รีวิว RAZER ISKUR เก้าอี้เกมมิ่ง ออกแบบมาเพื่อเน้นสุขภาพของการนั่งที่ดีขึ้น ด้วย Built-in Lumbar Support ปรับการซัพพอร์ตกับท่านั่งให้ได้ท่าที่เหมาะสม พร้อมทั้งเลือกใช้วัสดุระดับพรีเมียมประกอบอย่างปราณีต รับน้ำหนักได้มาก ตัวใหญ่ไซส์หมีนั่งได้สบาย
RAZER ISKUR ถือกำเนิดครั้งแรกในปี 2020 ที่ตอนนั้นทำเราตกใจอยู่ไม่น้อย ที่แบรนด์เกมมิ่งอย่าง RAZER คิดจะมาทำสินค้าที่เป็นเก้าอี้เกมมิ่ง โดยประกาศชัดว่าเก้าอี้เกมมิ่งที่ขายกันอยู่มันไม่ได้ถูกหลักกายศาสตร์ นั่นคือนั่งไปนานๆ ก็จะมีผลกระทบกับสุขภาพของร่างกายได้เช่นกัน
และครั้งแรกที่เราเห็นหน้าตาของ RAZER ISKUR ก็สัมผัสได้ถึง DNA ของความเป็น RAZER ทั้งการออกแบบ ใช้วัสดุ และไม่ใช่แค่ทำออกมาสวยๆ เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการใส่ฟีเจอร์หลายอย่างเพื่อให้เป็นเก้าอี้นั่งได้เหมาะสม และลดปัญหากับร่างกายเมื่อต้องนั่งต่อเนื่องเป็นเวลานาน
ทีมงานล้ำหน้าฯ เรามีโอกาสได้ทดสอบ รีวิว เก้าอี้ RAZER ISKUR เป็นเวลาประมาณเกือบ 2 เดือน ในช่วงที่ Work from Home กันอย่างดุเดือด ก็จะขอมาเล่าถึงจุดเด่นและประสบการณ์ที่น่าสนใจของ Gaming Chair รุ่นแรกจากค่ายงูเขียวรุ่นนี้กัน
แกะกล่อง Unbox และ ประกอบร่าง!
เรียกว่า นี่คือสินค้าของ RAZER ที่กล่องใหญ่สุดเท่าที่เราเคยรีวิวมา โดยตัวเก้าอี้ถูกแยกส่วนและบรรจุแพ็กมาในกล่อง ซึ่งมีขนาดและน้ำหนักมาก พอแกะออกมา เราจะพบกับเอกสารข้อมูลคำแนะนำในการประกอบ แบ่งเป็นข้อๆ เข้าใจได้ง่าย โดยทาง RAZER แนะนำว่า ให้ช่วยกันประกอบ 2 คนจะง่ายกว่า แต่ผมก็ลองทำเองก็ยังได้อยู่
ตัวชิ้นส่วนของเก้าอี้จะแยกเป็นส่วนพนักพิงหลัง, เบาะนั่ง, ขาเหล็ก และอุปกรณ์อื่นๆ ให้มาพร้อมกับประแจ 6 เหลี่ยมสำหรับขันน้อตประกอบ ถ้าคุณเคยประกอบเก้าอี้เกมมิ่งมาบ้าง ก็ขอบอกว่าไม่ยาก รูปแบบคล้ายกัน แต่ถ้าทำตามขั้นตอนในใบประกอบที่แนบมาก็ทำตามได้ไม่ยาก ซึ่งผมเองใช้เวลาประกอบอยู่ประมาณ 30 นาทีก็เรียบร้อยแล้ว
งานดีไซน์สวย วัสดุระดับ Premium Grade
รูปทรงของตัวเก้าอี้ RAZER ISKUR จะเป็นแบบ Bucket Seat ที่ให้อารมณ์เหมือนกับเก้าอี้นั่งในรถแข่ง โดยรุ่นนี้เป็น Leather / Black / Green เล่นสีพื้นหลักเป็นสีดำ และตัดด้วยด้ายสีเขียวสะท้อนแสง ที่เปี่ยมล้นไปด้วย DNA ของ RAZER
เก้าอี้จะบุด้วยหนังสังเคราะห์แบบ Multi-Layered Synthetic Leather ที่ให้สัมผัสที่นุ่มสบาย นั่งค่อนข้างสบาย ไม่เก็บความร้อน ส่วนด้านในเป็น High Density Molded Foam ที่มีความเฟิร์มแน่นดีเวลานั่ง แต่ก็ไม่ได้นุ่มจนยวบยาบ
หนังบริเวณที่สัมผัสร่างกายผู้ใช้ (บริเวณพนักหลัง และที่เบาะนั่ง) จะเดินเว้นเป็นลายตาราง ที่ให้ความรู้สึกเหมือนลายบริเวณเกล็ดท้องของงู ส่วนที่ขอบข้าง จะเป็นแถบหนังสังเคราะห์ลายคาร์บอนกึ่งเงา ให้ความรู้สึกโฉบเฉี่ยวมากยิ่งขึ้น
โครงสร้างของเก้าอี้ ตัวเฟรมจะเป็นเหล็กกับไม้อัด ตามสเปคที่ RAZER แจ้งมา คือสามารถรับน้ำหนักในการนั่งได้สูงสุดถึง 136 กิโลกรัม และส่วนสูงของผู้ใช้ที่แนะนำคือ 170-190 เซนติเมตร ถือว่าเหมาะสำหรับคุณผู้ชายมากกว่าสาวๆ หรือถ้าจะหุ่นหมีก็ยังนั่งได้สบายๆ
ตัวฐานของเก้าอี้ จะเป็นโลหะที่มีน้ำหนักค่อนข้างมาก ดีไซน์เป็นแบบดาว 5 แฉก ตัวล้อจะมีขนาด 6 เซนติเมตร แกนกลางของเก้าอี้จะเป็นแบบ Gas Lift โดยรวมถือว่าแข็งแรงดีมาก เหมาะนำหรับการรับน้ำหนักที่มาก และช่วยให้เก้าอี้มีความมั่นคง ไม่เอนล้มเวลาปรับเบาะหลัง (เบาะหลังสามารถปรับได้ 139 องศา)
Lumbar Support ปรับหนุนให้นั่งหลังตรง
เป็นฟีเจอร์เด่นของ RAZER ISKUR ที่โดดเด่นแตกต่างจากเก้าอี้เกมมิ่งอื่นๆ ที่มีในท้องตลาด ด้วยการที่บริเวณพนักเบาะหลังช่วงล่าง จะมี Lumbar Support ที่เราเลือกปรับให้ดันหนุนส่วนเอวของเราระหว่างนั่งได้
โดยปกติแล้ว เก้าอี้เกมมิ่งอื่นๆ จะให้มาเป็นเบาะหนุนลูกนึง มาปรับวางเพื่อดันช่วงเอว แต่ RAZER ISKUR เราปรับระยะตำแหน่งได้เอง ข้อดีก็ตั้งแต่ความสวยงาม และยังปรับให้เหมาะกับสรีระของแต่ละคน ซึ่งจุดนี้ช่วยปรับพยุงให้เรานั่งหลังตรงขึ้น
ส่วนที่บริเวณพนักหัวด้านบน จะมีเป็นเบาะหนุนหัวที่ถอดออกได้ เลือกใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน
พนักวางแขนแบบ 4D ปรับได้หลายทิศทาง
ด้านข้างของที่นั่ง จะมีตัวพนักวางแขนที่โครงสร้างเป็นเหล็กที่แข็งแรงมากๆ จุดเด่นคือออกแบบมาให้ปรับทิศทางได้ถึง 4 จุดด้วยกัน คือ
โดยการปรับจะมีปุ่มล็อคที่ต้องกดก่อนถึงจะเลื่อนขยับได้ การปรับที่เลือกได้เยอะมากขนาดนี้ ข้อดีคือช่วยให้เราเลือกระยะเพื่อหนุนวางแชนระหว่านั่งหน้าคอมที่ดีที่สุดนั่นเอง
การนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ ที่ถูกตามหลักการยศาสตร์นั้น มีสิ่งที่ต้องคำนึงหลักๆ ดังนี้
- นั่งหลังตรง และคอตรง หน้าจออยู่ตรงบริเวณสายตาพอดี เพราะถ้าจอต่ำไป เราจะนั่งก้มหน้าเป็นเวลานาน ทำให้มีอาการปวดบริเวณคอและบ่า
- เบาะเมื่อนั่งแล้ว ต้องสูงในระดับที่สูงจนหัวเข่าตั้งฉากระดับใกล้เคียง 90 องศา ก็คือเท้าแตะพอดีกับพื้น ขาไม่ลอย และไม่เตี้ยจนเข่างอ เพื่อไม่ให้มีการกดน้ำหนักตรงบริเวณน่อง ที่เมื่อนั่งนานๆ จะมีอาการชาหรือปวดเมื่อย
- ปรับจุดของพนักแขน ให้พอดีให้วางแขนพักได้พอดี ไม่ต่ำหรือสูงเกินไป เพราะถ้าสูงเกินก็จะดันแขนเราจนกระทบไปถึงการเมื่อยของไหล่ หรือถ้าต่ำไปก็จะทำให้ไหล่ปวดล้าได้เช่นกัน
- ตำแหน่งแขนก็ควรจะขนานกับตัวโต๊ะ เพื่อไม่ให้ข้อมือกดทับกับโต๊ะ เมื่อทำงานนานๆ ก็จะปวดข้อมือได้
RAZER ISKUR มีจุดให้ปรับได้เยอะมาก เพื่อให้เราสามารถจัดท่าในการนั่งให้ตรงกับหลักการยศาสตร์ ซึ่งช่วยให้การนั่งหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ มีอาการปวดล้าน้อยลง และช่วยชะลออาการปวดสะสม ไม่ให้ลุกลามจนกลายเป็น Office Sydrome หรือเรื้อรังจนเกิดปัญหากับกล้ามเนื้อหรือกระดูกสันหลังด้วย
สรุป รีวิว RAZER ISKUR หลังลองใช้งานจริง 2 เดือน
ก่อนที่ทางทีมงานล้ำหน้าฯ เราจะได้ RAZER ISKUR มา รีวิว นั้น เก้าอี้ที่นั่งก็จะเป็นเก้าอี้เกมมิ่งทั่วไปนี่ล่ะครับ ซึ่งพอเราต้องเจอกับการทำงาน Work from Home ที่ต้องนั่งหน้าคอมอยู่กับบ้านแทบทั้งวัน และเดินน้อยลง อาการปวดหลัง เมื่อยบ่าไหล่ก็เริ่มถามหาบ้างแล้ว
หลังจากที่ทดสอบ ลองใช้ RAZER ISKUR แล้วในระยะสัปดาห์แรกถือเป็นการปรับตัวพอสมควร เพราะตัวเก้าอี้นั้น เน้นให้เราปรับท่านั่งให้หลังตรง ไม่ได้มาแบบนุ่มๆ ให้เรานั่งไหลเลื้อยเอนหลังเยอะๆ แบบเก้าอี้ทั่วไป
พอจัดระยะความสูงของเก้าอี้, ระยะ Lumber Support และระยะของตำแหน่งพนักแขนให้เหมาะกับความสูงของโต๊ะ (แล้วอย่าลืมปรับระยะความสูงของจอให้ตรงกับตำแหน่งสายตาด้วย) ส่วนตัวผมไม่ใช้หมอนหนุนตรงบริเวณคอ เพราะค่อนข้างรำคาญ รวมถึง มันบังโลโก้ของ RAZER ด้วย (555)
ความสบายของการนั่งส่วนเบาะถือว่าค่อนข้างดี ที่โฟมด้านในไม่ได้นุ่มหรือแข็งเกินไป รับน้ำหนักของผมที่ 85 กิโลกรัมได้สบายๆ ตัวเบาะที่เป็นหนังเหมือนกับตัวเก่าที่นั่ง แต่รู้สึกได้ว่าระบายอากาศได้ดีกว่า เหงื่อไม่ค่อยซึมเหนอะหนะเท่าไร
มีจุดที่อาจจะทำให้บางคนรู้สึกนั่งแล้วไม่ชอบ คือตัวขอบด้านข้างของเบาะนั่ง ที่มียกขึ้นมาค่อนข้างสูง เพื่อให้เรานั่งขาตรง นั่นคือถ้าใครตัวใหญ่มากๆ โดยเฉพาะน่องและต้นขา อาจจะรู้สึกอึดอัดอยู่บ้าง
โดยรวมแล้ว ข้อดีของเก้าอี้ RAZER ISKUR คือ การนั่งแบบจัดท่าให้มีอาการปวดหลังหรือเสี่ยงกับ Office Syndrome น้อยลง คุณอาจจะต้องปรับพฤติกรรมการนั่งใหม่หากที่ผ่านมาชอบนั่งหลังงอ หรือปรับระยะไม่เหมาะสม หลังจากทำความคุ้นชินแล้ว สิ่งที่ได้มาคือ อาการปวดหลังบ่าไหล่ที่เคยเกิดหลังจากนั่งเป็นเวลานานๆ เกิดขึ้นน้อยลงอย่างรู้สึกได้
คือเราคงต้องบอกว่า มันไม่มีเก้าอี้ตัวไหนในโลกที่คุณนั่งนานๆ แล้วไม่ปวดหลัง เพราะธรรมชาติเราไม่ควรนั่งต่อเนื่องนานเกินไป ควรลุกขึ้นเพื่อปรับเปลี่ยนอริยบทร่างกาย เพื่อยืดเส้นสาย แต่เราก็เข้าใจบางครั้งนั่งทำงานหรือนั่งเล่นเกมยาวๆ มันก็เพลินไม่รู้ตัว ดังนั้น เก้าอี้ตัวนี้จะช่วยทั้งการปรับพฤติกรรมการนั่ง และยังให้ความสวยเท่แบบเกมเมอร์แบบเต็มเปี่ยม
RAZER ISKUR สินค้ารับประกันนาน 3 ปี ราคา สำหรับรุ่น Leather นั้นจะอยู่ที่ 15,900 บาท ถือว่าสมราคากับความพรีเมี่ยมทั้งวัสดุ, ดีไซน์, การรับประกัน สามารถสั่งซื้อได้ทาง razer.com และตัวแทนจำหน่ายสินค้าอย่างเป็นทางการในประเทศไทย