เมื่อ 50 ปีที่แล้ว บริษัท IBM เปิดตัวฟลอปปีดิสก์ไดรฟ์ (Floppy Disk) ตัวแรกอย่าง IBM 23FD และมันถูกใช้งานมาอย่างยาวนานหลังจากนั้นกว่า 20 ปี จนปัจจุบัน แม้ว่าจะไม่มีการใช้งานฟลอปปีดิสก์กันแล้ว แต่มันได้กลายเป็นไอคอนสัญลักษณ์ของการบันทึกไฟล์บนแอปพลิเคชั่นต่างๆ อยู่จนถึงทุกวันนี้
จุดเริ่มต้นของ Floppy Disk
ในช่วงทศวรรษ 1960 เนื่องจากอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์เมนเฟรมที่ใช้หน่วยความจำทรานซิสเตอร์โซลิดสเตท ที่ข้อมูลจะสูญหายไปเมื่อปิดเครื่อง ด้วยเหตุนี้ IBM จึงต้องการวิธีโหลดซอฟต์แวร์ระบบที่รวดเร็วเมื่อบูตเครื่องเพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการโหลดข้อมูลจากบัตรเจาะรู (punched card) หรือ เทปแม่เหล็กนั้นช้าและใช้เวลานานมาก
ในปี 1967 จึงเป็นการเริ่มต้นการค้นหาสื่อบันทึกข้อมูลแบบถอดได้ที่สามารถเก็บข้อมูลโดยไม่ต้องใช้พลังงานและสามารถเคลื่อนย้ายไปยังไซต์การติดตั้งคอมพิวเตอร์ระยะไกลๆ ได้อย่างง่ายและสะดวก หลังจากนั้นทีมวิศวกรของ IBM ที่นำโดย David L. Noble ได้คิดค้นแผ่นพลาสติกแบบยืดหยุ่นหมุนได้ซึ่งชุบด้วยเหล็กออกไซด์ที่สามารถเก็บประจุแม่เหล็กได้คล้ายกับเทปแม่เหล็กและปรับปรุงรูปลักษณ์ให้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น โดยทีมงานได้วางแผ่นดิสก์ไว้ในกล่องพลาสติกที่ล้อมรอบด้วยผ้าที่สามารถกวาดฝุ่นออกไปในขณะที่ดิสก์กำลังหมุนอยู่
ในปี 1971 IBM เปิดตัว ฟลอปปีดิสก์ไดรฟ์ เชิงพาณิชย์ตัวแรกของโลกอย่าง IBM 23FD Floppy Disk Drive System รูปทรงสี่เหลี่ยมขนาด 8 นิ้ว ความจุประมาณ 80 KB แต่มีข้อจำกัดคือดิสก์สามารถอ่านข้อมูลเท่านั้นไม่สามารถเขียนได้ IBM เรียกสื่อบันทึกตัวใหม่ว่า “ฟลอปปีดิสก์” เพราะมีความยืดหยุ่นไม่เหมือนฮาร์ดดิสก์แผ่นอลูมิเนียมแข็งที่มีมาก่อนหน้า
ในปี 1973 IBM ออกฟลอปปีดิสก์ตัวใหม่อย่าง ฟลอปปีไดรฟ์ 33FD โดยเรียกมันว่า IBM Diskette โดยผู้ใช้สามารถเขียนข้อมูลลงไปยังดิสก์และอ่านจากดิสก์ได้ จากนั้นสื่อ IBM Diskette แบบอ่าน-เขียนได้ตัวใหม่พบการใช้งานครั้งแรกใน IBM 3740 Data Entry System ซึ่งบริษัทได้ออกแบบมาเพื่อแทนที่ระบบป้อนข้อมูล “keypunch” ที่ใช้อยู่ในขณะนั้นซึ่งจะเขียนข้อมูลลงในกองการ์ดที่เจาะกระดาษ
ฟลอปปีดิสเก็ตต์แสดงถึงความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการจัดเก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยแต่ละดิสเก็ตจะเทียบเท่ากับบัตรเจาะประมาณ 3,000 ใบในความจุข้อมูล เมื่อเทียบกับกองการ์ดเจาะรูขนาดใหญ่ ฟลอปปีดิสก์มีขนาดเล็ก พกพาสะดวก น้ำหนักเบา ราคาไม่แพง และสามารถเขียนซ้ำได้
จากยุคของคอมพิวเตอร์เมนเฟรมสู่ยุคพีซี
ฟลอปปีดิสก์ไดรฟ์มีบทบาทสำคัญในการปฏิวัติคอมพิวเตอร์พีซีในช่วงกลางทศวรรษ 1970 ในปี 1976 บริษัท Shugart Associates ได้คิดค้นฟลอปปีไดรฟ์ขนาด 5.25 นิ้ว ซึ่งอนุญาตให้ใช้สื่อและไดรฟ์ที่มีขนาดเล็กลงกว่าเดิมและราคาไม่แพง
จากนั้น ฟลอปปีไดรฟ์กลายเป็นอุปกรณ์มาตรฐานสำหรับคอมพิวเตอร์พีซีเชิงธุรกิจช่วงต้นในช่วงปลายทศวรรษ 1970
ปี 1981 คอมพิวเตอร์ IBM PC 5150 มาพร้อมกับช่องใส่ฟล็อปปี้ดิสก์ภายในขนาด 5.25 นิ้ว สองตัว ซึ่งช่วยให้ใช้งานในอุตสาหกรรมได้ดียิ่งขึ้น
รูปแบบของฟลอปปีดิสก์ที่น่าสนใจ
- Magnetic Disk Cartridge ขนาด 8 นิ้ว ปี 1971 เป็นการเปิดตัวฟลอปปีขนาด 8 นิ้วตัวแรกของ IBM มีข้อมูลเพียง 80 KB ออกแบบให้อ่านได้เท่านั้น ไม่สามารถเขียนได้
- IBM Diskette ขนาด 8 นิ้ว ปี 1973 เป็นฟลอปปีแบบอ่าน-เขียนตัวแรกของ IBM เปิดตัวพร้อม IBM 3740 Data Entry System มีความจุเริ่มต้น 250 KB ต่อมามีการปรับปรุงให้มีความจุถึง 1.2 MB
- ดิสก์ขนาด 5.25 นิ้ว ปี 1976 คิดค้นโดย Shugart Associates ความจุเริ่มต้น 88 KB เท่านั้น ภายหลังในปี 1982 พัฒนาให้จุได้ 1.2 MB
- ดิสก์ขนาด 3 นิ้ว ปี 1982 เป็นโปรเจคร่วมกันระหว่าง Maxell, Hitachi และ Matsushita โดย Compact Floppy จัดทำในรูปแบบของกรอบพลาสติกแข็งมีความจุขั้นต้น 125 KB และต่อมาขยายเป็น720 KB
- Apple FileWare ขนาด 5.25 นิ้ว ปี 1983 เป็นฟลอปปี้รูปแบบพิเศษที่มีหน้าต่างหัวอ่าน 2 หัว ใช้กับคอมพิวเตอร์ Apple Lisa เท่านั้น ความจุ 871 KB
- ฟลอปปีดิสก์ ขนาด 3.5 นิ้ว ปี 1983 เป็นการออกแบบของ Sony ใช้แพร่หลายในหลายบริษัท รองรับความจุ 360 KB สำหรับด้านเดียว และ 720 KB สำหรับ 2 ด้าน
- ฟลอปปีดิสก์ ขนาด 2 นิ้ว ปี 1989 Sony และ Panasonic เปิดตัวฟลอปปีไดรฟ์ขนาด 2 นิ้ว โดยใช้ในโปรแกรมประมวลผลคำภาษาญี่ปุ่น กล้องถ่ายภาพนิ่ง และโน๊ตบุ๊ก Zenith Minisport ของ Sony มีความจุ 812 KB ส่วนของ Panasonic มีความจุ 720 KB
- ฟลอปปีดิสก์ ขนาด 3.5 นิ้ว ปี 1991 พัฒนาโดย Insite Peripherals สามารถจุได้ 21 MB ต่อแผ่น
- Zip Disk ปี 1995 ของ Iomega ความจุ 100 MB กลายเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจในช่วงปลายทศวรรษ 1990 และรุ่นใหม่ที่ออกหลังจากนั้นจุได้ถึง 750 MB
- Imation SuperDisk ขนาด 3.5 นิ้ว ปี 1996 เป็นฟลอปปีดิสก์รุ่นสุดท้าย มาในรูปแบบดิสก์แม่เหล็กขนาด 120 MB ที่มีความหนาแน่นข้อมูลสูง จากนั้นในปี 2001 Imation เปิดตัวดิสก์รุ่นความจุ 240 MB
ฟลอปปีดิสก์กลายเป็นไอคอนเซฟไฟล์
ผู้คนจำนวนมากใช้ฟลอปปีดิสก์ในการเก็บข้อมูลบนคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่ปี 1980 – 1990 และโปรแกรมซอฟต์แวร์ในยุค GUI แสดงการบันทึกข้อมูลลงดิสก์ด้วยไอคอนรูปฟลอปปีดิสก์เพื่อความเข้าใจง่ายของผู้ใช้งาน
ช่วงทศวรรษต่อมา มีแนวโน้มในการใช้การบันทึกข้อมูลด้วยไอคอนรูปฟลอปปีดิสก์ในโปรแกรมต่างๆ เช่น Microsoft Word และ Microsoft Paint เป็นต้น
สิ่งนี้นำไปสู่การวิพากย์วิจารณ์จากผู้ใช้คอมพิวเตอร์รุ่นหลังๆ ที่ไม่ได้เติบโตมากับยุคฟลอปปีดิสก์ ถึงขั้นที่มีเด็กๆ คิดว่าฟลอปปีดิสก์ คือ การนำไอคอนเซฟในคอมพิวเตอร์มาพิมพ์จากเครื่องพิมพ์ 3 มิติด้วยซ้ำ
ในการออกแบบอินเตอร์เฟสนั้นจะมีการใช้สัญลักษณ์ต่างๆ แทนความเข้าใจ เช่น
- การตั้งค่า จะใช้ไอคอนที่เป็นรูปฟันเฟือง ประแจ ไขควง ที่เป็นอุปกรณ์ช่าง
- แอปกล้องถ่ายรูป จะใช้สัญลักษณ์เป็นกล้องถ่ายรูป
- แอปโทรศัพท์ จะใช้สัญลักษณ์เป็นโทรศัพท์แบบโบราณ
ถึงแม้ว่าคนรุ่นหลังจะไม่รู้จักว่าฟลอปปีดิสก์คืออะไร แต่เชื่อว่าพวกเขาคงเรียนรู้ได้ว่าฟลอปปีดิสก์เป็นตัวแทนของการบันทึกข้อมูล
ตอนอวสานของ Floppy Disk
หลังจากการมาถึงของไดรฟ์ซีดีรอมในทศวรรษ 1980 รวมถึงการใช้งานซีดีรอมอย่างแพร่หลายในปี 1990 และการแข่งขันระหว่าง Zip Disk , CD-R และ USB Thumb Drive ทำให้ฟลอปปีดิสก์ขนาด 3.5 นิ้วความจุ 1.44 MB เดินทางมาถึงวาระสุดท้าย
ทางด้าน Apple ตัดสินใจอย่างเด็ดขาดเกี่ยวกับฟลอปปีดิสก์ในปี 1998 โดยการเปิดตัว iMac ที่ไม่มีช่องฟลอปปีดิสก์ไดรฟ์ทุกประเภทมาให้เลย โดย Apple สันนิษฐานว่าผู้คนเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมการโอนถ่ายข้อมูลผ่าน LAN , CD-ROM และอินเทอร์เน็ตกันได้ ซึ่งดูเหมือน Apple จะคิดถูก
แต่ยังมีผู้ใช้บางคนที่ยังคงใช้ฟลอปปีดิสก์ในการถ่ายโอนข้อมูลในช่วงปลายยุค 2000 และในที่สุด จุดสิ้นสุดของฟลอปปีดิสก์ก็มาถึงในปี 2010 โดย Sony ประกาศหยุดการผลิตฟลอปปีดิสก์ในเดือนมีนาคม 20211 เนื่องจากความต้องการที่ลดลงอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม การใช้ฟลอปปีดิสก์นั้นยังคงอยู่ ในปี 2019 ระบบอาวุธนิวเคลียร์บางระบบของสหรัฐอเมริกายังคงต้องใช้ฟลอปปีดิสก์ขนาด 8 นิ้วเพื่อให้ระบบทำงานได้อย่างถูกต้อง แม้จะมีการอัปเกรดระบบเหล่านี้ให้เป็นแบบไม่มีฟลอปปีดิสก์แล้วก็ตาม ในปี 2020 สื่อ The Register รายงานว่าเครื่องบินโบอิ้ง 747 ยังคงได้รับการอัปเดตซอฟต์แวร์ที่สำคัญๆ บนฟลอปปีดิสก์ 3.5 นิ้ว
ที่มา : HowtoGeek