เรียกว่าเป็นบริษัทสตาร์ทอัพที่ไม่เคยหยุดนิ่งจริง ๆ สำหรับ บล็อคฟินท์ ฟินเทคสตาร์ทอัพที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาโซลูชันแบบ System Software ด้วยเทคโนโลยี Blockchain ล่าสุด ได้นำระบบการจัดสรรหุ้นให้พนักงาน ที่เรียกว่า Employee Stock Ownership Plan หรือ ESOP มาใช้ในองค์กร เพื่อให้พนักงานสามารถเป็นเจ้าของบริษัทได้
จุดตั้งต้นของ ESOP ที่บล็อคฟินท์
สุทธิพงศ์ กนกากร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บล็อคฟินท์ จำกัด เล่าถึงการให้หุ้นแก่พนักงาน เป็นสิ่งที่นิยมทำกันมากในต่างประเทศที่รู้จักกันดีในชื่อ ESOP ที่มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ 2517 และใช้กันอย่างแพร่หลายในสหรัฐอเมริกา โดยปัจจุบันมีประมาณ 11,000 บริษัทที่มีการใช้ ESOP และพนักงานกว่า 8 ล้านคนมีส่วนเกี่ยวข้อง และด้วยประสบการณ์ตรงที่ได้ทำงานที่ซิลิคอนวัลเลย์มากว่า 20 ปี แล้วได้รับประโยชน์จาก ESOP ว่าสามารถสร้างมูลค่าให้พนักงานได้ เลยนำวัฒนธรรมการถือหุ้นของพนักงานแบบอเมริกามาใช้กับบล็อคฟินท์
“ผมไปทำงานอยู่ที่ซิลิคอนวัลเลย์มาตั้งแต่ปี 2536 และได้มีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับแนวคิดเรื่อง ESOP ที่ให้หุ้นแก่พนักงาน เพื่อดึงดูดคนเก่งๆ ให้มาทำงานด้วย โดยการให้หุ้นกับพนักงานเพื่อให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ (Sense of Ownership) ร่วมกัน เพราะการแข่งขันของบริษัทที่นั่นมีสูงมาก บริษัทขนาดเล็ก ที่แม้ว่าจะมีเทคโนโลยีดีๆ แต่อาจจะสู้ค่าตอบแทนกับบริษัทขนาดใหญ่ไม่ได้ เลยมีแนวคิดเรื่อง ESOP นี้ออกมาซึ่งคนสมัครงานก็จะตัดสินใจเลือกว่าอยากจะรับเงินเดือนก้อนใหญ่ๆ หรือเลือกรับเงินเดือนกับบริษัทขนาดย่อมลงมาที่จ่ายน้อยกว่า แต่มีโอกาสถือหุ้นในบริษัทที่กำลังเติบโตมี value สูงๆ ที่อาจจะทำกำไรให้ได้ในอนาคต”
“การที่บล็อคฟินท์นำ ESOP มาใช้กับพนักงาน เพราะอยากให้พวกเขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับบริษัท ผมเชื่อในวัฒนธรรม sense of ownership อย่างมากว่าจะช่วยให้บริษัทเติบโตและประสบความสำเร็จ เพราะหากบริษัทเติบโต หุ้นที่พวกเขามีก็จะให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นไปด้วย สิ่งที่ตามมาคือจะทำให้เขาตั้งใจทำงานมากขึ้น หรือช่วยกันทำงานอย่างจริงจัง แล้วก็อยู่กับบริษัทนานขึ้นด้วย โดยไม่มีการจำกัดว่าหุ้นที่จะจัดสรรต้องเป็นเฉพาะผู้บริหารระดับสูงเท่านั้น เพราะทุกคนในบริษัทควรจะได้มีสิทธ์ได้รับตามสัดส่วนในการทำงาน”
สำหรับ ESOP ที่บล็อคฟินท์ จะใช้วิธีให้ Stock Option ทุกปีกับพนักงานที่มีผลงานดี โดยราคาก็จะเป็นไปตามราคามูลค่าตามบัญชี (Book Value) ของบริษัท ซึ่งจะถูกกว่าราคาที่นักลงทุนจะจ่ายเงิน จำนวนของหุ้นที่ได้จะไม่เท่ากัน ขึ้นกับมูลค่าหุ้นของบริษัทที่ขายให้นักลงทุนได้ในตอนนั้น อีกทั้งยังเปิดให้พนักงานเลือกได้ด้วยว่าจะเอาเงินเดือนน้อยลง แล้วเอาหุ้นที่มีมาใช้เป็นราคาสิทธิ์ (exercise price) ที่มากขึ้นได้ โดยปริมาณหุ้นที่บล็อคฟินท์กันเอาไว้สำหรับพนักงานนั้นสูงสุดถึง 20 เปอร์เซ็นต์
“ผมมองว่า ESOP เป็นเครื่องวัดทัศนคติในการทำงานอีกแบบหนึ่ง เพราะบล็อคฟินท์ต้องการพนักงาน ที่รับความเสี่ยงได้บ้าง และรู้จักที่จะคำนวณความเสี่ยง มีความเข้าใจว่าต้องช่วยกันทำงาน เพื่อเป้าหมายในการเติบโตของบริษัท โดยผมตั้งเป้าไว้สำหรับ software engineer เก่งๆ ว่าอยากให้เขาได้จับเงิน 10 ล้านหรือมากกว่านั้นจาก Stock Option ในระยะเวลา 4-6 ปี ซึ่งผมก็หวังว่าถ้าเราประสบความสำเร็จขึ้นมา พนักงานเราจะเอาเงินที่ได้มาไปทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำ” คุณสุทธิพงศ์ กล่าวเสริม
การสร้างบรรทัดฐานของเส้นทางอาชีพให้กับ software engineer
คุณสุทธิพงศ์ ยังเผยถึงมุมมองเกี่ยวกับคนทำงานสาย Tech ซึ่งเป็นสายงานหลักของบริษัทสตาร์ทอัพในประเทศไทยว่า คนทำสายนี้ หรือคนเขียน Software อย่าง software engineer ที่มีคุณภาพสูงในประเทศไทยยังขาดแคลน เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยอาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับอาชีพนี้เท่าที่ควร ทำให้คนที่อยู่ในสายงานนี้ผลตอบแทนไม่สูง ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนสายงาน บล็อคฟินท์จึงต้องการสร้างบรรทัดฐานให้สตาร์ทอัพในเมืองไทยให้คุณค่าแก่คนทำงานและสร้าง career path ที่ดีให้กับคนทำงานด้านนี้ ด้วยการนำระบบ ESOP มาใช้ เพื่อให้คนกลุ่ม Tech สามารถเติบโตในสายงานของตัวเองโดยไม่ต้องย้ายตัวเองไปทำงานอื่นที่ให้ผลตอบแทนมากกว่า
“สิ่งที่ผมทำไป ไม่ใช่แค่เฉพาะบล็อคฟินท์เท่านั้น แต่ผมมุ่งหวังจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านพื้นฐานในประเทศไทยด้วย ผมอยากสร้างตัวอย่างให้ธุรกิจเห็นความสำคัญของคนทำงานสาย tech หรือ software engineer มากขึ้น หากบริษัทสตาร์ทอัพ หรือธุรกิจอื่นๆ นำ ESOP เข้ามาใช้ ก็จะสามารถช่วยดึงมาตรฐานของคนเขียนซอฟต์แวร์ และเพิ่มปริมาณคนด้านนี้ในระยะยาว อีกทั้งจะทำให้คนเก่ง หันมาเขียนโค้ดมากขึ้น” คุณสุทธิพงศ์กล่าวสรุป