Delta

DELTA ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดตัวงานแฮกกาธอน ภายใต้โครงการ Delta Angel Fund 2021 ผ่านระบบออนไลน์

บมจ. เดลต้า อีเล็คโทรนิกส์ (ประเทศไทย) ร่วมมือกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมและพันธมิตร เปิดตัวงานแฮกกาธอน (Hackathon) ภายใต้โครงการ Delta Angel Fund สำหรับสตาร์ทอัพประจำปี 2564 ผ่านระบบออนไลน์ครั้งแรก

สำหรับปีนี้ เดลต้าได้รับความร่วมมือจากอีกหนึ่งบริษัทในการเป็นผู้สนับสนุนระดับองค์กรเพื่อส่งเสริมธุจกิจสตาร์ทอัพในไทยที่จะได้เข้าร่วมแข่งขันในรายการเรียลิตี้โชว์ ธุรกิจพิชิตล้าน Shark Tank Thailand เพื่อโอกาสที่จะได้รับการลงทุนเพิ่มเติมจากรายการ สืบเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 กิจกรรมการแข่งขันแฮกกาธอนครั้งนี้จึงถูกจัดขึ้นผ่านระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก

วัตถุประสงค์ของแฮกกาธอนคือการให้ผู้นำด้านอุตสาหกรรมเช่นเดลต้าช่วยสนับสนุนการสร้างศักยภาพของธุรกิจสตาร์ทอัพในไทยผ่านการแบ่งปันความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ในทางกลับกัน เดลต้าเองก็มุ่งหาโอกาสในการสร้างความร่วมมืออันเป็นประโยชน์กับธุรกิจสตาร์ทอัพเหล่านี้เพื่อยกระดับและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย

แจ็คกี้ จาง ประธานบริษัทเดลต้า ประเทศไทย กล่าวผ่านช่องทางออนไลน์ว่า “ในนามของเดลต้า ประเทศไทย ขอขอบคุณพันธมิตรและธุรกิจสตาร์ทอัพๆ ที่เข้าร่วมงานนี้ เนื่องจากความสำเร็จของโครงการ Delta Angel Fund ในปีนี้ บริษัทได้เพิ่มกิจกรรมแฮกกาธอนเข้ามา ซึ่งทีมที่ชนะจะถูกคัดเลือกจากโซลูชันที่เกี่ยวข้องกับเดลต้าและธุรกิจของพันธมิตร บริษัทหวังว่าการขยายโครงการครั้งนี้จะทำให้ธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทยมีโอกาสประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น แม้ประเทศกำลังเผชิญกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ท้าทายก็ตาม”

ในช่วงเช้า ผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 13 ทีมได้นำเสนอแผนธุรกิจต่อคณะกรรมการ ซึ่งผู้ที่ผ่านเข้ารอบ 6 ทีมจะมีสิทธิในการเข้าแข่งขันรอบตัดสินในช่วงบ่าย โดยจะมีเพียง 2 ทีมเท่านั้นที่ชนะในรอบตัดสิน ซึ่งทีมที่เข้าแข่งขันต้องสามารถนำแผนธุรกิจที่ตอบสนองปัญหาดังต่อไปนี้ได้

  1. วิธีการสร้างโซลูชันธุรกิจที่สามารถแก้ไขปัญหาระบบควบคุมอุณหภูมิภายในอาคารสำนักงาน
  2. วิธีการนำเทคโนโลยีการสื่อสารบนคลาวด์ (Cloud Communications) มาช่วยในการควบคุมและตรวจสอบสถานีสูบน้ำ
  3. วิธีการสร้างระบบบริหารจัดการการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
  4. วิธีการนำผลิตภัณฑ์และบริการของเดลต้าไปต่อยอดสร้างโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ อย่างสร้างสรรค์

เมื่อแต่ละทีมนำเสนอแผนธุรกิจเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาภายใต้ประเด็นดังกล่าวแล้ว โดยเกณฑ์การตัดสินจะพิจารณาจากการรวมคะแนนของการแข่งขันทั้งสองรอบเพื่อนำมาสรุปเป็นคะแนนรวมในการตัดสินผลการแข่งขัน

ผู้ชนะการแข่งขันโครงการ Delta Angel Fund 2021 ทั้ง 2 ทีม ได้แก่

  • ผู้ชนะเลิศ: ทีม SafeTrip และ โอโบดรอยด์ (Obodroid) นำเสนอระบบจัดการและป้องกันน้ำท่วม (FMWS) โดยมุ่งเน้นการควบคุมปัญหาน้ำท่วมในนิคมอุตสาหกรรมของประเทศไทยด้วยระบบการควบคุมแบบศูนย์กลาง และการเฝ้าระวังระดับน้ำที่สถานีสูบน้ำผ่านการใช้เทคโนโลยีการส่งสัญญาณแบบไร้สาย 3G และกล้องวงจรปิด เพื่อให้สามารถตรวจสอบระดับน้ำและควบคุมสถานีสูบน้ำจากทางไกลได้ เพียงแค่ใช้โทรศัพท์มือถือ โดยระบบจัดการและป้องกันน้ำท่วมนี้นำระบบควบคุมการทำงาน (PLC), เร้าเตอร์อุตสาหกรรม 4G, ซอฟต์แวร์ SCADA และอุปกรณ์ขยายสัญญาณ/เพิ่มพอร์ต Ethernet Switch ของเดลต้ามาประยุกต์ใช้ ทำให้สามารถควบคุมอุปกรณ์เคลื่อนที่หน้างานและแสดงผลแบบเรียลไทม์ผ่านหน้าจอในห้องควบคุมได้
  • รองชนะเลิศอันดับที่ 1: ทีม Multi-Senses นำเสนอผลงานระบบการบำรุงรักษาอัจฉริยะ ระบบนี้สามารถช่วยเหล่าผู้จัดการในการตรวจเช็คการบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ (Predictive Maintenance) ด้วยวิธีการส่งข้อมูลเพื่อแสดงสถานะเครื่องจักรแบบเรียลไทม์ โดยระบบนี้ได้ประยุกต์ใช้ตัวควบคุมการทำงาน (PLC), อุปกรณ์ขยายสัญญาณ/เพิ่มพอร์ต Ethernet Switch, และซอฟต์แวร์ SCADA ของเดลต้า เพื่อส่งต่อการวิเคราะห์ที่แม่นยำ รวมถึงข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของการบำรุงรักษาเครื่องจักรผ่านการลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของอุปกรณ์ให้กับเหล่าผู้จัดการโรงงาน

เดลต้าได้ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เพื่อให้ทุนแก่ธุรกิจสตาร์ตอัพผ่านทางกองทุน Angle Fund เป็นเวลากว่า 6 ปีที่ผ่านมา เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลไทยในการพัฒนาผู้ที่มีความสามารถในประเทศไทยและบ่มเพาะภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา เดลต้าได้ให้การสนับสนุนแก่ 158 ทีมในกองทุน Angle Fund ด้วยจำนวนเงินกว่า 16 ล้านบาท โดยเงินทุนจากเดลต้าสามารถช่วยธุรกิจสตาร์ตอัพสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไทยได้อย่างโดดเด่นรวมกว่า 500 ล้านบาท