CiRA CORE2

จีเอเบิล ร่วมสนับสนุน สจล. ติดตั้ง NVIDIA DGX A100 ผลักดัน CiRA CORE แพลตฟอร์ม AI สัญชาติไทย สู่ระดับโลก

จีเอเบิล สนับสนุน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ติดตั้ง ‘NVIDIA DGX A100’ ผลักดัน CiRA CORE (ซีร่า คอร์) แพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ (AI) สัญชาติไทย ยกระดับศักยภาพภาคอุตสาหกรรมของประเทศให้ก้าวทันทัดเทียมระดับโลก

รศ.ดร.ศิริเดช บุญแสง คณบดี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หนึ่งในหัวเรือสำคัญผู้สร้างแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ (AI) สัญชาติไทย ที่ชื่อว่า CiRA CORE (ซีร่า คอร์)กล่าวว่า “โครงการ CiRA CORE ถูกพัฒนาขึ้นเมื่อปี 2562 เป็นงานวิจัยที่ได้รับความร่วมมือของ 3 สถาบันการศึกษาชั้นนำ คือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ผนวกความร่วมมือจากพันธมิตรที่เป็นบริษัทเอกชนชั้นนำของประเทศ ซึ่งปัจจุบันนี้ CiRA CORE ได้มีการพัฒนาเสร็จสมบูรณ์และมีการนำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมเรียบร้อยแล้ว”

ในปัจจุบัน CiRA CORE ถูกนำไปใช้งานอย่างหลากหลาย เช่น นำ AI ไปตรวจสอบคุณภาพของหน้ากากอนามัย การช่วยตรวจสอบตำแหน่งของการเติมปูนในรถบรรทุกในภาคอุตสาหกรรมอย่างโรงงานปูนซีเมนต์ และยังมีการใช้ตรวจเชื้อไวรัสโควิดกลายพันธุ์สนับสนุนการทำงานของทีมแพทย์ในการวิเคราะห์สายพันธุกรรมของไวรัสจากตัวอักษร เพื่อให้สามารถมองภาพรวมแล้วเทียบได้ว่าเป็นไวรัสสายพันธุ์ใด ความแม่นยำสูงถึง 99% โดยในปีนี้มีโอกาสได้รับความร่วมมือจากกลุ่มบริษัทจีเอเบิลที่มีเป้าหมายเดียวกัน ที่อยากเห็นเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมของไทยสามารถใช้งานได้จริงและแข่งขันในระดับนานาประเทศได้ โดยจีเอเบิลเข้ามาช่วยทางเทคนิคหลายด้าน อาทิ เครือข่าย สตอเรจ การออกแบบระบบ ซึ่งต้องสอดรับกับแผนการเติบโตของ CiRA CORE โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จีเอเบิลช่วยในเรื่องการจัดหาเครื่องมือที่ต้องมีพลังการประมวลระดับสูงอย่างซูเปอร์คอมพิวเตอร์ เพื่อนำมาสร้างโมเดล สร้างเซิร์ฟเวอร์ AI นั่นคือการจัดหา NVIDIA DGX A100 ที่สามารถตอบโจทย์ระบบการทำงานของแพลตฟอร์ม CiRA CORE ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

ดร. ชัยยุทธ ชุณหะชา กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทจีเอเบิล กล่าวว่า “จีเอเบิลมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนโครงการ CiRA CORE แพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ที่เป็นของไทยเอง  โดยจีเอเบิลได้เข้ามาช่วยในเรื่องการติดตั้งเครื่อง ‘NVIDIA DGX A100’ ซึ่งมีประสิทธิภาพ เป็นศูนย์ข้อมูลแบบเร่งความเร็วระดับ 5 Petaflops ซี่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะกับการทำปัญญาประดิษฐ์ สิ่งสำคัญที่ช่วยนักวิจัยในการเร่งสปีดของงานวิจัยและนวัตกรรม ทั้งด้านประสิทธิภาพและลดระยะเวลาในการประมวลผล การที่จีเอเบิลได้มีโอกาสเข้ามาสนับสนุนในครั้งนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้เห็นเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ถูกพัฒนาจากบุคลากรของไทยที่มีความรู้ความสามารถ ในการนำไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่แพ้แพลตฟอร์มจากต่างประเทศ ที่ผ่านการพิสูจน์และได้การยอมรับจากสถาบันการศึกษา ภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรมของไทย”

“สิ่งที่หวังไว้คือ CiRA CORE จะต้องเป็นแพลตฟอร์มที่คนไทยพัฒนาประสบความสำเร็จ และอยู่ในตลาดอย่างต่อเนื่อง และเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถต่อยอดไปได้เรื่อยๆ สามารถออกบริการใหม่ๆ ถึงจะอยู่รอดในโลกของนวัตกรรมได้ นอกจากนี้ การที่ประเทศไทยมีแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ของคนไทยเอง มีข้อดีในหลายด้าน ยกตัวอย่างเช่น การขยายผลไปสู่เศรษฐกิจสรางสรรค์ ที่เราจะสามารถหารายได้โดยที่ไม่ต้องสูญเสียทรัพยากร โดยการจ่ายเงินราคาแพงเพื่อซื้อแอปพลิเคชันจากต่างชาติมาใช้ ซึ่งจะทำให้เราสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากร หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง และพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยได้” รศ.ดร.ศิริเดช กล่าวเสริม