Garner คาดการณ์รายได้จากการเปิดให้บริการโครงสร้างพื้นฐานเครือข่าย 5G ทั่วโลก จะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วที่ 39% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 19.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีนี้ เพิ่มจาก 13.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2563
มร.ไมเคิล โพโรสกี้ นักวิเคราะห์อาวุโสของการ์ทเนอร์ กล่าวว่า “ผู้ให้บริการด้านการสื่อสาร (CSPs) ในตลาดใหญ่ ๆ ที่เร่งเปิดให้บริการ 5G ในปีก่อนและปีนี้จะมีสัดส่วนรายได้จาก 5G อยู่ที่ 39% ของรายได้จากเครือข่ายไร้สายทั้งหมดที่เปิดให้บริการในปีนี้ ซึ่งการแพร่ระบาด COVID-19 กระตุ้นความต้องการในการเพิ่มประสิทธิภาพและการเชื่อมต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ที่มีความเร็วสูงสำหรับใช้ทำงานจากที่บ้านและการใช้แอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ที่กินแบนด์วิธสูง อาทิ การชมสตรีมวิดีโอ เล่นเกมออนไลน์ และใช้แอปพลิเคชั่นโซเชียลมีเดีย”
เครือข่าย 5G เติบโตรวดเร็วที่สุดในกลุ่มตลาดโครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายไร้สาย (ดูตามตารางที่ 1) และเป็นโอกาสการลงทุนเดียวที่สร้างการเติบโตสำคัญแก่ผู้ให้บริการ เนื่องจากแนวโน้มการลงทุนในเครือข่ายไร้สายรุ่นก่อน ๆ กำลังลดลงรวดเร็วทุกภูมิภาครวมถึงการใช้จ่ายในเซลล์เครือข่ายขนาดเล็กที่ไม่ใช่ 5G ตามที่ผู้ให้บริการสื่อสารหันไปใช้เซลล์เครือข่ายขนาดเล็กของ 5G แทนที่
คาดการณ์รายได้โครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายไร้สายทั่วโลก (หน่วย: ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
ที่มา: การ์ทเนอร์ (เดือนสิงหาคม 2564)
ในระดับภูมิภาค ผู้ให้บริการด้านการสื่อสารในแถบอเมริกาเหนือตั้งเป้ามีรายได้เพิ่มจากบริการ 5G จากเดิม 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีก่อน เป็น 4.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีนี้ ส่วนนึงจากการนำคลื่นความถี่แบบไดนามิกมาปรับใช้ร่วมกันและเพิ่มสถานีฐานรับ-ส่งสัญญาณคลื่นแบบ mmWave ขณะที่ผู้ให้บริการในยุโรปตะวันตกกลับให้ความสำคัญกับการออกใบอนุญาตคลื่นความถี่ การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานหลักให้ทันสมัยเพื่อรองรับการใช้งานบนอุปกรณ์พกพาและปรับบริการให้เข้ากับกระบวนการกำกับดูแล ซึ่งคาดว่าจะมีรายได้จาก 5G เพิ่มเป็น 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีนี้ จาก 794 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว โดยประเทศจีนยังคงรักษาตำแหน่งผู้นำเบอร์ 1 ของโลก ด้วยรายได้จากเครือข่าย 5G สูงแตะ 9.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีนี้ เพิ่มจาก 7.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากปี 2563
ในอีก 3 ปี สัญญาญ 5G จะครอบคลุมพื้นที่เมืองหลักทั่วโลกถึง 60%
จากปีก่อนที่มีเพียง 10% ของผู้ให้บริการสื่อสารที่เปิดบริการ 5G เชิงพาณิชย์ การ์ทเนอร์คาดว่าภายในปี 2567 ตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 60% ใกล้เคียงกับอัตราการปรับใช้เครือข่าย LTE และ 4G ในอดีต เนื่องจากความสำเร็จในการเปิดให้บริการในหลากหลายภูมิภาคพร้อม ๆ กัน
“ความต้องการของธุรกิจและกลุ่มลูกค้าเป็นปัจจัยเร่งที่มีอิทธิพลต่อการเติบโตดังกล่าว เมื่อผู้บริโภคกลับมาทำงานที่ออฟฟิศ พวกเขาจะอัปเกรดหรือเปลี่ยนไปใช้อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ความเร็วสูงภายในบ้านผ่านสายเคเบิ้ลใยแก้วนำแสง (FTTH) เนื่องจากการเชื่อมต่อได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับบริการระยะไกล โดยผู้ใช้จะคัดสรรผู้ให้บริการเครือข่ายอย่างละเอียดเมื่อต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตทั้งที่ออฟฟิศและจากบ้านเพิ่มขึ้น” มร.โพโรสกี้ กล่าวเพิ่มเติม
พฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วช่วยกระตุ้นการเติบโตเทคโนโลยีโครงข่ายเชิงแสงแบบพาสซีฟ (Passive Optical Network หรือ PON) ในตลาดทั่วโลก ให้กลายเป็นเทคโนโลยีที่ใคร ๆ ก็ต้องการ โดยที่เทคโนโลยี 10 Gigabit-capable symmetric-PON (XGS-PON) ไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่และด้วยราคาที่ต่างกันกับเทคโนโลยีอื่น ๆ ผู้ให้บริการยินดีลงทุนในเทคโนโลยี XGS-PON เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่แตกต่างให้กับลูกค้าและเสริมคุณภาพให้กับเครือข่าย การ์ทเนอร์คาดว่าภายในปี 2568 จะมีผู้ให้บริการสื่อสารชั้นนำประมาณ 60% นำเทคโนโลยี XGS-PON มาปรับใช้ในวงกว้างเพื่อขยายบริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเป็นพิเศษแก่ผู้ใช้ตามบ้านและเชิงพาณิชย์ เพิ่มขึ้นจากเดิมที่น้อยกว่า 30% ในปี 2563
ลูกค้าการ์ทเนอร์สามารถคลิกอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่รายงาน “Forecast Analysis: Communications Service Provider Operational Technology, Worldwide” และ “Forecast: Communications Service Provider Operational Technology, Worldwide, 2019-2025, 2Q21 Update.”