Microsoft

Microsoft APAC Enabler ช่วยผู้พิการ 110 คน เข้าทำงานในตำแหน่งที่เหมาะสม

โครงการ Microsoft APAC Enabler ช่วยผู้พิการ 110 คน ใน 6 ประเทศ จับคู่เข้าทำงานในตำแหน่งที่เหมาะสม หลังเริ่มโครงการเพียง 7 เดือน

นับตั้งแต่โครงการ Microsoft APAC Enabler เปิดตัวไปเมื่อ 7 เดือนก่อน ผู้พิการ 16 คน ได้รับโอกาสในการทำงานทั้งแบบเต็มเวลา การฝึกงาน การเข้ารับการสอนงาน และการฝึกอบรม ผ่านโครงการดังกล่าว โดยมีผู้พิการกว่า 110 คนที่อยู่ระหว่างการจับคู่ความชำนาญกับงานหน้าที่ต่าง ๆ 65 ตำแหน่งจากพันธมิตรของไมโครซอฟท์

ศรีลังกาเป็นอีกประเทศที่มาเข้าร่วมกับสิงคโปร์ ไทย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ โดยมีองค์กรไม่แสวงผลกำไรอย่าง Enable Lanka Foundation และ Korea Employment Agency for Persons with Disabilities คอยให้ความรู้และฝึกอบรมพันธมิตรเกี่ยวกับการจัดสถานที่ทำงานและการเป็นผู้จ้างงานที่มีการจ้างงานอย่างเข้าใจและครอบคลุม องค์กรไม่แสวงผลกำไรเหล่านี้ได้ร่วมกับพันธมิตรของไมโครซอฟท์ 19แห่ง ซึ่งรวมถึง ZILLIONe Systems SolutionsRedstone System และ DDLS Philippines เพื่อขจัดสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มความหลากหลายมากยิ่งขึ้นในกลุ่มแรงงาน

“ในปี 2563 เราได้เห็นว่ามีธุรกิจจำนวนมากที่หันมาใช้เทคโนโลยีคลาวด์อย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งจะส่งผลให้การสร้างเสริมทักษะทางด้านดิจิทัลเป็นที่แพร่หลายในโลกของเราหลังการเกิดโรคระบาด การปลดล็อคให้กับผู้พิการจำนวนมากจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งเพราะการสร้างโอกาสด้านทักษะและการจ้างงานที่ต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะนั้นสำคัญต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคของเรา ซึ่งนั่นทำให้เราภูมิใจอย่างมากกับก้าวต่อไปของไมโครซอฟท์บนเส้นทางของการได้รับโอกาสการทำงานอย่างเท่าเทียม ความมุ่งมั่น 5 ปีของเราที่จะช่วยปิดช่องว่าง “การแบ่งแยกกลุ่มผู้พิการ” ทั่วโลก เพื่อให้เกิดการเข้าถึงเทคโนโลยี เปิดประตูรับผู้พิการที่มีความสามารถเข้าทำงาน และสานต่อให้มีสถานที่ทำงานที่มีการจ้างงานผู้พิการอย่างเท่าเทียม” Pratima Amonkar ประธานด้าน D&I และ Accessibility ของไมโครซอฟท์เอเชียแปซิฟิก และประธานโครงการ Microsoft Enabler กล่าว

การสนทนาในหัวข้อทักษะด้านดิจิทัลขณะมีการเยี่ยมชมสำนักงานในเอเชียแปซิฟิกแบบออนไลน์วานนี้ สัตยา นาเดลลา  ซีอีโอของไมโครซอฟท์ แสดงความคิดเห็นว่าหากต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม เราจำเป็นต้องสร้างโอกาสให้กับผู้คนกว่า 1 พันล้านคน ที่มีความพิการทั่วโลก เพื่อให้พวกเขาสามารถเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลก เขายังกล่าวถึงความสำคัญของการมีกรอบความคิดที่จะเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและย้ำถึงพันธกิจของไมโครซอฟท์ที่มีรากฐานจากการช่วยให้ทุกคนมีเครื่องมือและทักษะที่จะช่วยให้พวกเขาสร้างสรรค์ พัฒนา และเปลี่ยนแปลงชุมชนที่พวกเขาอาศัยและทำงานอยู่

ผู้พิการที่ได้รับการจ้างงานโดยพันธมิตรของเรา 

  • Zeus Oliveros เป็นหนึ่งในผู้พิการรายแรก ๆ ที่ได้รับการจ้างงานผ่านโครงการนี้ เขาเข้าร่วมทีมคอลเซ็นเตอร์ของ Cognizant Philippines ในฐานะพนักงานผู้ช่วยเป็นเวลาสามเดือนครึ่ง เพื่อปฏิบัติงานด้านการบริการทางโทรศัพท์และการวิเคราะห์ข้อมูล จากประสบการณ์ครั้งนี้ เขาได้ค้นพบว่าตนมีความชอบในเรื่องการพัฒนาคอนเทนต์และการตลาด และปัจจุบันกำลังมองหางานทางด้านนี้
  • Kang Joohyun ซึ่งเป็นผู้ที่มีความพิการทางการได้ยิน ได้รับการจ้างงานโดย Cloocus Korea ในปัจจุบัน ระหว่างนี้เธอยังเป็นสมาชิกใหม่ของทีมและกำลังเรียนรู้เกี่ยวกับโครงสร้างด้านการขายและจัดซื้อขนาดใหญ่ของบริษัท ก่อนจะก้าวสู่ตำแหน่งหัวหน้าแผนกบัญชีต้นทุนต่อไป
  • Marcus Tan เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ผู้มีภาวะสมองพิการจากสถาบัน Temasek Polytechnic เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2563 เขาได้ฝึกงานที่ NTT Data ในสิงคโปร์เป็นระยะเวลา 3 เดือน และได้รับมอบหมายให้พัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับใช้ภายในองค์กร หลังสิ้นสุดช่วงฝึกงาน NTT Data ในสิงคโปร์ได้เดินสายจัดบรรยายให้กับนักเรียนที่มีความพิการรวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องจากวิทยาลัยเทคนิคในท้องถิ่นในวงที่กว้างขึ้น เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องความหลากหลายและการอยู่ร่วมกัน
  • จิดาภา นิติวีระกุลและทศพล ชัยขุนทด ปัจจุบันได้เข้าร่วมฝึกงานกับแผนกเทคโนโลยีสารสนเทศของ เอ็นทีที เอเชียแปซิฟิก (ประเทศไทย) ไปพร้อมกับเตรียมตัวคว้าประกาศนียบัตรวิชาชีพจากวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ การฝึกงานครั้งนี้ได้แสดงให้ทศพลเห็นว่าความบกพร่องทางร่างกายไม่ได้เป็นอุปสรรคต่ออาชีพในฝันของเขาอย่างการเป็นโปรแกรมเมอร์ อาชีพที่ตัวเขามองว่ามีความท้าทายเพราะมีการพัฒนาใหม่ ๆ ให้เรียนรู้ ฝึกฝน และประยุกต์ใช้อยู่เสมอ

การสร้างเศรษฐกิจที่ทุกคนเข้าถึงได้ในเอเชียแปซิฟิก

การเข้าถึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญในอันดับต้น ๆ และพวกเราทุกคนต่างต้องเผชิญกับภาวะทุพพลภาพรูปแบบใดแบบหนึ่งเมื่อถึงจุด ๆ หนึ่งในช่วงชีวิตของเรา ไม่ว่าจะเป็นภาวะทุพพลภาพในช่วงเวลาสั้น ๆ ในบางสถานการณ์ หรือแบบถาวร การเสริมสร้างศักยภาพให้กับผู้พิการให้สามารถเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจของเราได้อย่างเต็มรูปแบบ จะช่วยเราเพิ่มจำนวนประชากรที่มีความสามารถได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสิ่งนี้จะนำไปสู่จีดีพีที่เพิ่มขึ้นราว 1 ถึง 7 เปอร์เซ็นต์

ไมโครซอฟท์ได้จัดการฝึกอบรมทักษะทางเทคโนโลยี ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยีคลาวด์และปัญญาประดิษฐ์ และการให้คำปรึกษาด้านเทคนิคทุก 2 เดือน โดยพนักงานที่เป็นอาสาสมัครจะมาร่วมแบ่งปันความเชี่ยวชาญของพวกเขาผ่านโปรแกรม Microsoft Azure และ Microsoft Teams ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ได้สร้างประโยชน์ให้กับผู้พิการไปแล้วกว่า 120 คน

“ผลตอบรับจากพันธมิตรของไมโครซอฟท์นั้นทำให้เรามีกำลังใจอย่างมาก การให้การสนับสนุนผ่านโครงการและช่วยให้พวกเขามีขั้นตอนที่ชัดเจน ทำให้พันธมิตรของเรามองเห็นว่าพวกเขามีวัฒนธรรมที่ดีขึ้น ผู้คนในองค์กรยอมรับในความแตกต่างหลากหลายมากขึ้น และชุมชนของพวกเขาก็เห็นอกเห็นใจกันมากขึ้นด้วย” Pratima กล่าวเสริม

ไมโครซอฟท์ได้จัดการฝึกอบรมไปแล้ว 45 ชั่วโมง โดยเน้นในเรื่องการจ้างงานที่ครอบคลุมและการออกแบบสถานที่ทำงานเพื่อคนทุกกลุ่ม รวมถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สำหรับอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการบน Microsoft Azure พันธมิตรของไมโครซอฟท์ยังได้เรียนรู้และรับการอบรมจากองค์กรไม่แสวงผลกำไรในหัวข้อต่าง ๆ เช่น การปรับสถานที่ทำงาน การทำงานร่วมกัน และการสอนงานให้กับผู้พิการอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

“ช่วง 7 เดือนที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่น่าทึ่งของการเรียนรู้และเติบโตของพวกเราและเหล่าพันธมิตร และนี่เป็นเพียงแค่การเริ่มต้นของเราเท่านั้น เพื่อให้โครงการ Microsoft APAC Enabler บรรลุศักยภาพสูงสุด ดิฉันหวังว่าจะมีพันธมิตร องค์กรไม่แสวงผลกำไร ผู้พิการอีกมากมายมาร่วมกับเรา เพื่อที่เราจะได้ร่วมกันทำงานเพื่อไปสู่อนาคตที่ผู้คนต่างยอมรับในความแตกต่างหลากหลายของทุกคน” Pratima กล่าวปิดท้าย