5G กำลังรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว หัวเว่ยเปิดเผยในงาน Mobile World Congress 2021 ระบุว่าฐานผู้ใช้ และจำนวนอุปกรณ์ ที่ใช้งานเชิงพาณิชย์พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา จวบจนกระทั่งสิ้นปี พ.ศ. 2563 มีจำนวนอุปกรณ์ 5G ที่ออกสู่ท้องตลาดเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่าจากปีก่อนหน้า แสดงให้เห็นถึงการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงระยะเวลาเพียงสองปีเท่านั้น ขณะเดียวกันฐานผู้ใช้อุปกรณ์มือถือ 5G พุ่งแตะ 220 ล้านคน และเครือข่ายการใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ตบรอดแบรนด์แตะ 1.05 ล้านครัวเรือน เพิ่มขึ้นถึง 17 เท่า และ 21 เท่า ตามลำดับเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า หัวเว่ยยังระบุว่าสถิติดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นอีก 3 เท่าตัวภายในปี พ.ศ. 2564 นี้
สิ่งสำคัญที่จะพลิกโฉมให้กับโลกเทคโนโลยีและธุรกิจในลำดับถัดไป คือการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเทคโนโลยี 5G เป็นส่วนประกอบสำคัญอันขาดไม่ได้ในการปฏิวัติกระบวนการทำงานในภาคอุตสาหกรรมให้ทรงประสิทธิภาพในระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
แล้วเทคโนโลยี 5G จะมีส่วนช่วยในอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรมอย่างไรบ้าง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การส่งผ่านข้อมูลแบบเรียลไทม์เพื่อให้เกิดการจัดการพลังงานที่ดีขึ้น การใช้เทคโนโลยีแมชชีนเลิร์นนิงเข้ามาช่วยประเมินความต้องการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การบริหารจัดการจากทางไกลผ่านหุ่นโดรนเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำงานยิ่งขึ้น การพัฒนาศักยภาพการเชื่อมต่อของกระบวนการต่าง ๆ ในภาคอุตสาหกรรม รวมไปถึงการส่งเสริมการบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ ด้วยการลดขยะจากวัตถุดิบและผลผลิตส่วนเกินจากภาคอุตสาหกรรม
หัวเว่ยยังคาดการณ์ว่าภายใน 3 ปีข้างหน้า กว่า 97% ของบริษัทขนาดใหญ่ทั้งหมดจะหันมาใช้งานเทคโนโลยี AI และ 55% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศจีนจะถูกขับเคลื่อนโดยเศรษฐกิจดิจิทัล รายได้กว่า 60% ของผู้ให้บริการระดับโลกจะมาจากลูกค้าระดับอุตสาหกรรม ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เติบโตอยู่บนรากฐานของเทคโนโลยี 5G และจะเป็นจริงได้หากทุกอุตสาหกรรมร่วมมือกันพัฒนาศักยภาพ สร้างอีโคซิสเต็มเพื่อโลกที่เชื่อมต่อถึงกันอย่างครบวงจร
ปัจจุบัน ทิศทางของการยกระดับอุตสาหกรรมสู่ระบบดิจิทัลยังครอบคลุมไปถึงการลดช่องว่างในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Inclusive) ด้วยเช่นกัน เพื่อหลีกเลี่ยงการพัฒนาอย่างไม่เท่าเทียม โดยหัวเว่ยได้ร่วมมือกับผู้ให้บริการเครือข่ายอย่างใกล้ชิดเพื่อคิดหานวัตกรรมใหม่ ๆ รวมทั้งพัฒนาธุรกิจ SME ให้ชาญฉลาดยิ่งขึ้น
ประเทศไทยเองก็มีโครงการนำร่องของเทคโนโลยี 5G มาปรับใช้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยคุณวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของไทย ได้กล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อ “แผนแม่บทแห่งชาติเพื่อผลักดันเทคโนโลยีดิจิทัลและการพัฒนาอย่างยั่งยืน: การสร้างศูนย์กลางด้านดิจิทัลแห่งอาเซียน (National Policy Driving Digital Technology and Sustainable Development: Building Digital Hub of ASEAN)” ภายในงาน MWC 2021 เพื่อชี้ให้เห็นวิสัยทัศน์ของประเทศไทยในการวางรากฐานเพื่อขึ้นสู่การเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลแห่งอาเซียน
ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา รัฐบาลประเทศไทยยังได้ร่วมมือครั้งสำคัญกับหัวเว่ยเพื่อจัดตั้งศูนย์นวัตกรรม 5G EIC (Ecosystem Innovation Center) ขึ้นในกรุงเทพฯ เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมนวัตกรรมด้านดิจิทัลสำหรับแอปพลิเคชันและบริการด้าน 5G สำหรับหลายภาคอุตสาหกรรม และเป็นพื้นที่ที่จะเปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ให้กับผู้ประกอบการในไทย ปัจจุบัน ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับสูงสุดจาก 176 ประเทศทั่วโลกจากดัชนี สปีดเทสต์ โกลบอล อินเดกซ์ (Speedtest Global Index) ของปี พ.ศ. 2563
ยังเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนที่ให้บริการเทคโนโลยี 5G เชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ ภาครัฐของไทยได้ริเริ่มโครงการที่มีส่วนผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลหลายโครงการ อาทิ โครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) โครงการเน็ตประชารัฐที่วางจุดให้บริการอินเทอร์เน็ตฟรีในประเทศกว่า 24,700 จุด และโครงการศูนย์ Digital Community Center ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์การเรียนรู้ทักษะด้านดิจิทัลจำนวน 2,277 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 77 จังหวัด เป็นต้น
นับว่าประเทศไทยได้เริ่มก้าวแรกในการเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะวิวัฒนาการสู่โลกดิจิทัล สร้างมูลค่าใหม่จำนวนมหาศาลให้กับธุรกิจและอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยี 5G รวมทั้งยกระดับตัวเองขึ้นเป็นดิจิทัลฮับแห่งอาเซียนอย่างเต็มตัว