กสศ. – ยูเนสโก – ยูนิเซฟ ผนึกกำลังพันธมิตรการศึกษา เปิดเวที “การประชุมวิชาการระดับภูมิภาคเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาและครู:ปวงชนเพื่อการศึกษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. องค์การ ยูเนสโก และองค์การ ยูนิเซฟ ประเทศไทย ผนึกกำลังภาคีเพื่อการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ มูลนิธิสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO)และSave the Childrenเปิดเวทีระดมมุมมองและความคิดเห็นในระดับภูมิภาคในงาน “การประชุมวิชาการระดับภูมิภาคเพื่อครูและความเสมอภาคทางการศึกษา: ปวงชนเพื่อการศึกษา ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”ที่จะจัดขึ้นในวันศุกร์ที่29 ตุลาคม 2564 เวลา 8.30 – 16.30 น. และวันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม 2564 เวลา 9.00 – 16.30 น.ผ่านช่องทางออนไลน์
ภายในงานวันที่ 29 ตุลาคม 2564จะเป็นพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 4 ปี 2564 ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดและทรงปาฐกถาพิเศษเรื่อง“การทรงงานในการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19)และการพัฒนาครูและสถานศึกษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ที่ปรึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)กล่าวถึงจุดประสงค์ของการจัดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติปีนี้ว่า “วิกฤตโควิด-19 คือจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของการศึกษาโลก ระบบการศึกษากำลังเผชิญกับช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ ดังนั้น การประชุมครั้งนี้จึงนำมาสู่การร่วมมือของภาคีเครือข่ายในการร่วมผลักดันเพื่อสร้างกระบวนทัศน์ใหม่สู่การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ฟื้นฟูการเรียนรู้ให้นักเรียนรวมถึงสนับสนุนศักยภาพของ “ครู” ผู้เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเสมอภาคท่ามกลางวิกฤตครั้งนี้”
ผู้ที่สนใจสามารถร่วมฟังการประชุมจากนักวิชาการชื่อดังจากทั่วโลก ผ่านการนำเสนอมุมมองและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ เพื่อเร่งหาทางออกลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ฟื้นฟูการเรียนรู้ให้นักเรียน และผลักดันแนวทางสนับสนุนศักยภาพครู อาทิ
- นายลี ยัน เคิง ผู้อำนวยการสาขาการพัฒนาวิชาชีพ สถาบันครูแห่งประเทศสิงคโปร์ เปิดมุมมองการสนับสนุนครูอย่างมีระบบ และแก้ปัญหา “ปีแห่งการสูญเสียการเรียนรู้”
- นางลูร์เดส รานเจล กอนคลาเวส ครูผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2562 ประเทศติมอร์-เลสเต เล่าประสบการณ์การสอนในพื้นที่ชนบทห่างไกลที่ตั้งอยู่บนภูเขา
- นายซาดัท มินนันดัง ครูผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2562 ประเทศฟิลิปปินส์ กับการสอนเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ผู้อาศัยในเขตพื้นที่รบพุ่งระหว่างพื้นเมืองและรัฐบาล
- ดร. พาเมล่า แคนเทอร์ ผู้ก่อตั้ง Turnaround for Children ที่ปรึกษาอาวุโสด้านวิทยาศาสตร์ และจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดแนวทางจากประเทศสหรัฐอเมริกาในการ
- ส่งเสริมความเสมอภาคด้วยการพัฒนาการศึกษาครู
- ดร. มาริต้า เนโทลา อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยเทอร์คู ประเทศฟินแลนด์ วิทยาเขตรัวม่า แลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม
- (Social-emotional learning) ในประเด็นการศึกษายุคใหม่
- นายโทมิโอะ อิโคมะ ผู้อำนวยการโรงเรียนไดอิจิ กาคุอิน ประเทศญี่ปุ่น นำเสนอกลยุทธ์การยกระดับขีดความสามารถครูในประเทศญี่ปุ่น
นอกจากนั้นยังมีนักวิชาการและผู้ร่วมประชุมชื่อดังจากองค์กรชั้นนำทั่วโลกเข้าร่วมอภิปรายในหัวข้อต่างๆ อีกมากมาย ผู้ที่สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการศึกษาโลก ท่ามกลางความท้าทายของวิกฤตโควิด-19 ในพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 4 ปี 2564 และเวทีวิชาการระดับภูมิภาค “การประชุมวิชาการระดับภูมิภาคเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาและครู: ปวงชนเพื่อการศึกษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” วันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม 2564 เวลา 08.30 – 16.30 น. และวันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม 2564 เวลา 9.00 – 16.30 น. สามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.afe.eef.or.th