Huawei เตรียมเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์จากผู้ผลิตมือถือ จากการใช้สิทธิบัตร 5G

ในปี 2019 Huawei ถูกสหรัฐอเมริกาขึ้นบัญชีดำและคว่ำบาตรทางการค้า แต่นั่นไม่ได้ส่งผลทันทีต่อการเติบโตของบริษัท เพราะปี 2020 Huawei สามารถแซงหน้า Samsung เรื่องการจัดส่งสมาร์ทโฟนทั่วโลกได้ในระยะเวลาสั้นๆ เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างเร็วของประเทศจีน หลังเศรษฐกิจหยุดชะงักจากการแพร่ระบาดของ COVID-19

อย่างไรก็ตาม Huawei ยังได้รับผลกระทบจากการถูกกีดกันทางการค้าจากทางการสหรัฐฯอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสูญเสียการเข้าถึงซัพพลายเออร์ฮาร์ดแวร์และซอร์ฟแวร์ที่สำคัญ เช่น ผู้ผลิตชิปเซ็ตอย่าง TSMC และผู้ให้บริการ Google Mobile Services อย่าง Google

รายงานจากสำนักข่าว Bloomberg ระบุว่า Huawei กำลังมองหาทางที่จะชดเชยรายได้ที่สูญเสียไป และพบว่า Huawei เป็นเจ้าของสิทธิบัตร 5G ที่ใหญ่ที่สุดในโลก (จำนวน 3,007 สิทธิบัตร) ด้วยเหตุนี้บริษัทจึงเริ่มตัดสินใจเรียกเก็บเงินจากบริษัทต่างๆ เช่น Apple , Samsung ที่นำไปใช้กับผลิคภัณฑ์มือถือของแบรนด์นั้นๆ

5G Race Leader

Jason Ding หัวหน้าแผนกสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาของ Huawei อธิบายในระหว่างการประชุมที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทที่เซินเจิ้นว่า Huawei จะเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์ที่เหมาะสมเป็นเปอร์เซ็นต์ของราคาขายของโทรศัพท์มือถือ แต่ยังจำกัดอยู่ที่ 16 หยวน หรือประมาณ 76 บาท ซึ่งยังต่ำกว่าผู้ถือสิทธิบัตรรายอื่น เช่น Qualcomm , Nokia และ Ericsson ที่เรียกเก็บต่ออุปกรณ์

Huawei ประมาณการรายได้ที่มาจากค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตสิทธิบัตรระหว่างปี 2019 ถึง 2021 จะอยู่ที่ระหว่าง 1.2 – 1.3 พันล้านดอลลาร์ ถึงแม้จะยังไม่มีการแจกแจงรายละเอียดเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ครอบคลุมโดยสิทธิบัตรเหล่านั้น สิ่งนี้จะนำไปสู่ความพยายามในการวิจัยและพัฒนาของ Huawei ที่จะมุ่งเน้นไปที่เครือข่ายมือถือรุ่นต่อไป

ในขณะเดียวกัน บริษัทจะดำเนินการตามข้อตกลงการอนุญาตข้ามสิทธิ์กับผู้ที่สนใจ แต่ Jason Ding ยังไม่ระบุรายละเอียดใดๆ แต่อธิบายว่าการคว่ำบาตรของสหรัฐฯไม่ควรขัดขวางการเจรจาเรื่องดังกล่าว ซึ่งดูแล้วสถานการณ์ของ Huawei น่าจะดีขึ้นจากการเข้ามาบริหารงานของนายโจ ไบเดน นอกจากนี้ Ding ยังเชื่อว่าการตัดสินใจเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์ที่ค่อนข้างต่ำน่าจะ win-win กับทุกฝ่าย

นอกจากเรื่องสิทธิบัตร 5G แล้ว ทาง Huawei เองไม่ได้นิ่งเฉย โดยบริษัทกำลังใช้การสนับสนุนจากรัฐบาลในการสร้างโรงงานผลิตชิปในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการการันตีความอยู่รอดในระยะยาวของบริษัท

ที่มา : TECHSPOT

นักเขียนหน้าใหม่ ผู้หลงไหลในเรื่อง แมว หมี เทคโนโลยี และ โลกของไอที :)