MDES

MDES มุ่งดันไทยสู่ดิจิทัลฮับแห่งอาเซียน ร่วมมือภาคเอกชน พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในเวทีสัมมนา MWC Shanghai 2021

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เผยแม่บทแห่งชาติ มุ่งดันไทยสู่ดิจิทัลฮับแห่งอาเซียน พร้อมร่วมมือกับภาคเอกชนผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างยั่งยืน ในเวทีสัมมนาและจัดแสดงนวัตกรรมในระดับโลกที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย MWC Shanghai 2021

สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เน้นย้ำความสำคัญของการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลและการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทย ภายในงาน MWC Shanghai 2021 (Mobile World Congress Shanghai 2021) ซึ่งเป็นงานสัมมนาและจัดแสดงนวัตกรรมในระดับโลกที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียมุ่งผลักดันประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลแห่งภูมิภาคอาเซียน โดยใช้การขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐ ร่วมกับการสร้างร่วมมือกับภาคเอกชน รวมถึงพาร์ทเนอร์ในด้านต่างๆ เพื่อผลักดันโครงสร้างพื้นฐานด้าน 5G และนวัตกรรมโครงข่ายอินเทอร์เน็ต นำไปสู่แนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีแห่งอนาคตอย่างยั่งยืน  

ขณะที่โลกของเรากำลังอยู่ในภาวะฟื้นตัวหลังเผชิญวิกฤตการณ์โควิด-19 ทั้งโลกจึงเริ่มตระหนักถึงประเด็นของการเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกันทุกฝ่าย พร้อมทั้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เทคโนโลยีดิจิทัลจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญเพื่อปูทางไปสู่เป้าหมายของการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (net-zero) และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ในทุกภาคส่วน หัวเว่ยจึงเป็นเจ้าภาพจัดงานสัมมนาขึ้นในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์

ภายใต้หัวข้อ “การเชื่อมต่อเพื่อการเติบโตร่วมกัน” (Connected for Shared Prosperity) เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพัฒนาการพัฒนาที่ยั่งยืนในระหว่าง Mobile World Congress Shanghai 2021 โดยร่วมกับองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และยังได้รับการสนับสนุนจากสมาคมจีเอสเอ็ม (GSMA) , คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟู่ตัน และ The Paper

ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน MWC Shanghai 2021 และในฐานะที่ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่มีการพัฒนาด้านดิจิทัลอย่างเห็นได้ชัด คณะผู้จัดงานฯ จึงได้รับเกียรติจาก คุณวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของไทย เป็นผู้แทนของประเทศไทยขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อ

“แผนแม่บทแห่งชาติเพื่อผลักดันเทคโนโลยีดิจิทัลและการพัฒนาอย่างยั่งยืน: การสร้างศูนย์กลางด้านดิจิทัลแห่งอาเซียน (National Policy Driving Digital Technology and Sustainable Development: Building Digital Hub of ASEAN)”  ร่วมกับตัวแทนจากองค์กรภาครัฐหลากหลายประเทศ พร้อมเผยแพร่นโยบายในการวางรากฐานให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่การเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลแห่งอาเซียน ตามวิสัยทัศน์ของการเร่งเติบโตด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาคุณภาพทางสังคม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ประเทศไทยพัฒนาไปสู่การเป็นผู้นำด้านดิจิทัลเพื่ออนาคตที่ดียิ่งขึ้น

“เราได้พัฒนานโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ดังกล่าว โดยแผนระดับชาตินี้จะทำหน้าที่เป็นแม่แบบซึ่งจะปฏิรูปกระบวนการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ แนวทางปฏิบัติในภาคธุรกิจเอกชน รวมไปถึงวิถีชีวิตของคนไทย ทั้งยังครอบคลุมไปถึงการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลอย่างโครงข่ายอินเทอร์เน็ต

การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลด้วยโครงการดิจิทัลเอสเอ็มอี เกษตรกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมดิจิทัล และการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทย ที่ผ่านมาได้มีความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผลักดันนวัตกรรมด้านดิจิทัลเพื่อส่งเสริมโอกาส ทางธุรกิจใหม่ ๆ ให้แก่เอสเอ็มอี บริษัทสตาร์ทอัพ หรือสถาบันการศึกษา เพื่อปูทางประเทศไทยไปสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” และการเป็นดิจิทัลฮับแห่งอาเซียนอย่างเต็มตัว ยกตัวอย่างเช่นในปีที่ผ่านมา ก็ได้เกิดความร่วมมือกับหัวเว่ย

ในการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรม 5G EIC (Ecosystem Innovation Center) ในกรุงเทพฯ ขึ้น เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมนวัตกรรมด้านดิจิทัลสำหรับแอปพลิเคชันและบริการด้าน 5G สำหรับภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ และนวัตกรรมเหล่านี้จะเปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ได้เช่นกัน ซึ่งเป้าหมายนี้จะเป็นไปได้ จะต้องเกิดจากความร่วมมือของภาครัฐ รวมถึงภาคเอกชน ทั้งจากในประเทศและระหว่างประเทศ จึงจะสามารถก้าวข้าม ความท้าทายต่าง ๆ และใช้เทคโนโลยีสร้างอนาคตที่ดีกว่าขึ้นมาได้” นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา กล่าว

ในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน นางวรรณพรให้ข้อมูลว่าเทคโนโลยีดิจิทัลจะสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อภาคสังคม โดยเราเห็นกรณีศึกษาของผลกระทบเหล่านี้อย่างชัดเจนในช่วงเหตุการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา เนื่องจากเศรษฐกิจดิจิทัลสร้างโอกาสใหม่ให้ภาคธุรกิจเติบโตต่อไปได้ ช่วยยกระดับคุณภาพทางสังคมให้ดีขึ้น ทั้งยังสอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลไทยที่ต้องการผลักดันการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปได้

นอกจากนี้ ปัจจุบันประเทศไทยได้รับการจัดอันดับสูงสุดจาก 176 ประเทศทั่วโลกจากดัชนี สปีดเทสต์ โกลบอล อินเดกซ์ (Speedtest Global Index) ของปี 2020 ที่ผ่านมา และยังเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนที่เปิดให้บริการบนเทคโนโลยี 5G ในเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ ภาครัฐของไทยยังได้ริเริ่มโครงการที่มีส่วนผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลไปแล้วหลายโครงการ อาทิ โครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) ซึ่งช่วยปรับกระบวนการทำงานของหน่วยงานภาครัฐให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยมีต้นทุนการดำเนินงานที่ลดลง

เน็ตประชารัฐที่วางจุดให้บริการอินเทอร์เน็ตฟรีในประเทศกว่า 24,700 จุด คิดเป็นความยาวสายใยแก้วนำแสงกว่า 80,000 กิโลเมตร, และโครงการศูนย์ Digital Community Center ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์การเรียนรู้ทักษะด้านดิจิทัล ที่มีจำนวนศูนย์การเรียนรู้มากถึง 2,277 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 77 จังหวัด และมีจำนวนบุคลากรอาสามากกว่า 2,300 คน เป็นต้น พร้อมกันนี้ ภายในงานสัมมนาในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ “การเชื่อมต่อเพื่อการเติบโตร่วมกัน” (Connected for Shared Prosperity) ซึ่งจัดขึ้นโดยหัวเว่ย นี้ยังได้รับเกียรติจาก

คุณแคทเธอรีน เฉิน รองประธานอาวุโสและกรรมการบริหารฝ่ายองค์กรของหัวเว่ย เป็นผู้กล่าวสุนทรพจน์เปิดงาน รวมถึงได้รับเกียรติจากผู้แทนด้านนวัตกรรมระดับชาติจากหลายประเทศทั่วโลก เพื่อหาทางรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากภาวะโลกร้อนและยกระดับเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกันในงาน Mobile World Congress Shanghai 2021 โดยงานดังกล่าวได้มีองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เข้าร่วม และยังได้รับการสนับสนุนจากสมาคมจีเอสเอ็ม (GSMA) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟู่ตั้น และ The Paper นอกจากนี้ หัวเว่ยยังต้องการผลักดันโมเดลการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลที่เกิดขึ้นประเทศไทย สำหรับใช้เป็นต้นแบบให้แก่ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย