เนเธอร์แลนด์ สร้างสะพานข้ามคลอง ด้วยการพิมพ์ 3 มิติ แห่งแรกของโลก

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิตินั้นมาไกลจริงๆ เมื่อล่าสุด MX3D ได้เปิดตัวสะพานเหล็กที่สร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติแห่งแรกของโลก ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์

นี่เป็นสะพานที่ทำจากเหล็กจริงๆ สร้างขึ้นมาด้วยการพิมพ์ 3 มิติแห่งแรกของโลก โดยสะพานเหล็กนี้จะตั้งอยู่บริเวณเหนือคลอง Oudezijds Achterburgwal ที่เป็นคลองที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงอัมสเตอร์ดัม ตั้งอยู่ในย่าน Red Light District มีการเปิดตัวสะพานอย่างเป็นทางการไปเมื่อ 15 กรกฏาคมที่ผ่านมา โดยมีสมเด็จพระราชินีมักซิมาแห่งเนเธอร์แลนด์เป็นประธานในการเปิด

MX3D world first 3D printed steel bridge

นาย Micha Mos ที่ปรึกษาเทศบาลเมืองอัมสเตอร์ดัมกล่าวว่า สะพานที่สร้างโดยบริษัท MX3D นี้จะกลายเป็น landmark และสถานที่ท่องเที่ยวของเมือง

สะพานแห่งนี้เปิดให้ประชาชนใช้ได้ แต่จะอนุญาตให้เฉพาะคนเดินเท้าและนักปั่นจักรยานเท่านั้น เพื่อไม่ให้สะพานต้องรับน้ำหนักที่มากเกินไป

MX3D world first 3D printed steel bridge

สะพานแห่งนี้ถูกออกแบบโดย Joris Laarman นักออกแบบชาวดัตช์ มีความยาว 12 เมตร กว้าง 6.3 เมตร มีการออกแบบให้ตัวสะพานนั้นดูโดดเด่น พร้อมกับมีใช้โครงสะพานที่ดูทันสมัย โดยมี MX3D เป็นบริษัทที่พัฒนาเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ ด้วยสะพานที่สร้างจากเทคนิคการพิมพ์ 3 มิติ และมีการใช้หุ่นยนต์ในการประกอบและเชื่อมต่อสะพาน โดยใช้เวลา 6 เดือน ใช้สแตนเลสในการสร้างสะพานกว่า 4,500 กิโลกรัม

การสร้างสะพานนี้ขึ้นมาก ไม่เพียงแต่เป็นพิสูจน์ศักยภาพและการขยายขีดจำกัดของเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ แต่ยังเป็นการประหยัดงบประมาณในการสร้างลงด้วย

MX3D world first 3D printed steel bridge

สะพานนี้ นอกจากจะสร้างขึ้นมาจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ มันยังเป็นสะพานอัจฉริยะที่ทันสมัยอีกด้วย โดยมีทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Imperial College London เข้ามาดูแลติดตั้งเซ็นเซอร์ที่ช่วยในการตรวจสอบสถานะของโครงสร้างสะพานแบบเรียลไทม์ เพื่อดูว่าสะพานมีส่วนไหนทรุด ชำรุด หรือต้องซ่อมบำรุง รวมถึงมีเซ็นเซอร์ที่วัดความหนาแน่นของการจราจรบนสะพานแบบเรียลไทม์ด้วย เพื่อดูเรื่องของการรับน้ำหนักของสะพานจากการสัญจรข้ามสะพานไป-มา

ที่สำคัญ สะพานเหล็กนี้ จะช่วยไขความกระจ่างในเรื่องของความทนทานในระยะยาวของเหล็กที่มาจากการพิมพ์ 3 มิติ รวมถึงการใช้งานโครงสร้างจริงที่เป็นไปได้ในอนาคต หากสะพานมีความคงทนและแข็งแรงมากพอ เชื่อว่าหลังจากนี้ เราอาจได้เห็นสิ่งปลูกสร้าง/สิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่สร้างจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติมากขึ้นในอนาคต

ที่มา : NewScientist | designboom | EURONEWS

นักเขียนหน้าใหม่ ผู้หลงไหลในเรื่อง แมว หมี เทคโนโลยี และ โลกของไอที :)