Facebook ต้องการพัฒนาอัลกอริทึมใหม่ ที่ติดตามทุกพฤติกรรมของผู้ใช้ ทั้งสิ่งที่มองเห็น ได้ยิน และจดจำสิ่งต่างๆ

หากโลกนี้ มีอุปกรณ์ที่สามารถติดตามข้อมูลทุกอย่างในชีวิตประจำวันของเราได้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่มองเห็น เสียงที่ได้ยิน และจดจำทุกสิ่งที่เราสนใจ ชีวิตของคนบนโลกจะเป็นยังไง?

และมันจะยิ่งเพิ่มดีกรีความน่าขนลุกขึ้นไปอีก หากเจ้าอุปกรณ์ที่ว่านั้น ผลิตขึ้นมาโดย Facebook

เมื่อไม่นานมานี้ Facebook ต้องเผชิญเข้ากับการถูกอดีตพนักงานนำข้อมูลภายในที่สำคัญออกมาเปิดเผย เกี่ยวกับความ toxic ของแอป , อัลกอริทึมที่อาจสนับสนุนเนื้อหารุนแรงเพื่อเพิ่มยอด engagement รวมถึงประเด็นเรื่องความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว

เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา Facebook ได้เปิดตัว Ray-Ban Stories แว่นตาอัจฉริยะ รวมถึงพัฒนา AI ที่สามารถมองเห็นและได้ยินสิ่งต่างๆ รอบตัวผู้ใช้ แล้วยังสามารถจดจำได้ ซึ่งมองว่าเป็นเทคโนโลยีที่น่าสนใจมาก โดย AI ที่ว่าอาจกำหนดเป้าหมายที่แตกต่างออกไปจากเครือข่ายโซเชียลของ Facebook และมองว่าแว่นตา AR ดังกล่าวเป็นเทคโนโลยีที่บริษัทกำลังพัฒนาเพื่ออนาคต

Facebook is developing new algorithms that can track everything you do

อัลกอริทึมแว่น AR ของ Facebook

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา Facebook เปิดตัวโครงการ Ego4D โดยมีความคิดริเริ่มเกี่ยวกับ AI ด้วยความมุ่งหมายเพื่อแก้ปัญหาการวิจัยเกี่ยวกับ egocentric perception หรือแนวคิดที่ใช้ตัวเอง/อัตตา เป็นศูนย์กลางเสมอ โดย Facebook ต้องการพัฒนาอัลกอริทึมที่ช่วยให้ AI สามารถตอบโต้กับโลกได้เหมือนกับที่ผู้คนปกติทำ โดยที่ AI จะเรียนรู้ทุกอย่างจากมุมมองของวิดีโอแบบ first-person นั่นคือ การพัฒนามุมมองของ AI ที่มีต่อโลกภายนอก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาแว่นตา AR

ลองนึกถึง AR ที่คุณเคยเห็นในภาพยนตร์ Marvel อย่าง JARVIS ในเรื่อง Iron Man ที่ Tony Stark โต้ตอบกับ AI ของเขา อัลกอริทึมสามารถดูและได้ยินทุกอย่างที่เขาทำ และมันยังสามารถฉายข้อมูลเสมือนที่ Iron Man มองเห็นได้ทันทีเมื่อโต้ตอบกับอุปกรณ์ต่างๆ

นั่นแหละ คือสิ่งที่ Facebook ต้องการให้อัลกอริทึมทำได้

จากคลิปที่เห็น Facebook อธิบายว่า บริษัทได้พัฒนาความท้าทาย benchmark 5 ประการสำหรับการพัฒนา AI อัจฉริยะ โดย Facebook ต้องการให้ AI เป็นขุมพลังเพื่อขับเคลื่อนแว่นตาให้สามารถจดจำเหตุการณ์ในอดีตได้ จากนั้น ทำนายได้ว่าผู้ใช้งานต้องการจะทำอะไรต่อ , ตรวจจับและเรียนรู้ว่าผู้ใช้มีปฏิสัมพันธ์กับวัตถุในชีวิตจริงอย่างไร และนึกถึงสิ่งที่เคยกล่าวหรือทำเอาไว้ในอดีตได้ ดังต่อไปนี้

  1. Episodic memory : เป็นเรื่องของหน่วยความจำที่จดจำเหตุการณ์ว่า มันเกิดอะไรขึ้น? มันเกิดขึ้นเมื่อไหร่? เช่น ผู้ใช้ลืมกุญแจไว้ที่ไหน?
  2. Forecasting : เป็นเรื่องเกี่ยวกับการพยากรณ์ว่าผู้ใช้กำลังจะทำอะไรต่อไป เช่น เฮ้ย ! เดี๋ยวนะ คุณใส่เกลือลงไปแล้วนี่นา
  3. Hand and object manipulation : เป็นเรื่องของการควบคุมมือและวัตถุ เช่น ผู้ใช้กำลังทำอะไร >> ช่วยสอนวิธีตีกลองให้หน่อยสิ
  4. Audio-visual diarization : เป็นเรื่องเกี่ยวกับการบันทึกความจำภาพและเสียง อย่าง ใครพูดอะไร พูดเมื่อไหร่ เช่น หัวข้อหลักในการเรียนเมื่อเช้าวันนี้คืออะไร และ
  5. Social interaction : เป็นเรื่องเกี่ยวกับการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เช่น ใครมีปฏิสัมพันธ์กับใคร เช่น การให้ AI ช่วยทำให้ผู้ใช้ได้ยินสิ่งที่คู่สนทนาพูดด้วยในร้านอาหารที่มีเสียงดังหน่อยได้มั้ย
Facebook is developing new algorithms that can track everything you do

ความสำเร็จของอัลกอริทึม VS ความเป็นส่วนตัว

แต่ … เพื่อที่จะทำให้อัลกอริทึม Facebook ประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจเอาไว้ AI จะต้องเข้าถึงทุกสิ่งที่ผู้ใช้ทำในขณะที่สวมใส่แว่นตา AR อยู่ มันจะต้องบันทึกวิดีโอ รวมถึงบุคคลอื่นๆ , การประมวลผลเสียง และจัดเก็บข้อมูลจำนวนมาก ดังนั้นมันจึงมีผลกระทบต่อเรื่องความเป็นส่วนตัวแน่นอน และอาจเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถทำให้บริษัทพัฒนาอัลกอริทึมและประสบการณ์ของ AI ได้ตามที่ต้องการ

ที่แน่ๆ บริษัทต้องทำการโน้มน้าวผู้ใช้ให้ไว้วางใจด้วยข้อมูลทั้งหมดที่แว่นตา AR สร้างขึ้น นั่นเป็นหัวข้อสำคัญที่ Facebook ไม่ครอบคลุมเอาไว้ในวิดีโอข้างต้น

อย่างไรก็ตาม Facebook ยังไม่ได้พูดอะไรเกี่ยวกับอัลกอริทึมดังกล่าวว่า มันจะรวบรวมข้อมูลเพื่อวัตถุประสงค์ในการโฆษณาหรือไม่ แต่เรื่องนี้ไม่สามารถมองข้ามไปได้ เพราะแน่นอนว่าเมื่อผู้ใช้ได้ยินว่า AI จะสามารถมองเห็น ได้ยิน และจดจำสิ่งต่างๆ ได้ สิ่งที่ผู้ใช้กังวลเป็นอันดับแรก แม้จะพัฒนา AI ออกมาฉลาดแค่ไหน ก็คงหนีไม่พ้นการมีประเด็นเรื่องของความเป็นส่วนตัว

ทางโฆษกของ Facebook ได้บอกกับทางเว็บไซต์ The Verge ว่า การป้องกันเรื่องความเป็นส่วนตัวจะได้รับการพัฒนาในภายหลัง ซึ่งอ่านแล้วรู้สึกน่าเศร้าใจที่เรื่องความเป็นส่วนตัวกลับไม่ถูกให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ ในการพัฒนาอัลกอริทึมระดับสูงของ Facebook เราคงต้องติดตามกันต่อไปว่า Facebook จะพัฒนาอัลกอริทึมขั้นสูงนี้ต่อไปยังไง

ที่มา : BGR

นักเขียนหน้าใหม่ ผู้หลงไหลในเรื่อง แมว หมี เทคโนโลยี และ โลกของไอที :)