ระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา Google พัฒนา Google Earth ซอฟต์แวร์เพื่อใช้สำรวจโลก ที่มีผู้คนเข้าใช้งานแล้วกว่าหลายพันล้านคน นับตั้งแต่เปิดให้ใช้งาน ทีมงาน Google ก็มุ่งมั่นที่จะสร้างแบบจำลองของโลกในรูปแบบ 3 มิติที่สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกอยู่ตลอดเวลา พร้อมทั้งพัฒนาฟีเจอร์ต่างๆ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สำรวจโลกได้อย่างเพลิดเพลินมากขึ้น
ล่าสุด Google มีการอัปเดต Google Earth ครั้งใหญ่นับตั้งแต่ปี 2017 โดยนำเสนอฟีเจอร์ที่ชื่อ Timelapse ใน Google Earth ที่มาพร้อมภาพถ่ายดาวเทียม 24 ล้านภาพตลอดระยะเวลาที่รวบรวมข้อมูล 37 ปี ด้วยฟีเจอร์นี้ ทำให้ผู้ใช้สามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงของโลกในเวลาเกือบ 40 ปีที่ผ่านมาได้อย่างชัดขึ้น
ทั้งนี้ Google ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญที่ CREATE Lab ของมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับ Timelapse หลังจากการสำรวจโลกและสังเกตจาก Google Earth พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงสำคัญอยู่ทั้งหมด 5 ข้อได้แก่
- การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่าไม้
- การเจริญเติบโตของชุมชนเมือง
- อุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้น
- แหล่งพลังงานต่างๆ และ
- ความงามที่เปราะบางของโลก
การทำวิดีโอ Timelapse สำหรับโลกนั้นใช้วิธีการบีบอัดพิกเซลจำนวนมากใน Earth Engine แพลตฟอร์มบนระบบคลาวด์ของ Google ที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ โดย Google ทำการเพิ่มภาพ Timelapse แบบเคลื่อนไหวลงใน Google Earth ด้วยการรวบรวมภาพถ่ายดาวเทียมกว่า 24 ล้านภาพตั้งแต่ปี 1984 – 2020 อีกทั้งยังมีการส่งจรวด ยานสำรวจ ดาวเทียม และนักบินอวกาศขึ้นสู่อวกาศเพื่อสำรวจและเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องโดยได้รับความร่วมมือและช่วยเหลือจาก NASA , โครงการ Landsat ของสำนักธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา และโครงการ Copernicus ของสหภาพยุโรปที่ใช้ดาวเทียม Sentinel
สามารถเข้าไปสำรวจโลกด้วยฟีเจอร์ Timelapse ใน Google Earth ได้ที่ g.co/Timelapse ผู้ใช้งานสามารถใช้แถบค้นหาเพื่อความสะดวกในการค้นหาสถานที่ต่างๆ บนโลกแล้วมองดูมันในระยะเวลาที่ค่อยๆ เปลี่ยนไป หรือจะเปิดเข้าใช้งานใน Google Earth แล้วคลิกที่ไอคอนรูปพวงมาลัยเรือเพื่อค้นหา Timelapse
นอกจากนี้ Google ยังอัปโหลดวิดีโอ Timelapse กว่า 800 ชุด ในรูปแบบทั้ง 2 มิติและ 3 มิติ สามารถเข้าไปดูวิดีโอเหล่านั้นได้ที่ g.co/TimelapseVideos
ที่มา : Google Blog | The Next Web