NIA

NIA พลิกโฉมอุตสาหกรรมอาหารด้วย DeepTech แนะภาคผลิต – สตาร์ทอัพใช้ 9 นวัตกรรม

NIA เร่งพาไทยพลิกโฉมอุตสาหกรรมอาหารด้วย DeepTech แนะภาคผลิต – สตาร์ทอัพใช้ 9 นวัตกรรมตอบดีมานด์ผู้บริโภคหลังเปิดประเทศ

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เดินหน้ายกระดับอุตสาหกรรมอาหารผ่านการใช้เทคโนโลยีเชิงลึก หรือดีพเทค (DeepTech) หวังเร่งอัตราการเติบโตของสตาร์ทอัพสายอาหารทั้งภาคการผลิตและบริการ พร้อมสร้างอัตลักษณ์ให้กับธุรกิจนวัตกรรมอาหารไทย โดยมีแนวทางสำคัญ ได้แก่ การส่งเสริมให้มีการสร้างสรรค์สินค้า หรือนวัตกรรมที่เป็นการบริการ การเป็นพี่เลี้ยงให้สตาร์ทอัพ การดึงสตาร์ทอัพด้านฟู้ดเทคต่างชาติ เข้ามาจัดตั้งบริษัทในไทย รวมถึงความร่วมมือกับภาคเอกชนในการผลักดันกรุงเทพมหานครสู่ “Bangkok Food Tech Silicon Valley” นอกจากนี้ ยังเผยถึงโอกาสการพัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึกในธุรกิจอาหารที่สามารถสร้างมูลค่าและการเติบโตหลังเปิดประเทศใน 9 ด้าน เช่น Restaurant Tech (เทคโนโลยีการบริหารจัดการ ร้านอาหาร) Alternative Proteins (การผลิตโปรตีนทางเลือก) และ Health & Wellness (การพัฒนาอาหารเพื่อสุขภาพ) เป็นต้น

NIA DeepTech

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า จากปัญหาการระบาดของเชื้อโควิด-19 ปัญหาภาวะโลกร้อน อัตราส่วนประชากรโลกที่เป็นผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น พฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลต่อระบบการผลิตอาหาร ดังนั้น การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารทั้งด้านการบริการ การผลิต จึงเป็นเรื่องที่ NIA ให้ความสนใจและสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสนับสนุนเทคโนโลยีเชิงลึก หรือที่เป็นที่รู้จักทั่วไปว่า “ดีพเทค (Deeptech)” ซึ่งขณะนี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการทำธุรกิจนวัตกรรมหลายประเภทในประเทศไทย รวมทั้งยังเป็นเครื่องมือในการสร้างความแตกต่างให้กับผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพ รวมถึงภาพลักษณ์ด้านนวัตกรรมของประเทศ

จะเห็นได้ว่าในช่วงระยะ 1 – 2 ปีที่ผ่านมา NIA ได้เร่งสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสม และเอื้อสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึกให้กับอุตสาหกรรมอาหารมากขึ้น เนื่องจากเล็งเห็นถึงความสมดุลของจำนวนผู้เล่นในอุตสาหกรรมดังกล่าว ที่มีเป็นจำนวนมาก แต่กลับมีสัดส่วนในการนำนวัตกรรมมาใช้เป็นจำนวนน้อย ตลอดจนสนับสนุนรูปแบบนวัตกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ จากกลุ่มสตาร์ทอัพที่มีโซลูชัน ที่น่าสนใจ โดยมุ่งเน้นแนวทางที่สำคัญ ได้แก่

1. การส่งเสริมให้มีการสร้างสรรค์สินค้าหรือนวัตกรรมที่เป็นการบริการ เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภค และบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งการทำนวัตกรรมบริการถือเป็นตัวดึงดูดให้เกิดการร่วมทุน – ลงทุน รวมถึงเพิ่มทางเลือกในการแข่งขันที่ส่วนใหญ่มักจะมุ่งแข่งขันกันในด้านนวัตกรรมการผลิตเพียงอย่างเดียว และยังเป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยบริหารจัดการร้านอาหาร โรงงานผลิตให้ก้าวสู่ทิศทางที่ดีขึ้น

2.การเป็นพี่เลี้ยงให้สตาร์ทอัพผ่านโปรแกรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทั้งในกระบวนการบ่มเพาะธุรกิจ (Incubator) โดยการให้คำปรึกษาและคำแนะนำแก่สตาร์ทอัพตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นไอเดียให้เกิดรูปแบบธุรกิจ ที่มีประสิทธิภาพ และโครงการสนับสนุนเพื่อเร่งการเติบโตของสตาร์ทอัพ (Accelerator) เพื่อเพิ่มมูลค่าธุรกิจที่มีอยู่แล้ว ซึ่งทั้งสองแนวทางนี้จะทำให้สตาร์ทอัพไทยเติบโตในตลาดอาหารได้เร็วยิ่งขึ้น

3.การดึงสตาร์ทอัพด้านฟู้ดเทคต่างชาติเข้ามารับเงินทุนจากบริษัทอุตสาหกรรมด้านอาหารของไทย พร้อมตั้งบริษัทในกรุงเทพมหานครและจดทะเบียนเป็นบริษัทไทย เพื่อให้ผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพไทยที่ต้องการใช้เทคโนโลยีเชิงลึก เกิดการเรียนรู้โมเดลธุรกิจที่มีความเป็นสากล พร้อมแลกเปลี่ยนเทคนิค – องค์ความรู้ด้านนวัตกรรมที่สำคัญที่จะนำไปใช้ในทางธุรกิจ

4. ความร่วมกับภาคเอกชนในการผลักดันกรุงเทพมหานครสู่ “Bangkok FoodTech Silicon Valley” ซึ่งเป็นแนวทางในการสร้างการรับรู้ด้านอัตลักษณ์ทางนวัตกรรมอาหารที่สำคัญนอกเหนือจากการเป็น สตรีทฟู้ด และดึงดูดให้เกิดการใช้ประโยชน์ในเชิงพื้นที่เพื่อการลงทุนในระยะยาว

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ดีจะเห็นได้ว่าในช่วงการระบาดของเชื้อโควิด – 19 อุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบไม่มากนัก ซึ่งเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ให้เห็นว่าไทยในฐานะผู้นำด้านอุตสาหกรรมอาหารของโลกยังมีโอกาสที่จะเพิ่มมูลค่าและผลักดันอุตสาหกรรมนี้ให้เติบโตขึ้นได้ โดยเฉพาะในช่วงใกล้เปิดประเทศที่คาดว่าความต้องการอาหารจะยังคงเพิ่มสูงขึ้น 

NIA จึงได้วิเคราะห์โอกาสการเติบโต ของการพัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึกในธุรกิจอาหารใน 9 รูปแบบ ได้แก่ การพัฒนาอาหารเพื่อสุขภาพ (Health & Wellness) ที่ตอบโจทย์กระแสความต้องการอาหารปลอดภัย ของผู้บริโภคทั่วโลก การผลิตโปรตีนทางเลือก (Alternative Proteins) มาทดแทนเนื้อสัตว์ เช่น โปรตีนจากพืช แมลง หรือสาหร่าย การพัฒนาบรรจุภัณฑ์แห่งอนาคต (Packaging Solutions) ที่เป็นมากกว่าการป้องกันอาหาร หรือความสวยงาม แต่บรรจุภัณฑ์นั้นจะต้องมีฟังก์ชันที่หลากหลาย เช่น ยืดอายุอาหารให้เก็บได้นานขึ้น เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

การคิดค้นส่วนผสมและสูตรอาหารใหม่ (Novel Food & Ingredients) ด้วยกระบวนการผลิตด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้ได้รสชาติที่แปลกใหม่ ตลอดจนการดึงคุณค่าจากส่วนผสมของอาหารเพื่อคุณประโยชน์ ในการบริโภคที่มากขึ้น การพัฒนาวัสดุชีวภาพและสารเคมี (Biomaterials & Chemicals) ที่ไม่เป็นอันตรายในกระบวนการผลิตอาหารของกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม เทคโนโลยีการบริหารจัดการร้านอาหาร (Restaurant Tech) เพื่อสร้างระบบบริการที่ดีมากยิ่งขึ้น เช่น การสร้างประสบการณ์ในการบริโภคอาหารให้ลูกค้าเฉพาะกลุ่ม

การจัดการอาหารเหลือทิ้ง บริการอัจฉริยะด้านอาหาร (Smart Food Services) ที่ตอบโจทย์กับวิถีชีวิตใหม่ ๆ รวมถึงการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาจัดการตั้งแต่กระบวนการสรรหาวัตถุดิบ การขนส่ง และการปรุง การตรวจสอบควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร (Food Safety & Quality) เพื่อบริหารจัดการให้อาหาร และสินค้าเกษตรที่นำมาเป็นอาหารบริโภคสำหรับมนุษย์มีความปลอดภัย มีคุณภาพผ่านกระบวนการควบคุมด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง และกระบวนการผลิตอาหารอัจฉริยะ (Smart Manufacturing) ที่เกิดจากการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และนวัตกรรม นำไปสู่ระบบการตรวจสอบ ประมวลผล ติดตามในกระบวนการทำงานของอุตสาหกรรมอาหาร