ดูเหมือนแพลตฟอร์ม Twitch จะถูกแฮ็กเข้าซะแล้ว ทำให้ซอร์สโค้ดสำหรับบริการสตรีมมิ่งของบริษัท , ข้อมูลคู่แข่ง Steam ที่ยังไม่เปิดตัวจาก Amazon Games Studios และรายละเอียดการจ่ายเงินให้บรรดาครีเอเตอร์นั้นหลุดออกมา โดยมีผู้โพสต์ไม่ระบุชื่อบนบอร์ดข้อความ 4chan ได้ปล่อยตัว torrent ไฟล์ขนาด 125GB ที่อ้างว่าเป็นข้อมูลรวมของ Twitch และประวัติการจ่ายเงินให้ครีเอเตอร์ทั้งหมด
ผู้โพสต์ที่ปล่อยข้อมูลหลุดอ้างถึงการกระทำครั้งนี้ว่า “ต้องการให้บริการหยุดชะงักและส่งเสริมให้มีการแข่งขันในพื้นที่สตรีมมิ่งวิดีโอออนไลน์มากกว่านี้”
ทางฝั่ง Twitch ได้ออกมายืนยันเรื่องข้อมูลหลุดแล้ว และบริษัทกล่าววว่ากำลังทำงานอย่างเร่งด่วนเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้
ข้อมูล Twitch ที่หลุดมีสรุปดังนี้
- รายละเอียดการจ่ายเงินให้กับครีเอเตอร์เป็นเวลา 3 ปี
- ซอสโค้ดทั้งหมดของ twitch.tv
- ซอสโค้ดทั้งหมดของ Twitch clients บนมือถือ , เดสก์ท็อป และวิดีโอเกมคอนโซล
- โค้ดที่เกี่ยวข้องกับ SDK ที่เป็นกรรมสิทธิ์และบริการของ AWS ที่ Twitch ใช้กันภายใน
- คู่แข่งของ Steam ที่ยังไม่เปิดตัวจาก Amazon Game Studios
- ข้อมูลคุณสมบัติต่างๆ ของ Twitch เช่น IGDB และ CurseForge
- เครื่องมือรักษาความปลอดภัยต่างๆ ภายในของ Twitch
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลหลุดในครั้งนี้ มีการระบุเอาไว้ว่า “part one” หรือส่วนที่ 1 นั่นหมายความว่าอาจมีข้อมูลที่หลุดมามากกว่านี้?!
ไม่พบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับรหัสผ่านของผู้ใช้ Twitch ในข้อมูลหลุด แต่ไม่ได้หมายความว่าข้อมูลรหัสผ่านจะไม่หลุด / ปลอดภัย 100% ดูเหมือนผู้ปล่อยข้อมูลหลุดจะเน้นไปที่การแชร์ข้อมูลและเครื่องมือต่างๆ ของบริษัท Twitch มากกว่าส่วนที่เป็นรหัสผ่านรวมถึงบัญชีของผู้ใช้ ถึงแม้ Twitch จะออกมายืนยันว่าข้อมูลของบริษัทนั้นรั่วไหลออกมาจริง แต่ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าข้อมูลที่ถูกขโมยออกมานั้นมีมาก-น้อยแค่ไหน
ทีมงานล้ำหน้าโชว์จึงขอแนะนำให้ผู้ใช้งาน Twitch เปลี่ยนรหัสผ่าน รวมถึงเปิดใช้งานการยืนยันตัวตนแบบ 2 ปัจจัยในบัญชี Twitch ของคุณ
ก่อนหน้านี้ ดูเหมือน Twitch เองจะประสบปัญหาเรื่องความเกลียดชังและการล่วงละเมิด หลังจากการถูกโจมตีด้วยความเกลียดชังเป็นเวลาหลายสัปดาห์ มีสตรีมเมอร์ของ Twitch บางคนหยุดงาน 1 วันในเดือนสิงหาคมเพื่อเป็นการประท้วงที่บริษัทไม่ดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางฝั่ง Twitch เองก็ออกมาตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวของ #DoBetterTwitch และแฮชแท็กดังกล่าวก็ถูกผู้ที่ปล่อยข้อมูลหลุดนำมาใช้เพื่อโปรโมทการรั่วไหลของข้อมูลที่เกิดขึ้น
ที่มา : The Verge