดและเก็บข้อมูลได้แม่นยำ และครอบคลุมสิ่งที่เราควรรู้ได้ ทั้งการเต้นของหัวใจ, ความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด, ข้อมูลการนอน และกิจกรรมในแต่ละวัน ส่วนการเล่นกีฬาและออกกำลังกาย ก็มีให้เลือกได้ครบถ้วน การมี GPS มาให้ในตัวทำให้การเล่นกีฬากลางแจ้ง อย่างวิ่ง ปั่นจักรยาน เดิน ว่ายน้ำ ไม่ต้องพกสมาร์ทโฟนติดตัว ก็สามารถบันทึกเส้นทางและระยะทางได้ ไปวิ่งเสร็จกลับมาเอานาฬิกาซิงค์ข้อมูลกับสมาร์ทโฟนเราได้เลย

ประสิทธิภาพของ GPS รุ่นนี้ จากที่เราได้ทดสอบ ทำงานได้ค่อนข้างดีในพื้นที่ๆ เป็นที่โล่ง อย่างในสวนสาธารณะ จะมีปัญหาระบุตำแหน่งคลาดเคลื่อนบางกรณีที่ใช้ในเส้นทางถนน ในเมือง ที่มีเงาของตึกสูงมารบกวนเรื่องสัญญาณของดาวเทียม

มาเรื่องของแบตเตอรี่กันบ้าง เราได้ทดสอบ รีวิว ใช้งานกับรุ่น GTS 2 เป็นหลัก ที่ตัวเรือนมีสเปคอยู่ที่ 471mAh รองรับการใช้งานทั่วไปได้นานถึง 14 วัน ถ้าไม่ใช้การแจ้งเตือนและเป็นโหมดประหยัดพลังงานจะได้มากถึง 38 วัน แต่ถ้าใช้งานแบบหนัก จะได้ 6.5 วัน และถ้าใช้งานเชื่อมต่อบลูทูธเพื่อสนทนา จะได้นาน 10 ชั่วโมง

การใช้งานผมลองแบบหนักหน่วงไปเลย คือเปิดใช้งานทุกฟังค์ชั่น มี Alway-on Display เปิดแจ้งเตือนแอปที่เด้งบ่อยๆ ทั้ง Facebook, LINE, Email, SMS สายโทรเข้า และมีใช้ออกกำลังกายที่ต้องเปิด GPS ด้วย ก็จะอยู่ได้ประมาณ 5 วัน ถือว่าทำได้ค่อนข้างดีเลยทีเดียว และการชาร์จแบตเตอรี่นั้น ก็ใช้เวลาที่ไม่นาน สามารถชาร์จแบบจากหมดจนเต็มได้ในเวลา 2 ชั่วโมงนิดๆ แต่ตามสูตรแล้วผมจะชาร์จทุกวันเวลาที่กลับมาบ้านแล้วถอดชาร์จระหว่างอาบน้ำ ก็มีแบตเต็มอยู่แทบจะตลอดเวลา

ส่วนตัว GTS 2 นั้น แบตเตอรี่จะเล็กกว่า GTR 2 คืออยู่ที่ 246 mAh ใช้เวลาชาร์จเต็มไม่ถึง 2 ชั่วโมง และใช้งานทั่วไปได้นานถึง 7 วัน

Amazfit GTR 2 และ GTS 2 ถือว่าเป็นสมาร์ทวอทช์ในช่วงระดับราคาที่ไม่สูงมาก โดยตัว GTR 2 จะมี 2 รุ่นด้วยกันคือ Sport Edition ราคา อยู่ที่ 5,599 บาท และ Classic Edition ราคา 5,799 บาท ส่วน GTS 2 จะมีให้เลือก 3 สี Midnight Black, Desert Gold และ Urban Grey ราคา 5,999 บาท

ทั้ง 2 รุ่นนี้สามารถหาซื้อได้แล้วผ่านช่องทางออนไลน์

Amazfit Official Store : 
Amazfit GTS 2 : https://bit.ly/3kLE4WS
Amazfit GTR 2 : https://bit.ly/3pSxRfA

ร้านตัวแทนจำหน่าย ThaiMall :
Amazfit GTS 2 : https://bit.ly/3kJLr0Q
Amazfit GTR 2 :  https://bit.ly/35HShQ8

Blogger สาย Multi Function ตามติดเทคโนโลยีมือถือ, แท็บเล็ต, แอพ, เกมคอนโซล, โลกโซเชียล และจักรยาน