iKala Commerce เผย ราคา ความหลากหลาย และความสะดวกสบาย คือปัจจัยสำคัญดึงดูดนักช้อปไทยบนช่องทางโซเชียลคอมเมิร์ซ จำนวนออเดอร์ ยอดขายรวม และรายได้เฉลี่ยต่อคำสั่งซื้อ เพิ่มสูงขึ้นในประเทศไทย
รายงานผลสำรวจล่าสุดจาก iKala Commerce ผู้นำด้านการให้บริการโซลูชั่นเทคโนโลยี AI เพื่อธุรกิจโซเชียลคอมเมิร์ซ แบบครบวงจรให้แก่ธุรกิจในประเทศไทยและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เผยว่า กลุ่มนักช้อปชาวไทยนิยมซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยปัจจัยด้านความสะดวกสบาย (83%) ความหลากหลายและตัวเลือกสินค้า (77%) และราคา (74%) โดยในปี 2564 จำนวนออเดอร์บนโซเชียลคอมเมิร์ซที่มาจากกลุ่มนักช้อปชาวไทยเพิ่มสูงขึ้นกว่า 129%
รายงาน Riding the Pandemic Wave & Beyond ปี 2021 การสำรวจความเห็นของกลุ่มผู้ซื้อสินค้าบนโซเชียลมีเดียกว่า 1,600 คน และร้านค้าพาร์ทเนอร์ของ iKala กว่า 23,000 ราย จากประเทศไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ พบว่าการซื้อสินค้าบนโซเชียลมีเดียได้รับความนิยมแซงหน้าช่องทางค้าปลีกแบบดั้งเดิม กลายเป็นช่องทางการซื้อสินค้าที่เหล่านักช้อปชื่นชอบ ในขณะที่อีคอมเมิร์ซยังคงเป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมสูงสุดของนักช้อปชาวไทย (90%) ช่องทางโซเชียลมีเดียก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาเป็นอันดับสอง (77%) และได้รับความนิยมมากกว่าเว็บไซต์ของธุรกิจค้าปลีก (30%) และช่องทางหน้าร้านแบบดั้งเดิม (23%)
“ผู้บริโภคชาวไทยติดหนึ่งในกลุ่มผู้ใช้โซเชียลมีเดียสูงที่สุดในโลก จึงไม่แปลกใจที่เราได้เห็นคนไทยใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียในการค้นหา พิจารณา และซื้อสินค้ามากขึ้น ซึ่งเหตุผลที่โซเชียลมีเดียกลายเป็นช่องทางยอดนิยมนั้นมาจากการที่ผู้คนมองหาช่องทางการช้อปปิ้งที่สะดวกสบาย และราคาเป็นมิตร รวมถึงการที่ร้านค้าขนาดใหญ่ไปจนถึงผู้ขายอิสระก็ได้เพิ่มฟังก์ชั่นและฟีเจอร์ต่างๆ รวมถึงเพิ่มความสร้างสรรค์ให้กับเนื้อหาและการขายเพื่อดึงดูดนักช้อป” มร. เซกะ เชง ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร iKala กล่าว
นอกจากนี้ผลสำรวจยังแสดงให้เห็นว่า เวลาที่ผู้คนใช้บนโซเชียลมีเดียมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับความถี่ในการช้อปปิ้ง และยังพบอีกว่า หลังจากผู้บริโภคชาวไทยเห็นถึงข้อดีของการซื้อสินค้าผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซ นักช้อปส่วนมากก็กลับมาซื้อสินค้าผ่านช่องทางนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเกือบ 9 ใน 10 ของนักช้อปไทย คิดเป็น 88% ซื้อสินค้าผ่านโซเชียลมีเดียมากกว่า 1 ครั้งในแต่ละเดือน ในขณะที่ 1 ใน 5 หรือคิดเป็น 20% ซื้อสินค้าผ่านช่องทางนี้มากกว่า 5 ครั้งต่อเดือน
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ส่งผลต่อจำนวนออเดอร์และมูลค่าการซื้อขายที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ในปี 2564 จำนวนออเดอร์ในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นถึง 129% และยอดขายสินค้ารวมพุ่งขึ้นถึง 64% และที่สำคัญกำไรหรือรายได้เฉลี่ยต่อคำสั่งซื้อก็เพิ่มขึ้นกว่า 92% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผูู้บริโภคไทยไม่เพียงจับจ่ายบนโซเชียลมีเดียบ่อยขึ้น แต่ยังใช้จ่ายสูงขึ้นในแต่ละคำสั่งซื้อด้วย
“เทรนด์เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าโซเชียลคอมเมิร์ซกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว และแสดงถึงโอกาสสำคัญของแบรนด์และร้านค้าออนไลน์รายใหม่ในการกระโดดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโอกาสนี้ได้ เราหวังเป็นอย่างยิ่งกว่าร้านค้าออนไลน์ที่ได้ตัดสินใจใช้โซเชียลคอมเมิร์ซเป็นช่องทางการขายจะสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลสำคัญที่มาจากรายงานของเรา และสามารถปรับตัวเพื่อตอบรับความต้องการที่เปลี่ยนไปรวมถึงความคาดหวังในรูปแบบใหม่ของผู้บริโภค” มร. เซกะ เชง ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร iKala กล่าวเสริม