Grab

Grab Finance สนับสนุนพาร์ทเนอร์คนขับและร้านค้าฝ่าวิกฤติ

Grab Finance สนับสนุนพาร์ทเนอร์คนขับและร้านค้าฝ่าวิกฤติ ขยายบริการสินเชื่อดิจิทัลที่เข้าถึงได้และสอดคล้องกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป

กลุ่มธุรกิจการเงินของแกร็บ เดินหน้ายกระดับผลิตภัณฑ์และบริการสินเชื่อ ผ่านการขยายบริการสินเชื่อเพื่อพาร์ทเนอร์คนขับ และผู้จัดส่งอาหารและพัสดุ และการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อพาร์ทเนอร์ร้านค้า โดยเน้นพัฒนาประสิทธิภาพทั้งในด้านการเข้าถึง (Accessibility) และความสอดคล้องกับรูปแบบการใช้ชีวิต (Affordability) ที่เปลี่ยนไป พร้อมส่งมอบโซลูชันทางการเงินที่เฉพาะเจาะจง เพื่อตอบโจทย์ความท้าทายหลากหลายของพาร์ทเนอร์ในการรับมือกับสถานการณ์โรคระบาด และสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยก้าวผ่านวิกฤติโควิด-19

นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการ แกร็บ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าวว่า “ตลอดกว่า 1 ปีที่ผ่านมาถือเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการการเดินทางซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง หรือผู้ประกอบร้านอาหารที่ต้องปรับรูปแบบธุรกิจให้เท่าทันพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป แกร็บ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป มีความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้อย่างลึกซึ้ง ซึ่งเกิดขึ้นจากข้อมูลการใช้งานแอปพลิเคชันแกร็บในทุกๆ วัน เราจึงสามารถนำเสนอทางเลือกด้านผลิตภัณฑ์การเงินที่สอดคล้องกับการใช้ชีวิต และมาตรการช่วยเหลือที่ตอบโจทย์ความต้องการทางเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตของผู้ประกอบการกลุ่มนี้อย่างมีประสิทธิภาพ”  

ตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาสแรกของปี 2563 แกร็บ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ได้เร่งให้ความช่วยเหลือแก่พาร์ทเนอร์คนขับ และผู้จัดส่งอาหารและพัสดุที่ใช้บริการสินเชื่อ โดยอาศัยข้อมูลบนแพลตฟอร์มในการระบุมาตรการช่วยเหลือที่เหมาะสมกับแต่ละราย เช่น การหยุดพักชำระสินเชื่อ โดยไม่คิดดอกเบี้ยเพิ่ม สำหรับพาร์ทเนอร์ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง พร้อมนำเสนอสินเชื่อแก่พาร์ทเนอร์คนขับที่มีความจำเป็นต้องใช้สินเชื่ออย่างต่อเนื่อง แม้ภาพรวมของอุตสาหกรรมมีการชะลอตัวของยอดสินเชื่อใหม่* และในเดือนมกราคม2564 ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์สินเชื่อเงินสดเพื่อพาร์ทเนอร์ร้านค้า เพื่อสนับสนุนการเพิ่มสภาพคล่องในช่วงที่มีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ทั้งในการลดภาระต้นทุน และการขยายกิจการเพื่อตอบรับความต้องการของตลาดอย่างทันท่วงที 

นอกจากการให้ความช่วยเหลือในระยะสั้นแล้ว แกร็บ ไฟแแนนเชียล กรุ๊ป ยังอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกในการพัฒนาบริการสินเชื่อให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งในด้านการเข้าถึง (Accessibility) เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายย่อยประกอบอาชีพได้อย่างต่อเนื่อง และความสอดคล้องกับรูปแบบการดำเนินชีวิตและสถานภาพการเงิน (Affordability) ของพาร์ทเนอร์คนขับและร้านค้าแต่ละราย ท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว “ตลอดทั้งปี 2563 เราเล็งเห็นว่าพาร์ทเนอร์คนขับบางส่วนมีจำนวนรอบขับที่ลดลง ซึ่งเป็นผลจากการที่ผู้บริโภคหันมาทำงานจากที่บ้านเพิ่มขึ้น ในขณะที่พาร์ทเนอร์คนขับที่ให้บริการการเดินทาง บางส่วนได้หันมาให้บริการรับ-ส่งอาหารและพัสดุเพื่อชดเชยรายได้ที่หายไป  เราจึงจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลบนแพลตฟอร์มของเรา และปรับผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกัน” นายวรฉัตร กล่าวเสริม

ในปี 2564 แกร็บ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ได้ยกระดับผลิตภัณฑ์และบริการสินเชื่อ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของพาร์ทเนอร์   ดังต่อไปนี้

  • การขยายผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อพาร์ทเนอร์คนขับ ผู้จัดส่งอาหารและพัสดุ: ขยายบริการสินเชื่อเพื่อพาร์ทเนอร์คนขับ  และผู้จัดส่งอาหารและพัสดุให้ครอบคลุมในทุกจังหวัดที่แกร็บดำเนินธุรกิจ และเพิ่มตัวเลือกของสมาร์ทโฟนและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำเป็นภายใต้บริการผ่อนชำระสินค้า 0% ให้ครอบคลุมหลากหลายยี่ห้อและรุ่นที่พาร์ทเนอร์ต้องการมากยิ่งขึ้น เพื่อสนับสนุนให้พาร์ทเนอร์สามารถสร้างรายได้และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีอย่างต่อเนื่อง
  • การนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อเสริมศักยภาพพาร์ทเนอร์ร้านค้า: เปิดตัวบริการสินเชื่อเงินสดเพื่อพาร์ทเนอร์ร้านค้า ในเดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน และเสริมสภาพคล่องให้ร้านค้าสามารถฝ่าวิกฤตต่อไปได้ และเตรียมนำเสนอบริการผ่อนชำระสินค้ารายวัน 0% แก่พาร์ทเนอร์ร้านค้า ภายในสิ้นเดือนมิถุนายนปีนี้ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการร้านอาหารในการต่อยอดธุรกิจ และแบ่งเบาภาระการลงทุนเครื่องใช้ไฟฟ้าในการพัฒนากิจการ

นายวรฉัตร กล่าวต่อไปว่า “สำหรับทุกผลิตภัณฑ์สินเชื่อของแกร็บ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป เรายังคงเลือกนำเสนอแผนการผ่อนชำระแบบรายวัน ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริการของเราสามารถตอบโจทย์ผู้ประกอบการรายย่อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีรายได้เป็นรายวัน ดังนั้น การต้องทยอยเก็บเงินมาชำระคืนเป็นรายเดือนจึงอาจสร้างความรู้สึกว่าเป็นภาระที่ค่อนข้างสูง ในขณะที่การผ่อนชำระรายวัน รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรมและเหมาะสมสามารถช่วยให้บริหารจัดการค่าใช้จ่าย และลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบได้ นอกจากนี้ ยังออกแบบประสบการณ์ให้สะดวกและรวดเร็ว โปร่งใสและเข้าใจง่าย โดยนำเสนอสินเชื่อแก่คนขับและร้านค้าที่ผ่านเกณฑ์ และพาร์ทเนอร์สามารถเลือกวงเงินและระยะเวลาการผ่อนชำระได้เองผ่านแอปพลิเคชัน โดยไม่ต้องยื่นเอกสารเพิ่มเติม ก่อนจะดำเนินการโอนเงินภายใน 1 วัน อีกทั้งยังนำเสนอบริการผ่อนชำระสินค้าด้วยอัตราดอกเบี้ย 0% ซึ่งถือเป็นการนำบริการทางการเงินที่มักนำเสนอให้แก่เฉพาะกลุ่มพนักงานประจำและผู้ถือบัตรเครดิต มานำเสนอให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยอีกด้วย”

“แนวทางในการนำเสนอบริการสินเชื่อที่แกร็บ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ได้ยึดถือมาตลอดการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยเป็นเวลากว่า 2 ปี เป็นการตอกย้ำถึงพันธกิจของเราในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคม ผ่านการนำเสนอเทคโนโลยีด้านการเงินที่มีความยืดหยุ่นบนแพลตฟอร์มของแกร็บ ในขณะเดียวกัน ความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายอย่างลึกซึ้งจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจของเรา โดยเราจะเดินหน้าพัฒนาการให้บริการทางการเงินอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งมอบบริการทางการเงินที่เหมาะสม เป็นประโยชน์ และตรงกับความต้องการของกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้พวกเขาสามารถก้าวข้ามวิกฤติไปได้” นายวรฉัตร กล่าวสรุป

*รายงานผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ ปี 2563 โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า สินเชื่ออุปโภคบริโภคที่ให้บริการโดยธนาคารพาณิชย์ในปี 2563 ขยายตัว 4.6% ลดลงจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัว 7.5%