NIA ร่วมสมาคมเฮลธ์เทค เปิดระบบมอนิเตอร์อาการผู้ป่วยโควิดสีเขียว รักษาตนเองที่บ้านผ่านระบบไลน์โอเอ ใช้จริงแล้วในโรงพยาบาล 50 แห่ง
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับสมาคมเฮลธ์เทคไทยสนับสนุนการพัฒนา “Covid-19 Home Isolation Telemedicine” ระบบติดตามอาการผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการไม่มาก หรืออยู่ในระดับสีเขียว ผ่าน LineOA เพื่อให้ได้รับการดูแลจากทีมแพทย์อย่างใกล้ชิด โดยระบบดังกล่าวได้นำร่องใช้จริงแล้วในโรงพยาบาลพื้นที่ต่างจังหวัดกว่า 50 แห่ง และคาดว่าอาจจะมีผู้ป่วยที่ได้รับการช่วยเหลือผ่านระบบมากกว่า 50,000 คน
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้มีผู้ป่วยติดเชื้อเป็นจำนวนค่อนข้างมาก ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งมีระบบรองรับและเตียงเพื่อการรักษาผู้ป่วยที่ไม่เพียงพอ ทั้งนี้ ล่าสุดภาครัฐจึงได้ออกมาตรการอนุญาตให้โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล สามารถดูแลผู้ป่วยภายใต้ระบบการแยกกักตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการไม่มาก หรืออยู่ในระดับสีเขียว เพื่อสำรองเตียงให้กับผู้ป่วยที่เข้าข่ายอาการหนัก แต่มาตรการดังกล่าวก็อาจส่งผลให้หลายภาคส่วนกังวลถึงแนวทางปฏิบัติตัว และการดูแลผู้ป่วยที่ต้องกักตัวที่บ้านของโรงพยาบาล รวมถึงผู้ป่วยเองก็อาจจะเกิดความกังวลเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ป่วยที่อาการไม่หนักให้ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากทางทีมแพทย์ NIA จึงได้สนับสนุนให้สมาคมเฮลธ์เทคไทย และบริษัท พรีซีชั่น ไดเอทซ์ จำกัด สร้างแพลตฟอร์ม Covid-19 Home Isolation Telemedicine ซึ่งเป็นระบบมอนิเตอร์อาการสำหรับผู้ป่วยที่ต้องกักตัวเองที่บ้านผ่านระบบ LineOA อีกทั้งยังเป็นระบบการเฝ้าสังเกตอาการ ให้คำแนะนำกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 หากพบว่าผู้ป่วยเริ่มมีอาการหนักทางโรงพยาบาลจะส่งรถพยาบาลไปรับเพื่อเข้าสู่ชั้นตอนการรักษา รวมถึงการดูแลช่วยเหลือในส่วนต่างๆ เพื่อสร้างความอุ่นใจให้แก่ผู้ป่วย โดยเชื่อว่าจะช่วยสร้างความความมั่นใจให้แก่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 และเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่ระบบสาธารณสุขไทยในช่วงที่ทั่วประเทศกำลังเผชิญกับภาวะวิกฤตเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม ในการพัฒนาระบบดังกล่าวทางกลุ่มสตาร์ทอัพผู้พัฒนาระบบได้มีการเข้าไปติดตั้งระบบให้แก่โรงพยาบาลในพื้นที่ต่างจังหวัดเรียบร้อยแล้ว
“การส่งเสริมสตาร์ทอัพด้านเฮลธ์เทคให้สามารถสร้างนวัตกรรม หรือแพลตฟอร์มสำหรับการบริการสุขภาพทางไกลขึ้นมารองรับความต้องการใช้งานของระบบสาธารณสุขเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ NIA ได้ให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง โดยตระหนักดีว่านวัตกรรมคือเครื่องมือสำคัญในการช่วยเหลือประชาชนและทีมแพทย์ได้เป็นวงกว้าง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ โดย NIA ยังคงมีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมการแพทย์ที่หลากหลายผ่านการสนับสนุนเงินทุน และเครือข่าย เพื่อยกระดับระบบสาธารณสุขของไทย และสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ของประชาชนให้ทัดเทียมกันทั่วประเทศ” ดร.พันธุ์อาจ กล่าวสรุป
นายพงษ์ชัย เพชรสังหาร กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท พรีซีชันไดเอทซ์ จำกัด หรือ Dietz.asia กล่าวว่า สำหรับการทำ Home isolation และ Community isolation เป็นระบบที่ต่อยอดมาจากระบบโควิดแทร็กเกอร์ (Covid Tracker) ที่ใช้สังเกตอาการผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม ซึ่งตนและทีมงานได้ต่อยอดระบบเป็น Covid-19 Home Isolation Telemedicine เพื่อรองรับมาตรการกักตัวที่บ้านสำหรับผู้ป่วยสีเขียวหรือผู้ป่วยที่มีอาการไม่มาก เพื่อเอื้อให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลสามารถติดต่อ เช็คอาการ และคอยให้คำปรึกษากับผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ได้อย่างใกล้ชิด และง่ายมากยิ่งขึ้นผ่านการทำงานของระบบ LineOA ซึ่งประชาชนสามารถแอดไลน์ของโรงพยาบาลในพื้นที่บริการของตนเอง จากนั้นระบบจะทำการเชื่อมต่อข้อมูลของผู้ใช้งานไปยังศูนย์บริการของทางโรงพยาบาล
โดยระหว่างกักตัวที่บ้านจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อเพื่อตรวจเช็คอาการประมาณ 2 ครั้งต่อวัน ซึ่งผู้ป่วยจะต้องทำการวัดไข้ วัดค่าออกซิเจนในเลือด ด้วยอุปกรณ์ที่โรงพยาบาลจัดส่งไปให้ พร้อมรายงานผลเบื้องต้นเข้ามาผ่าน Line@ นอกจากนี้ หากผู้ป่วยมีข้อสงสัย หรือกังวลเกี่ยวกับอาการยังสามารถวีดิโอคอลสอบถามกับเจ้าหน้าที่ได้ตลอดเวลา และหากระหว่างการกักตัวอยู่บ้านแล้วพบว่าอาการของผู้ป่วยเริ่มแย่ลงทางโรงพยาบาลจะจัดส่งไปรับตัวเข้าสู่ขั้นตอนการรักษาทันที
นางพงษ์ชัย กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้มีการเข้าไปติดตั้งระบบให้แก่โรงพยาบาลในพื้นที่ต่างจังหวัดแล้วกว่า 50 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดการกระจายนวัตกรรมไปยังพื้นที่อื่น ๆ ให้ประชาชนได้เข้าถึงระบบสุขภาพทางไกลที่ช่วยให้การรักษา หรือกระบวนการกักตัวของผู้ป่วยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนไม่รู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง สำหรับประสิทธิภาพการทำงานของ Covid-19 Home Isolation Telemedicine พบว่า ระบบสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เจ้าหน้าที่สามารถสอบถามอาการ และให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยได้อย่างครอบคลุมทุกรายที่ต้องกลับไปดูแลตัวเองที่บ้านทั้งในกรณีที่ติดเชื้อแต่อาการไม่หนัก หรือผู้ติดเชื้อที่ผ่านกระบวนรักษาจนหายและต้องกลับไปกักตัวต่อที่บ้าน โดยคาดว่าอาจจะมีผู้ป่วยที่ได้รับการช่วยเหลือผ่านระบบมากกว่า 50,000 คน