HUAWEI ลงนามในบันทึกข้อตกลง (MoU) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เตรียมทรานสฟอร์มเป็นมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ ผ่านการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลล้ำสมัย ช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแบบบูรณาการขั้นสูง และนำเทคโนโลยี 5G พร้อมด้วยบิ๊กดาต้า และคลาวด์มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ครั้งนี้นับเป็นการลงนามในบันทึกข้อตกลงฉบับที่ 2 ระหว่างทั้งสองฝ่าย โดยก่อนหน้านี้เมื่อเดือนพฤศจิกายน หัวเว่ยและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ร่วมลงนามใน MoU เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านไอซีที ภายใต้โครงการ Huawei ICT Academy เพื่อจัดหลักสูตรแนวปฏิบัติการและการฝึกงานให้แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เตรียมความพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานในโลกยุคดิจิทัล
พิธีฯ ดังกล่าว ได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์คลินิค นพ. นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ลงนาม โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรีและนายกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้บริหารระดับสูงอีกหลายท่าน ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีฯ
ภายใต้ความร่วมมือเป็นระยะเวลา 5 ปี ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ เพื่อผลักดันแนวคิดห้องเรียนและโซลูชันอัจฉริยะเพื่อการศึกษา เร่งขับเคลื่อนการเรียนการสอนที่เปี่ยมประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากการมีส่วนร่วมในการวิจัยที่กว้างขึ้น หัวเว่ยยังจะนำเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ มาผสมผสานให้ตรงกับความต้องการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อสร้างสรรค์มหาวิทยาลัยอัจฉริยะที่แท้จริง เร่งสนับสนุนการเรียนรู้ให้ก้าวกระโดด ช่วยขับเคลื่อนการใช้งานของเทคโนโลยีใหม่ๆ อาทิ บิ๊กดาต้า และบริการต่างๆ ผ่านคลาวด์ ซึ่งล้วนช่วยสร้างเสริมประสิทธิภาพและการเชื่อมต่ออย่างสมบูรณ์ระหว่างคณะและศูนย์ต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย เช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ ศูนย์การจัดการแคมปัสอัจฉริยะ และศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ
ภายใต้เอ็มโอยูฉบับนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่พร้อมเดินหน้าเป็นมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ 5G ชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีและการพัฒนาทักษะ นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังมีเป้าหมายในการเป็นแบบอย่างให้แก่มหาวิทยาลัยอื่นๆ ในการประยุกต์ใช้ประโยชน์จากโซลูชันล้ำสมัย ที่สะดวก รวดเร็ว น่าเชื่อถือ และพร้อมรองรับอนาคต
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรีและนายกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวแสดงความยินดีแก่ความร่วมมือครั้งสำคัญ ระหว่างหัวเว่ยและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ว่า “ถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยหัวเว่ยและมหาวิทยาลัยจะร่วมกันสร้างสรรค์ระบบการศึกษาที่สามารถแบ่งปันความรู้ให้เข้าถึงคนทุกกลุ่ม ผ่านโซลูชันการเรียนรู้ทางไกลอันล้ำสมัย ผมต้องขอขอบคุณหัวเว่ย เทคโนโลยี่ ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนการใช้ดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการศึกษา ตลอดจนช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้าและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศอย่างต่อเนื่อง”
ศาสตราจารย์คลินิค นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า “การผนึกกำลังในวันนี้นับเป็นการเริ่มต้นบทใหม่ที่สำคัญ การทำงานร่วมกับหัวเว่ยอย่างต่อเนื่องจะช่วยสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้แก่วงการการศึกษาในระดับอุดมศึกษา เราพร้อมเดินหน้าบ่มเพาะนักศึกษาที่เปี่ยมด้วยทักษะความสามารถ และเติบโตไปเป็นผู้บริหารในสาขาธุรกิจต่างๆ ปัจจุบันเทคโนโลยีอันล้ำสมัยได้กลายเข้ามามีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมการศึกษา ผมขอขอบคุณหัวเว่ย ที่ได้มาร่วมทำงานกับมหาวิทยาลัย อันจะช่วยรักษามาตรฐานระดับสูงของการศึกษาและคงไว้ซึ่งชื่อเสียงอันยาวนานของเราในการบ่มเพาะนักศึกษาที่พร้อมเข้าทำงานมากที่สุดในภูมิภาค”
“ภายใต้วิสัยทัศน์แห่งการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ผมมั่นใจว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความพร้อมสำหรับการทรานสฟอร์มสู่ดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ” นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว พร้อมเสริมว่า “ผมขอขอบคุณมหาวิทยาลัยที่ให้หัวเว่ยได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งบนเส้นทางสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนการเป็นผู้นำด้านการพัฒนาการศึกษาและการพัฒนาทักษะที่ขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยี เราจะจับมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อสร้างสรรค์โมเดลให้แก่มหาวิทยาลัยแห่งอื่นๆ เพื่อสร้างโซลูชั่นที่สะดวก รวดเร็ว น่าเชื่อถือ และเพียบพร้อมด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัยให้แก่วงการการศึกษา หัวเว่ยพร้อมเดินหน้าทำงานภายใต้พันธกิจ Grow in Thailand, Contribute to Thailand ในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยี พาร์ทเนอร์ด้านไอซีทีที่ได้รับความไว้วางใจ และผู้ขับเคลื่อนการทรานสฟอร์มสู่ดิจิทัล บริษัทจะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสู่ทุกคน ทุกบ้าน และทุกองค์กร เพื่อสร้างประเทศไทยอัจฉริยะที่เชื่อมโยงถึงกันได้อย่างเต็มรูปแบบ”