การผนวกรวม เทคโนโลยี ระบบ 5G AI และคลาวด์เข้าด้วยกัน ส่งผลให้เกิดการประยุกต์ใช้งานมากมายที่สามารถแก้ไขอุปสรรคความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมซึ่งต้องเผชิญกับการควบคุมคุณภาพ ปัญหาต้นทุนสูงในการซ่อมบำรุงเครื่องจักร ความเสถียรในการเชื่อมต่อ ความปลอดภัยของข้อมูล และค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้น บัดนี้ ถึงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านแล้ว
ปี พ.ศ. 2563 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไทยมีมูลค่าต่ำกว่า 16 ล้านล้านบาท ซึ่งกว่าร้อยละ 30 มาจากกลุ่มอุตสาหกรรม การใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศคิดเป็นร้อยละ 4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไทย โดย ประมาณการว่าภาคอุตสาหกรรมจะเป็นกลุ่มที่มีการใช้จ่ายด้าน ICT สูงสุดในปี พ.ศ. 2564 กล่าวคือ สูงกว่าภาคการเงินร้อยละ 20 และสูงกว่ากลุ่ม ICT ถึงร้อยละ 80
ขณะที่กระแสส่วนใหญ่ของการลงทุนในส่วนนี้จะเป็นไปเพื่อการเปลี่ยนผ่านธุรกิจแบบดั้งเดิมไปสู่ระบบดิจิทัล โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ของคลาวด์ บิ๊กดาต้า (big data) และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยมีรากฐานที่สำคัญคือโครงสร้างพื้นฐานที่มีความคล่องตัว สำคัญต่อการปฏิบัติงาน และสอดคล้องกับข้อตกลงระดับการให้บริการ (SLA)
เทคโนโลยี 5G เป็นการผสานองค์ประกอบสำคัญต่างๆ เข้าด้วยกัน เช่น ค่าความหน่วง (latency) ในการรับส่งข้อมูลแบบต่ำเป็นพิเศษเพื่อการควบคุมแบบเรียลไทม์ การเชื่อมต่อจำนวนมากที่มีความยืดหยุ่นสำหรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ ผ่าน IoT การจำแนกเครือข่ายจำลองให้มีความปลอดภัยและรองรับระบบคอมพิวเตอร์แบบเอดจ์ (edge computing) ไร้สายเพื่อการตอบสนองที่ดียิ่งขึ้น และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เครือข่ายไร้สายที่จะสามารถสื่อสารผ่านอุปกรณ์มือถือผ่านระบบการสื่อสารในระดับองค์กรธุรกิจที่มีความเชื่อถือได้ เพื่อสนองตอบความต้องการของภาคอุตสาหกรรมเฉพาะกลุ่มในแนวดิ่ง (vertical industries)
ในประเทศจีน ได้เริ่มมีการประยุกต์ใช้ระบบ 5G ในโรงงานต่างๆ แล้วกว่า 200 แห่ง และนำมาซึ่งคุณประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมต่อผลการดำเนินงานและต้นทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บริษัท Midea ซึ่งนำระบบ 5G มาใช้แทนเครือข่ายไร้สายแบบเดิมสำหรับรถลำเลียงสินค้าอัตโนมัติ (AGVs) ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพระบบงานโลจิสติกส์ได้ถึงร้อยละ 8 และลดต้นทุนดำเนินงานและซ่อมบำรุง (O&M) ถึงร้อยละ 10 จากการเชื่อมต่อที่มีเสถียรภาพเพิ่มขึ้น ส่วนที่บริษัท IKD ซึ่งเป็นผู้จัดหาชิ้นส่วนอะลูมิเนียมหล่อขึ้นรูปสำหรับรถยนต์ที่มีการใช้งานถึงร้อยละ 70 ของปริมาณรถยนต์ทั้งหมด ก็ได้นำระบบ 5G มาใช้แทนระบบสายเคเบิลที่มีความยาวกว่า 10 กิโลเมตร ซึ่งใช้เดินสายเชื่อมต่อเครื่องจักรกว่า 600 เครื่อง เพื่อลดต้นทุนการซ่อมบำรุงสายเคเบิลลงได้เกือบเป็นศูนย์ และเพิ่มอัตราผลตอบแทนผลิตภัณฑ์ (product yield rate) ขึ้นร้อยละ 10
ขณะที่ระบบ 5G สำหรับภาคการผลิตยังอยู่ระหว่างการพัฒนา ปัญหาสำคัญเห็นได้ง่ายมากเพราะกลุ่มผู้ผลิตในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ และอื่นๆ ต่างพยายามหาหนทางที่จะฟื้นตัวจากภาวะซบเซาในปี พ.ศ. 2563 เพื่อเพิ่มคุณภาพและผลิตภาพ และลดต้นทุน โครงสร้างพื้นฐานระบบ 5G จะช่วยวางรากฐานการให้บริการที่มีความคล่องตัวและเชื่อถือได้ ทั้งยังเป็นย่างก้าวสำคัญที่เบิกทางไปสู่การนำไปประยุกต์ใช้ที่น่าสนใจในภาคการผลิต
วิทยาการหุ่นยนต์ระบบ 5G ในสายการผลิตต่างๆ นับเป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิตเป็นอย่างมาก และสามารถนำไปใช้งานได้ทันทีเพื่อรองรับการผลิตแบบต่อเนื่องและลดค่าแรง ระบบหุ่นยนต์อุตสาหกรรมได้ถูกนำมาใช้เป็นหลักในโรงงานผลิตต่างๆ ที่มีความต้องการผลิตสินค้าปริมาณมาก มีกระบวนการทำงานซ้ำๆ และต้องการความถูกต้องแม่นยำสูง เช่น โรงงานผลิตรถยนต์ อาหาร และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นสามกลุ่มกิจการจากสี่ภาคการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในไทย เมื่อมีการใช้แขนกลที่ถูกโปรแกรมสำหรับกระบวนการทำงานอุตสาหกรรม เช่น สายงานเชื่อม ขนถ่ายวัสดุ บรรจุภัณฑ์ และสายงานประกอบ ระบบวิทยาการหุ่นยนต์จึงจำเป็นต้องมีการเชื่อมต่อความเร็วสูง มีเสถียรภาพ และมีความหน่วงในการรับส่งข้อมูลต่ำ เพื่อรองรับความคล่องตัวและความต่อเนื่องในกระบวนการทำงานอัตโนมัติ
การบำรุงรักษาทางอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยี 5G AR เป็นการใช้เทคโนโลยีคลาวด์แบบโลกเสมือนจริง (Augmented Reality) ในงานซ่อมบำรุงทางอุตสาหกรรม และใช้กล้องที่มีความคมชัดสูงเป็นพิเศษผ่านการเชื่อมต่อความเร็วสูงที่มีค่าความหน่วงในการรับส่งข้อมูลต่ำมาก เพื่ออำนวยความสะดวกแก่การซ่อมบำรุงสำหรับผู้เชี่ยวชาญจากพื้นที่ระยะไกล จากการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญภายในประเทศ ความยุ่งยากจากการใช้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ และต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาที่เครื่องจักรเสีย การบำรุงรักษาทางอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยี 5G AR จะช่วยอำนวยความสะดวกในงานซ่อมบำรุงเครื่องจักรได้ทันทีโดยผู้เชี่ยวชาญที่สามารถปฏิบัติงานได้จากพื้นที่อื่น
นิคมอุตสาหกรรมระบบ 5G จัดให้มีระบบเข้าใช้งานแบบไร้สายประจำที่สำหรับการใช้งานส่วนตัว และรองรับการเชื่อมต่อความเร็วสูงที่มีความน่าเชื่อถือและมีค่าความหน่วงในการรับส่งข้อมูลต่ำ เพื่อใช้เป็นโซลูชันอัจฉริยะสำหรับการผลิตผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ในระบบ 5G โดยเฉพาะที่ใช้ในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีโครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายให้บริการแก่ผู้ผลิต นิคมอุตสาหกรรมระบบ 5G จะทำให้โครงสร้างพื้นฐานไร้สายแบบผสมผสานในระบบเดียวกันมีความมั่นคงปลอดภัย รองรับความต้องการของผู้ผลิตที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอได้เป็นอย่างดี
รถยกควบคุมระยะไกลด้วยระบบ 5G ใช้กล้องระดับ 4K และการเชื่อมต่อความเร็วสูงในการควบคุมการทำงานแบบเรียลไทม์สำหรับรถยกที่ควบคุมจากห้องปฏิบัติงานระยะไกล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อนำไปใช้งานในคลังสินค้าเพื่อยกอุปกรณ์หรือสินค้าคงคลังต่างๆ ในสภาพแวดล้อมที่มีข้อจำกัด เช่น ห้องเย็นสำหรับเก็บอาหาร และพื้นที่อันตรายต่างๆ รถยกด้วยควบคุมระยะไกลด้วยระบบ 5G ที่เชื่อมต่อผ่านเครือข่ายความเร็วสูงที่มีค่าความหน่วงในการรับส่งข้อมูลต่ำจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานได้ดียิ่งขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นวิทยาการหุ่นยนต์ระบบ 5G สำหรับสายการผลิตที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การบำรุงรักษาทางอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยี 5G AR สำหรับงานซ่อมบำรุงทางอุตสาหกรรมโดยผู้เชี่ยวชาญอย่างทันท่วงทีที่จะทำให้มีช่วงเวลาเครื่องจักรเสียเพียงสั้นๆ นิคมอุตสาหกรรมระบบ 5G ที่รองรับเครือข่ายที่มีความยืดหยุ่น มั่นคงปลอดภัย และมีความเสถียร หรือรถยกควบคุมระยะไกลระบบ 5G ที่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและเพิ่มความปลอดภัย การประยุกต์ใช้งานทั้ง 4 กรณีตัวอย่างที่กล่าวมานั้นสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางสำหรับการนำไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดได้ ที่จริงแล้ว การคาดการณ์ในปี พ.ศ. 2568 แสดงให้เห็นว่า เฉพาะ 4 กรณีตัวอย่างของการประยุกต์ใช้งานระบบ 5G จะสามารถสร้างรายได้ในภาคบริการเพิ่มขึ้นได้ถึง 1.4 พันล้านบาท
เพื่อผลักดันให้มีการประยุกต์ใช้งานระบบ 5G และพัฒนาระบบนิเวศที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในประเทศไทย หัวเว่ยจึงจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมระบบนิเวศ 5G (5G Ecosystem Innovation Center) ขึ้น ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ศูนย์ฯ แห่งนี้เป็นการร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับ Open Labs ในประเทศจีน และทั่วโลก และได้ประโยชน์จากการประยุกต์ใช้งานและการถ่ายทอดองค์ความรู้จากพันธมิตรทั่วโลก ศูนย์ 5G EIC เปิดให้ประชาชนเข้าชมได้ มีพันธมิตรกว่า 70 ราย ทั้งยังเป็นศูนย์ฯ บ่มเพาะนวัตกรรม 5G และทดสอบแพลตฟอร์มการให้บริการต่างๆ
ความพร้อมของระบบนิเวศ 5G ในประเทศไทยแสดงให้เห็นด้วยว่า ถึงเวลาแล้วที่จะมีการกำหนดระเบียบและนโยบายเพื่อเร่งรัดการนำเทคโนโลยีด้านการสื่อสารและสารสนเทศรูปแบบใหม่มาประยุกต์ใช้งานจริง ซึ่งสอดรับกับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ประกอบด้วย อุตสาหกรรมอัจฉริยะ เมืองอัจฉริยะ และพลเมืองอัจฉริยะ จึงจำเป็นต้องมีการลงทุนและสนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อบรรลุเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ระบบอุตสาหกรรม 4.0 อย่างครบวงจรภายในปี พ.ศ. 2570
ในส่วนของระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกของประเทศไทย (EEC) ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 40 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไทย และเป็นภาคการผลิตที่ใหญ่ที่สุด รัฐบาลและองค์กรกำกับดูแลท้องถิ่นควรให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยี 5G ไปประยุกต์ใช้งาน และช่วยยกระดับ EEC ไปสู่ความเป็นศูนย์กลางการผลิตระดับแนวหน้าสำหรับการวิจัยและพัฒนา และการนำระบบอัตโนมัติและวิทยาการหุ่นยนต์ ตลอดจนระบบอัจฉริยะต่างๆ ไปใช้ในเชิงพาณิชย์ต่อไป
ในฐานะที่มีสัดส่วนใหญ่ที่สุดต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไทย จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคการผลิตมีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ แนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0 ที่มีเป้าหมายเพื่อยกระดับประเทศไทยไปสู่ระบบดิจิทัลอย่างครบวงจรภายในปี พ.ศ. 2570 จะเกิดขึ้นได้ด้วยการพัฒนานโยบายและระบบนิเวศ 5G ที่มีประสิทธิภาพเพื่อการนำไปประยุกต์ใช้งาน EEC จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี นำโดยชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ การแปรรูปอาหารและเครื่องดื่ม และยานยนต์ ยกระดับภาคการผลิตในประเทศไทย ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศรูปแบบใหม่ และผลักดันอุตสาหกรรม 4.0 ทั่วประเทศ