เราได้ยินเกี่ยวกับเทคโนโลยีโครงข่ายมือถืออย่าง 5G อยู่บ่อยครั้ง แต่ยังมีอีกหนึ่งเทคโนโลยีการเชื่อมต่อที่ใกล้ตัวกับคนทั่วไปมากที่สุดอย่างอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์และ Wi-Fi ซึ่งมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน โดยสถาบันวิจัยระดับโลกต่างคาดการณ์ว่าอินเทอร์เน็ตในครัวเรือนกำลังก้าวเข้าสู่ยุคของ “”Wi-Fi 6” อย่างเต็มตัว
ประเทศไทยนับว่าเป็นผู้นำในด้านความเร็วของอินเทอร์เน็ตบ้านระดับโลก โดย Speedtest Global Index จัดให้ไทยเป็นผู้นำอันดับ 1 ด้านความเร็วของอินเทอร์เน็ตแบบฟิกซ์บรอดแบนด์ (ผลจัดอันดับในเดือนธันวาคม 2563) โดยมีความเร็วเฉลี่ยในการดาวน์โหลดอยู่ที่ 308.35 Mbps แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีพัฒนาการทางด้านอินเทอร์เน็ตบ้านอย่างก้าวกระโดดในช่วง 2-3 ปีนี้ ในขณะเดียวกันเมื่อโลกต้องเผชิญหน้ากับภาวะโรคระบาดในปี พ.ศ. 2563 ระบบโครงข่ายภายในบ้านจึงจำเป็นต้องรองรับความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลในระยะเวลาอันสั้น ไม่ว่าจะเป็นจากการ Work from Home การเรียนออนไลน์ หรือการใช้งานด้านอื่น ๆ ในยามว่าง เรียกได้ว่าเทคโนโลยีเครือข่ายภายในบ้านเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้กิจกรรมต่าง ๆ ยังดำเนินต่อไปได้ในช่วงเวลาที่ทุกคนต้องกักตัวอยู่บ้าน และจะเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะยาวเช่นกัน
เทคโนโลยีเครือข่ายภายในบ้านได้แปรเปลี่ยนจากแบบใช้สายมาเป็นแบบไร้สายเมื่อมือถือมีความนิยมมากขึ้น โดยเทคโนโลยี Wi-Fi ที่ทันสมัยที่สุดในปัจจุบันคือ Wi-Fi 6 ซึ่งได้รับการปรับปรุงการเชื่อมต่อให้ตรงกับประสบการณ์ผู้ใช้ ทั้งในแง่ของความเร็ว สัญญาณที่ครอบคลุม และการลดความหน่วง (Latency) ทั้งยังมีแบนด์วิดธ์สูงสุดและทันสมัยที่สุดสำหรับกลุ่มเทคโนโลยี Wi-Fi ที่มีในปัจจุบัน โดยสามารถให้บริการในช่วงแบนด์วิดธ์ที่สูงถึง 160MHz ทำให้ใช้ทรัพยากรช่องความถี่ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้เทคโนโลยี Wi-Fi 6 ซึ่งจะกลายมาเป็นพื้นฐานการพัฒนาของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตบ้านได้ในระยะถัดไป ยังทำให้ผู้ใช้เข้าถึงความเร็วได้มากกว่า 1Gbps และผู้ให้บริการสามารถมอบประสบการณ์ Wi-Fi ระดับ Gigabit ให้แก่ผู้ใช้งานทั่วไปได้อย่างแท้จริง
ทั้งนี้ International Data Corporation (IDC) คาดการณ์ว่าตลาดของอุปกรณ์ Wi-Fi 6 ทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นถึง 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2020 ที่ผ่านมา และ Wi-Fi 6 จะกลายมาเป็นตัวเลือกหลักของการใช้ Wi-Fi ในอนาคต โดยพบว่าผู้เล่นรายสำคัญ ๆ ระดับโลกได้เดินหน้าเปิดตัวอุปกรณ์ที่ช่วยเพิ่มแบนด์วิดธ์ Wi-Fi เพื่อสร้างประสบการณ์ใช้งานให้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ฝั่งตะวันตกอย่าง Intel ที่เปิดตัวหน่วยประมวลผลรุ่นที่ 10 และอุปกรณ์เครือข่ายตระกูล AX ที่รองรับการใช้งาน Wi-Fi 6 บนคลื่นความถี่ 160MHz ได้
ในขณะที่ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตชิปเซ็ตระดับโลกอย่าง Qualcomm ก็ได้ปล่อยชิปเซ็ต Snapdragon 888 ซึ่งรองรับแบนด์วิดธ์ Wi-Fi 6 160MHz และ Huawei HiSilicon เองก็ได้ลงทุนกับชิปเซ็ต Wi-Fi 6 รวมทั้งโทรศัพท์ Huawei P40 และ Mate40 Series ก็สามารถรองรับการใช้งานกับ Wi-Fi 6 160 MHz ได้แล้ว เช่นเดียวกันกับโทรศัพท์มือถือรุ่นเรือธงใหม่อื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก และคาดว่าคอมพิวเตอร์แล็ปท็อประดับไฮเอนด์ทั้งหมดในตลาดก็จะรองรับเทคโนโลยี Wi-Fi 6 160MHz ด้วยเช่นกัน ซึ่งจะทำให้เทคโนโลยีนี้กลายเป็นตัวเลือกหลักในตลาด
ข้อมูลจากรายงาน Global Connectivity Index หรือ GCI 2020 จาก Huawei ฉบับล่าสุด ยังชี้ว่า จะเกิดการต่อยอดเทคโนโลยีโครงข่ายอินเทอร์เน็ตและนวัตกรรมต่าง ๆ ในช่วงหลังโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็น 5G, AI, IoT หรือ Cloud ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยปัจจุบันพบว่ากว่า 78% ของประชากรไทยสามารถเข้าถึงบริการ 4G ได้โดยมีอัตราการเข้าถึงสัญญาณบรอดแบนด์มือถือถึง 132% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ในขณะที่รัฐบาลไทยยังคงขับเคลื่อนนโยบาย Thailand 4.0 อย่างต่อเนื่อง จึงเป็นอีกหนึ่งข้อยืนยันว่าผู้ใช้ชาวไทยจะคาดหวังการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไร้สายในบ้านที่รวดเร็วยิ่งขึ้น และเทคโนโลยี Wi-Fi 6 จะกลายมาเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่จะเข้ามามีบทบาทในการเสริมประสบการณ์ผู้ใช้งานในระดับครัวเรือนของประเทศไทยต่อจากนี้