นักวิจัยพยายามอย่างหนักอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาแบตเตอรี่ในสมาร์ทโฟนให้ใช้งานได้ยาวนานขึ้น พวกเขายังคงประสบปัญหาเรื่องแบตเตอรี่ส่วนใหญ่ รวมถึงที่ใส่มาในสมาร์ทโฟนรุ่นเรือธงและรุ่นพรีเมียมที่สูญเสียความจุดั้งเดิมภายในเวลาไม่กี่ปีของการใช้งานโดยแบตเตอรี่ส่วนใหญ่จะลดลง 1 ใน 5 ของความจุภายในปีแรกของการใช้งาน
แต่ดูเหมือนว่าวงการแบตเตอรี่กำลังจะมีข่าวดี เมื่อนักวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Advanced Institute of Science and Technology หรือ JAIST) ได้คิดค้นวัสดุที่จะปฏิวัติวงการ ช่วยให้แบตเตอรี่รักษาความจุเดิม (สูงสุด 95%) ได้อย่างน้อยๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี เป็นการยืดอายุแบตเตอรี่ภายในอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน แล็ปท็อป หรือแม้แต่รถยนต์ไฟฟ้า
นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ที่ JAIST นำทีมโดยศาสตราจารย์ Noriyoshi Matsumi ได้ค้นพบวัสดุประสาน (binder material) ที่พิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพดีกว่าเทคโนโลยีที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน โดยขั้วลบของแบตเตอรี่ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีวัสดุประสานที่เรียกว่า Polyvinylidene Fluoride (PVDF) ซึ่งไม่มีประสิทธิภาพยอดเยี่ยมเท่าที่ควร หลังจากการชาร์จเพียง 500 ครั้ง แบตเตอรี่ทั่วไปที่ใช้ PVDF จะสูญเสียความจุเดิมไปถึง 35% ส่งผลให้อายุการใช้งานของแบตเตอรี่ของสมาร์ทโฟนลดลงหลังใช้งานผ่านไป 1-2 ปี
วัสดุประสานใหม่ที่ค้นพบมีชื่อว่า Bis-imino-acenaphthenequinone-Paraphenylene (BP) โดยตัวยึดจะช่วยรักษาความจุของแบตเตอรี่ได้ 95% แม้จะผ่านการชาร์จไป 1,700 รอบแล้วก็ตาม แบตเตอรี่ยังคงมีประสิทธิภาพได้นานถึง 5 ปีโดยที่ความจุเดิมไม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ศาสตราจารย์ Noriyoshi Matsumi กล่าวถึงเทคโนโลยีตัวนี้ว่ามันมีประโยชน์ในการเข้ามาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความทนทานและมีอายุใช้งานยาวนานขึ้น อีกทั้งยังกระตุ้นให้ผู้บริโภคตัดสินใจลงทุนซื้อสินทรัพย์ที่ใช้แบตเตอรี่ที่มีราคาสูง แต่ก็ให้ประสิทธิภาพการทำงานที่สูงและอายุการใช้งานยาวนาน เช่น รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
ที่มา : Gizmochina | PCMAG