IKEA เป็นบริษัทที่ให้ความสนใจและมีความต้องการผสมผสานวัฒนธรรมดิจิตอลกับการผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์แบบดั้งเดิมเข้าด้วยกัน และ แคตตาล็อก IKEA ก็ถือเป็นสิ่งที่เอกลักษณ์ของศูนย์รวมเฟอร์นิเจอร์ระดับโลกรายนี้
ย้อนกลับไปเมื่อฤดูร้อนปี 2004 IKEA ตัดสินใจพัฒนาและเปลี่ยนผ่านจากการถ่ายภาพแบบดั้งเดิมเพื่อทำแคตตาล็อกแนะนำสินค้า มาสู่การใช้งานระบบคอมพิวเตอร์ ที่จะเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกและสามารถทำรูปจำนวนมากๆ ได้
Martin Enthed ผู้จัดการฝ่าย IT ของหน่วยงานสื่อสารภายในองค์กรของ IKEA กล่าวว่า หน้าที่ของเขาคือการทำรูปภาพสินค้า ทำ label ทำ แคตตาล็อก และทำรูปภาพต่างๆ บนเว็บไซต์ IKEA.com ในความคิดของเขานั้น การนำเสนอสินค้าแบบดั้งเดิมด้วยการถ่ายภาพนั้นเป็นเรื่องปกติที่ยอมรับได้ แต่ปัญหาอยู่ที่บริษัทต้องใช้ความพยายามมากในเรื่องของการขนส่งสินค้าที่เป็นเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่จำนวนมากเพื่อใช้ถ่ายภาพในแต่ละครั้ง ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนในการทำรูปภาพ ทำแคตตาล็อกนั้นสูงและบานปลาย
เพื่อให้การทำงานทุกอย่างนั้นง่าย เร็วขึ้น และมีต้นทุนที่ถูกลง การสร้างแบบจำลองสามมิติ เป็นทางออกและเป็นเครื่องมือที่เข้ามาขจัดความวุ่นวายทั้งเรื่องการผลิตและขนส่งเฟอร์นิเจอร์ต้นแบบไปตามส่วนต่างๆ ของโลกเพื่อถ่ายภาพ
Enthed กล่าวว่าห้องที่ทำแบบจำลอง 3D ยากที่สุด คือ ห้องครัว เนื่องจากครัวของแต่ละชาติ/แต่ละประเทศนั้นมีความแตกต่างกัน ครัวของอเมริกาจะต่างจากครัวญี่ปุ่น ครัวเยอรมนี เป็นต้น
Annelie Sjögren ตำแหน่งผู้จัดการ เสริมว่าในบริษัทกลุ่มที่เป็นศิลปิน 3D artist จะต้องไปเรียนรู้เกี่ยวกับการถ่ายภาพ และช่างภาพทั้งหมดจะต้องเรียนรู้การทำงานและการเป็น 3D artist ด้วย ทำให้พนักงานสามารถเรียนรู้งานและทำงานได้รอบด้าน อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับทั้งเรื่องของการทำแบบจำลองสามมิติและการถ่ายภาพ
สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับโปรแกรมทำแบบจำลองสามมิติ คือ มีโปรแกรมที่ใช้จัดแสง ช่วยให้ช่างภาพเรียนรู้เกี่ยวกับแสงเพื่อเอาไปทำงานในการทำแบบจำลองสามมิติได้ง่ายขึ้น โดยผู้ใช้งานสามารถเคลื่อนย้ายไฟไปได้ทุกที่ที่ต้องการเพื่อลองจัดแสงเหมือนการจัดแสงในสตูดิโอจริงๆ
ปัจจุบัน IKEA รูปภาพสินค้ากว่า 75% ถูกสร้างโดยระบบดิจิทัล โดยมีแบบจำนวนกว่า 25,000 แบบถูกเรนเดอร์ที่ความชัดระดับ 4K ซึ่งความละเอียดที่สูงระดับนี้ สามารถนำไปจัดพิมพ์ในแคตตาล็อกได้อย่างคมชัดจนดูแยกไม่ออกว่าเป็นภาพที่เรนเดอร์ขึ้นมา ไม่ได้ถ่ายจริง
Martin Enthed กล่าวว่า บริษัทใช้ 3D Studio Max และ V-Ray ในการผลิตภาพสินค้าจำนวนมากทุกวัน แลยยังมีใช้งานโปรแกรมที่เป็น in-house รวมถึงระบบเรนเดอร์ด้วย เพื่อให้ทั้งช่างภาพและนักออกแบบภายในสามารถทำงานสร้างแบบจำลองสามมิติได้ง่ายขึ้น
ส่วนเรื่องการทำงานนั้น Enthed กล่าวว่าเขาไม่สนใจว่าภาพแต่ละภาพจะใช้เวลาเรนเดอร์นานแค่ไหน ทุกอย่างควรถูกปรับแต่งให้จบในขั้นฟรีวิวก่อนจะดำเนินการเรนเดอร์ เมื่อเรนเดอร์จบแล้ว ตัว 3D artist ควรนำภาพไปใช้งานได้เลยและไม่ควรย้อนกลับมาเพื่อปรับแต่งอะไรใหม่ในภาพเดิมแล้ว
ที่มา : Architizer