Microsoft

Microsoft JA Asia Pacific และ CloudSwyft สร้างโอกาสพัฒนาทักษะและการจ้างงาน

JA Asia Pacific และคลาวด์สวิฟท์ (CloudSwyft) ประกาศความร่วมมือครั้งใหม่ร่วมกับไมโครซอฟท์เพื่อเปิดตัวโครงการส่งเสริมทักษะ ด้วยความตั้งใจเสริมสร้างทักษะเชิงดิจิทัลและความสามารถด้านการทำงาน ต่อยอดมาจากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องของโครงการ Global Skills Initiative (GSI) ซึ่งเป็นผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

ครงการดังกล่าวจะถูกดำเนินการภายใต้ความร่วมมือระหว่าง เจเอ เอเชีย แปซิฟิค คลาวด์สวิฟท์ และไมโครซอฟท์ ในการให้ความช่วยเหลือประชากรที่เป็นกลุ่มคนหนุ่มสาวในการเสริมสร้างการเรียนรู้ทักษะเดิมใหม่อีกครั้ง รวมถึงเรียนรู้ทักษะที่หลากหลาย และเพิ่มทักษะที่สำคัญ โดยเฉพาะในชุมชนด้อยโอกาสทั่วภูมิภาค รวมถึงในประเทศไทย

นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ธุรกิจและองค์กรทั่วโลกถูกเปลี่ยนแปลงด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้เพื่อดำเนินงานอย่างต่อเนื่องภายใต้สถานการณ์ที่ไม่คาดคิดที่เป็นผลกระทบมาจากสถานการณ์โควิด-19 แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การนำดิจิทัลเข้ามาปฎิรูปธุรกิจ แต่เรายังได้เห็นวิวัฒนาการของบทบาทและความรับผิดชอบของพนักงานที่ทำงานภายในองค์กร ทักษะดิจิทัลได้กลายเป็นส่วนสำคัญของงานจำนวนมากในปัจจุบัน ทำให้การเพิ่มทักษะและการเรียนรู้ทักษะเดิมใหม่อีกครั้งมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อช่วยยกระดับความสามารถในการทำงานและความสำเร็จอย่างต่อเนื่องในทุกสายอาชีพ เราภูมิใจที่ได้ร่วมมือกับ เจเอ เอเชีย แปซิฟิค และคลาวด์สวิฟท์ เพื่อสานต่อการสนับสนุนและการพัฒนาที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อประชากรที่มีความสามารถในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

นางอาภาพร สกุลกิตติยุต สถาปนิกอาวุโสโซลูชั่น คลาวด์ ด้านข้อมูลและ AI ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย

“ข้อมูลคือส่วนหนึ่งที่สำคัญมากในทุกองค์กร เพราะข้อเท็จจริง สถิติ ตัวเลขและเทรนด์ต่างๆ นับเป็นพื้นฐานสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจในกระบวนการธุรกิจ การเป็นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลจึงจำเป็นต้องได้รับการเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ด้านดิจิทัล เพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจให้หลากหลายในการวางแผนธุรกิจ การวางโครงสร้างข้อมูล ไปจนกระทั่งเรียนรู้การนำเครื่องมือเข้ามาช่วยเสริมทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมากที่จะเข้ามาช่วยสร้างความได้เปรียบในหน้าที่การงาน และลดช่องว่างในการได้รับจ้างงานในระหว่างสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ เราเชื่อมั่นว่าอาชีพนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล จะเป็นหนึ่งอาชีพที่สำคัญที่มีความต้องการสูงในอนาคต” 

โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายว่าจะมีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมดกว่า 60,000 คนจากทั่วภูมิภาคภายในปีแรก โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการจากประเทศไทย 20,000 คน ผู้เข้าร่วมโครงการเหล่านี้จะเริ่มต้นการฝึกอบรมด้วยการปฐมนิเทศผ่านการสัมมนาผ่านเว็บไซต์ ที่จะแนะนำให้พวกเขารู้จักกับเส้นทางอาชีพที่เกี่ยวข้องกับทักษะเชิงดิจิทัล หลักสูตรด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล รวมถึงการประเมินโดยใช้ห้องปฏิบัติการโดยคลาวด์สวิฟท์ เพื่อประเมินการเรียนรู้และความเข้าใจ ซึ่งจะถูกดำเนินการผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งหมด นอกจากนี้ หลักสูตรเหล่านี้ยังจะถูกนำเสนอในภาษาท้องถิ่น เพื่อลดอุปสรรคในการเข้าร่วมและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแก่คนทุกคน

ผู้เข้าร่วมโครงการที่ผ่านการปฐมนิเทศมาแล้วจะได้รับประกาศนียบัตรแบบดิจิทัล ซึ่งได้รับการรับรองโดย คลาวด์สวิฟท์ เจเอ เอเชีย แปซิฟิค และไมโครซอฟท์ โดยจะสามารถนำไปใช้ประกอบในพอร์ทโฟลิโอเพื่อการสมัครงานและบนโปรไฟล์ LinkedIn ได้ โดยหลังจากที่จบหลักสูตรการปฐมนิเทศแล้ว ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถเลือกเส้นทางการเรียนรู้จากเส้นทางอาชีพทั้งหมด 5 ทางเลือก ได้แก่ นักวิเคราะห์ข้อมูล นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ทีมการพัฒนาเพื่อการปฎิบัติการ นกพัฒนาซอฟท์แวร์ และฝ่ายสนับสนุนด้านไอที โดยแต่ละเส้นทางอาชีพจะมีการฝึกอบรม 10-20 ชั่วโมง ในขณะที่ผู้เข้าร่วมโครงการยังสามารถเข้าถึงการให้คำปรึกษาผ่านช่องทางออนไลน์เป็นภาษาไทยอีก 1 ชั่วโมง หลังจากที่จบหลักสูตรแล้ว ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับประกาศนียบัตรดิจิทัลอีกใบ เพื่อรับรองว่าได้สำเร็จหลักสูตรการอบรมเส้นทางอาชีพที่พวกเขาเลือกและยอมรับทักษะเชิงดิจิทัลครั้งใหม่ที่พวกเขาได้เรียนรู้ โดยประกาศนียบัตรดิจิทัลทั้งหมดที่มอบให้ในโครงการครั้งนี้จะถูกปรับให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลพร้อมชื่อของผู้เข้าร่วมโครงการ และรับรองโดย ไมโครซอฟท์ คลาวด์สวิฟท์ และ เจเอ เอเชีย แปซิฟิค

ม.ล. ปริยดา ดิสกุล กรรมการอำนวยการ มูลนิธิ Junior Achievement ประเทศไทย กล่าวว่า “ในฐานะองค์กรที่ทุ่มเทให้กับการสนับสนุนและเตรียมความพร้อมด้านอาชีพในอนาคตแก่เยาวชน เราเข้าใจถึงอุปสรรคด้านการจ้างงานและความสามารถในการทำงานที่ผู้คนจำนวนมากกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน เรามีเป้าหมายร่วมกันกับพันธมิตรของเรา ทั้งไมโครซอฟท์และคลาวด์สวิฟท์ ซึ่งเราต้องการที่จะสนับสนุนและเตรียมความพร้อมแก่ผู้ที่มีความสามารถในประเทศเพื่ออาชีพแห่งอนาคตอย่างต่อเนื่อง ปี 2564 เป็นปีที่มีความหมายในการเริ่มต้นใหม่สำหรับใครหลายคน เราจึงคาดหวังที่จะมอบพื้นที่เพิ่มเติมแก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือให้ได้รับการสนับสนุนที่จำเป็นต่อพวกเขา ผ่านการฝึกอบรมทักษะและการให้คำแนะนำ และประสบความสำเร็จในอาชีพของเขาในที่สุด”

นอกจากนี้ คุณแดน แอนเจโล่ เดอ กุซแมน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารคลาวด์ สวิฟท์ ยังได้แสดงความคิดเห็นต่อความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “ส่วนประกอบที่สำคัญต่อการเติบโตทางด้านอาชีพของคนทุกคนคือการเพิ่มทักษะ ซึ่งไม่ใช่การตั้งคำถามกับตัวเองว่า ‘ถ้า’ (if) แต่เป็น ‘เมื่อใด’ (when) และสำหรับใครหลายคน คำตอบคือตอนนี้ ในขณะที่การต่อสู้กับสถานการณ์โควิด-19 ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง มีองค์กรจำนวนมากที่หันมาหาเทคโนโลยีเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและยังคงดำเนินธุรกิจต่อไปภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว เทคโนโลยีเหล่านี้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว แต่จะสามารถเกิดขึ้นจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อมีผู้ที่มีความสามารถเหมาะสมเข้ามาอยู่ในทีม นอกจากการจัดฝึกอบรมทักษะเชิงดิจิทัลที่จำเป็นแก่ชุมชนในประเทศไทยแล้ว โครงการเสริมสร้างทักษะของเรายังสร้างคุณค่าที่เหลือล้นในการสนับสนุนธุรกิจและการเติบโตของเศรษฐกิจ ด้วยการสนับสนุนให้แรงงานมีความพร้อมต่ออนาคตเพื่อเร่งให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในอนาคตได้เร็วยิ่งขึ้น”

โครงการดังกล่าวจะดำเนินการควบคู่ไปกับโครงการพัฒนาทักษะที่มีอยู่แล้วของไมโครซอฟท์ ภายใต้ความร่วมมือกับ LinkedIn Learning และ GitHub ซึ่งนำเสนอหลักสูตรสายอาชีพและเนื้อหาที่หลากหลายโดยไม่มีค่าใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์