VISA ประกาศมุ่งเสริมสร้างความปลอดภัยในการชำระเงิน พร้อมรองรับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระหว่างการประชุมสุดยอดด้านความปลอดภัย Asia Pacific Visa Security Summit
วีซ่า ได้สรุปพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิกออกเป็นสามเทรนด์หลักๆ ด้วยกัน ได้แก่ การชำระเงินแบบคอนแทคเลสเทียบเท่ากับการปกป้องตัวเองจากการติดเชื้อไวรัส ตามมาด้วยความต้องการการบริการที่รวดเร็วและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้นในการช้อปปิ้งออนไลน์ และสุดท้ายคือเส้นแบ่งระหว่างการช้อปปิ้งออนไลน์และออฟไลน์เริ่มเลือนรางลง ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้การฉ้อโกงที่เคยมุ่งเป้าไปที่ห้างร้าน ได้ย้ายมาสู่เป้าหมายใหม่อย่างการค้าในรูปแบบดิจิทัลแทน ซึ่งวีซ่าเองได้กระตุ้นให้ทุกหน่วยงานในอุตสาหกรรมเร่งดำเนินการเชิงรุกเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้
มร. โจ คันนิ่งแฮม ผู้อำนวยการฝ่ายการจัดการความเสี่ยงของวีซ่า ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า “การแพร่ระบาดใหญ่ในครั้งนี้ได้เร่งให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงรูปแบบการค้า และการชำระเงินในรูปแบบดิจิทัล เราเชื่อว่ารูปแบบการใช้จ่ายเหล่านี้จะคงอยู่ต่อไป และกลุ่มผู้บริโภคที่ตัดสินใจซื้อสินค้าในระบบดิจิทัลเป็นครั้งแรกจะเลือกซื้อสินค้าจากร้านค้าที่พวกเขาเชื่อถือ เมื่อการค้าในรูปแบบดิจิทัลกลายเป็นช่องทางหลัก ทำให้ความปลอดภัยในการชำระเงินกลายเป็นเรื่องพื้นฐานในการสร้างความน่าเชื่อถือ ซึ่งอุตสาหกรรมเองต้องมีการปรับตัวเพื่อมอบความปลอดภัย สะดวก และรวดเร็วในการชำระเงิน ตามความคาดหวังของผู้บริโภค”
สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้บริโภคได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้า และการทำธุรกรรมทางการเงิน
- การชำระเงินแบบคอนแทคเลส – เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสุขภาพและความปลอดภัยเป็นอันดับแรก จึงทำให้การชำระเงินแบบคอนแทคเลส และการแตะเพื่อจ่าย (tap to pay) เข้ามามีบทบาทสำคัญยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเอเชียแปซิฟิกที่ หนึ่งในสองของการทำธุรกรรมที่ร้านค้าของวีซ่าเป็นรูปแบบคอนแทคเลสแล้วในปัจจุบัน โดย วีซ่า ได้คาดการณ์ว่าการชำระเงินแบบคอนแทคเลสจะเข้ามาแทนที่การใช้เงินสด และกลายเป็นวิธีการชำระเงินหลักที่ธุรกิจและผู้บริโภคเลือกใช้
- ความคาดหวังในด้านประสบการณ์ในการช้อปปิ้งออนไลน์ของผู้บริโภค – นักช้อปโดยมากมักจะคาดหวังให้สินค้าและบริการที่พวกเขามองหานั้นจะต้องมีพร้อมเมื่อพวกเข้าต้องการและในที่ที่พวกเขาต้องการ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อร้านค้าสามารถสร้างประสบการณ์การซื้อขายและชำระเงินที่นอกจากจะรวดเร็วแล้วยังต้อง ราบรื่น และสะดวกอีกด้วย
- การลดความแบ่งแยกระหว่างการซื้อสินค้าออนไลน์และออฟไลน์ – ข้อมูลจากวีซ่าแสดงให้เห็นว่าอีคอมเมิร์ซทั่วโลกเพิ่มขึ้นกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ในไตรมาสที่ผ่านมา เมื่อเทียบในช่วงเวลาเดียวกับปีที่ผ่านมา โดยในช่วงสามไตรมาสที่ผ่านมาอีคอมเมิร์ซในอินเดียและสิงคโปร์เติบโตเฉลี่ยอย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์ การเติบโตของอีคอมเมิร์ซมีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อไป ถึงแม้ผู้บริโภคจะเริ่มออกนอกบ้านและกลับไปใช้จ่ายในร้านค้าก็ตาม
ในด้านการจัดการความเสี่ยงที่จะเกิดจากการฉ้อโกงนั้น วีซ่าได้นำเสนอโซลูชันที่ให้ความสำคัญเท่ากันทั้งเรื่องของความปลอดภัยและความสะดวกของผู้บริโภค วีซ่า ซีเคียว (Visa Secure) ระบบป้องกันความปลอดภัยในระดับชั้นเพิ่มเติมประเภท 3-D Secure ระบบตัวใหม่ล่าสุดของโปรโตคอล 3DS มาตรฐานล่าสุดของ EMV® ที่ช่วยเสริมเกราะป้องกันการฉ้อโกงอีกหนึ่งชั้นเพื่อให้สถาบันการเงินและผู้ขายมั่นใจได้ว่าการทำธุรกรรมนั้น ๆ เกิดขึ้นจริง โซลูชันนี้นอกจากจะช่วยให้ผู้ขายไม่สูญเสียยอดขายอันเป็นผลจากการที่การชำระเงินถูกปฏิเสธ ยังช่วยยกระดับประสบการณ์การจับจ่ายในภาพรวมให้ลูกค้าได้อีกด้วย
บริการโทเค็นของวีซ่า (Visa Token Service หรือ VTS) ทำหน้าที่เปลี่ยนข้อมูลส่วนตัวของเจ้าของบัญชี อย่าง หมายเลขหน้าบัตร 16 หลัก และรายละเอียดของบัญชีเป็นรหัสโทเค็นแบบสุ่ม เพื่อลดคุณค่าของข้อมูลและทำให้นักต้มตุ๋นนำไปใช้ประโยชน์ต่อไม่ได้ รายงานจากสหรัฐอเมริกาแสดงให้เห็นว่าโทเค็นช่วยลดการฉ้อโกงได้เฉลี่ยถึง 26 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับการทำธุรกรรมออนไลน์ผ่านบัตรที่ผู้บริโภคกรอกรายละเอียดของบัตรเพื่อทำการชำระเงิน โดยวีซ่าได้ใช้เวลากว่าห้าปีในการออกโทเค็นจนสามารถแตะหลัก 1.4 พันล้านรายการทั่วโลก และได้ก้าวข้ามทะลุหลัก 2 พันล้านรายการในเวลาเพียง 10 เดือน ปัจจุบัน บริการโทเค็นของวีซ่า กลายเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มรายใหญ่ของโลกที่ให้บริการด้านความปลอดภัยในการชำระเงิน ที่นอกจากจะช่วยปกป้องข้อมูลให้แก่เจ้าของบัญชีแล้ว ยังช่วยลดขั้นตอนที่ยุ่งยากในการกรอกข้อมูลที่ไม่จำเป็นแก่ผู้บริโภคอีกด้วย
“นักต้มตุ๋นมักคิดค้นกลวิธีใหม่ๆ ได้เร็วกว่าที่ผู้บริโภค และธุรกิจส่วนใหญ่ได้เตรียมการไว้ ดังนั้นเพื่อให้เรานำหน้าอยู่ตลอดเวลา อีโคซิสเต็มการชำระเงินจำเป็นต้องเสริมโครงสร้างพื้นฐานเดิมด้วยโซลูชันบริหารจัดการการฉ้อโกงที่ทันสมัยและเชื่อถือได้ โดยในโลกที่ก้าวสู่ความเป็นดิจิทัลมากขึ้น ความปลอดภัยในการชำระเงินกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับจากผู้บริโภค และต้องกลายเป็นรากฐานในการดำเนินธุรกิจ การค้าทั้งในวันนี้และวันหน้า” มร. คันนิ่งแฮม กล่าวเพิ่มเติม
งานประชุมสุดยอดความมั่นคงทางการรักษาความปลอดภัยในระบบชำระเงินของวีซ่า ในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประจำปี 2564 Asia Pacific Visa Security Summit เป็นงานประชุมด้านความปลอดภัยในการชำระเงินที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาค ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 18-21 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 โดยได้มีการเชิญบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านความเสี่ยงชั้นนำมาร่วมแบ่งปันความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในเรื่องนวัตกรรมรักษาความปลอดภัยด้านการชำระเงิน
การประชุมในครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องรูปแบบพฤติกรรมของผู้บริโภค และความพร้อมของภาคธุรกิจในการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยในการประชุมจะเน้นให้เห็นถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ตลอดจนมาตรการที่เหล่าร้านค้าและภาคธุรกิจควรจะมีเพื่อป้องกันธุรกิจและลูกค้าของพวกเขา