เมื่อเร็วๆ นี้ Huawei ได้ทำการตัดสินใจที่สำคัญสำหรับตลาดในประเทศแคนาดา คือ สั่งปิดสาขาในแคนาดา รวมถึงเลิกจ้างพนักงานกว่า 4,500 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวแคนาดา รวมถึงปฏิเสธที่จะให้ใช้ สิทธิบัตร 5G ของ Huawei ในแคนาดา
การตัดสินใจดังกล่าว อาจเป็นการประกาศสงครามเศรษฐกิจกับทางแคนาดา โดยชนวนของเรื่องนี้ อาจเริ่มมาจากการที่ Meng Wanzhou ที่เป็น CFO และลูกสาวของผู้ก่อตั้ง Huawei ได้ถูกควบคุมตัวในแคนาดาเป็นเวลานานเกือบ 3 ปี ก่อนจะปล่อยตัวให้กลับจีนได้ในไม่กี่วันมานี้ ทั้งที่ทาง Huawei ได้รวบรวมหลักฐานหลายต่อหลายครั้ง ให้ความร่วมมือในการสอบสวนอย่างเข้มงวดเพื่อต้องการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของ Meng Wanzhou แต่ทางการแคนาดากลับปฏิเสธที่จะดูหลักฐานซ้ำแล้วซ้ำเล่า
การเคลื่อนไหวในครั้งนี้ของ Huawei น่าจะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อแคนาดา อย่างการปิดสาขาและประกาศเลิกจ้างพนักงาน 4,500 คน ส่งผลให้มีชาวแคนาดาที่กำลังจะตกงานเป็นจำนวนมาก อีกทั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา 6G ในแคนาดานั้น คาดว่า Huawei น่าจะย้ายไปที่อื่นเช่นกัน
นอกจากนี้ แคนาดาจะไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิบัตร 5G ของ Huawei ส่งผลให้ธุรกิจที่ต้องสร้างขึ้นโดยพึ่งพาเทคโนโลยี 5G ในแคนาดานั้นล่าช้าออกไปอีก แม้แคนาดาจะไม่อยากข้องเกี่ยวกับทาง Huawei สักเท่าไหร่ แต่คงไม่สามารถหลีกเลี่ยง/ตัดขาดการใช้เทคโนโลยีของ Huawei ได้อย่างสมบูรณ์ เพราะปัจจุบัน Huawei เป็นบริษัทที่มีสิทธิบัตร 5G มากที่สุดในโลก มากถึง 3,147 ฉบับ นั่นหมายความว่า Nokia และ Ericsson ยังต้องการการสนับสนุนเทคโนโลยี 5G จาก Huawei อยู่ ดังนั้น 2 บริษัทดังกล่าวจึงไม่สามารถให้บริการที่เกี่ยวข้องกับ 5G ได้ในแคนาดา
ทางออกของแคนาดานั้นอาจเป็นการสร้างสถานี 5G ใหม่ภายในประเทศเสียเอง แต่หากดูจากสถานการณ์ต่างๆ ในปัจจุบัน คาดว่าความเป็นไปได้นั้นมีน้อยมากที่จะเกิดขึ้น ที่สำคัญ ความร่วมมือต่างๆ ของทางการแคนาดากับบริษัทต่างๆ จากประเทศจีนก็ยังไม่แน่นอน
ก่อนหน้านี้ ออสเตรเลียได้ประกาศยกเลิกความร่วมมือกับ Huawei ในปี 2018 นับตั้งแต่นั้นมา Huawei เริ่มทำการโต้ตอบด้วยการปิดศูนย์วิจัยและพัฒนาในออสเตรเลีย , ถอนเงินลงทุน 490 ล้านหยวน และเลิกจ้างพนักงานประมาณ 1,000 คน ตั้งแต่นั้นมา อุตสาหกรรมต่างๆ ในออสเตรเลียก็ได้รับผลกระทบที่แตกต่างกันไป จึงมองว่าวิถีการพัฒนาของแคนาดานั้นน่าจะคล้ายกับออสเตรเลียด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ HUAWEI เตรียมเรียกเก็บค่า สิทธิบัตร 5G ที่ไม่ได้มีเพียงแต่แคนาดาเท่านั้น แต่บริษัทชั้นนำต่างๆ อย่าง Apple และ Samsung ก็โดนด้วย โดยมีราคาเรียกเก็บต่ออุปกรณ์สูงสุดที่ 2.5 ดอลลาร์
ราคาดังกล่าวอาจไม่สูงเท่าบริษัทอื่นเรียกเก็บ อย่างเช่น Nokia อยู่ที่ 3.58 ดอลลาร์ต่ออุปกรณ์ , Ericsson เรียกเก็บที่ 2.5 – 5 ดอลลาร์ ส่วน Qualcomm นั้นเรียกเก็บสูงถึง 7.5 ดอลลาร์ต่ออุปกรณ์
ที่มา : iNews