ETDA

ETDA จัดงานเสวนา Digital Video Platform Seminar 4D เปิดมุมมอง ทิศทางอนาคตสื่อไทย

ETDA จับมือพาร์ทเนอร์ จัดงานเสวนา Digital Video Platform Seminar 4D เปิดมุมมอง ทิศทางอนาคตสื่อไทย หลังดิจิทัลแพลตฟอร์มครองโลกคอนเทนต์

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) (Electronic Transactions Development Agency) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จับมือ บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด บริษัท Thai Livestream X จำกัด Spring News และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ จัดงาน “Digital Video Platform Seminar 4D : เผย 4 มิติ ดิจิทัลวิดีโอแพลตฟอร์ม ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทย” ชวนนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารธุรกิจสื่อชั้นนำของประเทศ ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น ย้อนอดีต  เปิดมุมมองทิศทางอนาคตอุตสาหกรรมสื่อไทย จากผลกระทบของ Digital Video Streaming Platform ในรูปแบบ Virtual Seminar

นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA เปิดเผยว่า เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันนี้เทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามามีส่วนสำคัญในวิถีชีวิตเรา ทั้งด้านกิจกรรมต่างๆ  การทำงานรวมถึงการดำเนินธุรกิจในทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และผู้ประกอบการ ก่อให้เกิดเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์ม (Platform Economy) ที่ไม่ว่าจะทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจอะไรก็ต้องพึ่งแพลตฟอร์มดิจิทัลและเริ่มกระจายไปยังภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมสื่อ รวมถึงผู้ผลิตคอนเทนต์ ซึ่งแพลตฟอร์มต่างๆ ที่ให้บริการในประเทศไทยจะเป็นแพลตฟอร์มจากผู้ให้บริการในต่างประเทศ

ซึ่งอาจส่งผลต่อภาพรวมในเชิงธุรกิจ เช่น ข้อจำกัดในการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการไทยและผู้ให้บริการต่างชาติ ปัญหาการดูแลข้อมูลส่วนบุคคลและการคุ้มครองผู้บริโภคไทยที่ไม่ได้รับเยียวยาเมื่อเกิดเหตุถูกหลอกลวงหรือประสบปัญหาในการใช้บริการ และประเด็นสำคัญที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสื่อ รวมถึงผู้ผลิตคอนเทนต์ต่างสะท้อนเป็นเสียงเดียวกันคือ ปัญหาส่วนแบ่งทางรายได้

ระหว่างผู้ให้บริการแพลตฟอร์มและผู้ผลิตคอนเทนต์คนไทย ที่ไม่เป็นธรรม เพราะรายได้ส่วนใหญ่จะเข้าไปที่แพลตฟอร์มในฐานะช่องทางมากกว่า ขณะที่ผู้ผลิตคอนเทนต์ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อช่องทางบนแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อเผยแพร่เนื้อหาให้กับคนไทย จนอาจนำมาสู่ความเสี่ยงในการบริหารธุรกิจ ที่ไม่สามารถดำเนินอยู่ต่อได้จนต้องปิดกิจการไปในที่สุด  ขณะที่ภาครัฐก็ไม่สามารถเก็บภาษีจากเจ้าของแพลตฟอร์มเหล่านั้นได้ จนนำมาสู่ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยในที่สุด

ดังนั้น สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมให้คนไทยเกิดการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น พร้อมกับสนับสนุนให้การทำธุรกรรมในรูปแบบต่างๆ มีการเติบโตบนโลกออนไลน์ได้อย่างมั่นคงปลอดภัย น่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศดำเนินไปได้อย่างมีเสถียรภาพและรองรับทุกการเปลี่ยนแปลง ซึ่งภารกิจดังกล่าวยังครอบคลุมถึงการส่งเสริม Digital Platform ที่ให้บริการในประเทศไทย สามารถแข่งขันได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม

ETDA Digital Video Platform Seminar 4D

ทั้งระหว่างธุรกิจด้วยกันและต่อผู้บริโภค โดย ETDA ได้ดำเนินงานในหลายมิติ ทั้ง การออกกฎหมาย การพัฒนามาตรฐานคู่มือ  หรือแนวทางปฏิบัติที่ดี ไปจนถึงการเปิดสนามทดสอบนวัตกรรม ETDA Sandbox เพื่อรองรับ Business Model ใหม่ๆที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนในวงกว้าง  และอุตสาหกรรมสื่อก็เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ Digital Platform อย่างมาก เพราะจากสถานการณ์ Media Disruption ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งรายได้และ Business Model ของอุตสาหกรรมสื่ออย่างเลี่ยงไม่ได้

โดยจะเห็นได้จากตัวเลขรายได้ของอุตสาหกรรมสื่อในประเทศไทยที่ลดลง และมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนที่มาของรายได้ไปยังธุรกิจอื่นซึ่งไม่ใช่บริการหลักเดิมของกิจการ ซึ่งความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการผลิตเนื้อหาของอุตสาหกรรมสื่อในภาพรวม ETDA ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหานี้มาโดยตลอดและเดินหน้าศึกษาผลกระทบที่อุตสาหกรรมสื่อต้องเผชิญเบื้องต้น ซึ่งก็ได้พบประเด็น pain point สำคัญๆ ที่น่าสนใจ จนนำมาสู่การจัดเสวนาทางออนไลน์ ในหัวข้อ  “Digital Video Platform Seminar 4D เผย 4 มิติดิจิทัลวิดีโอแพลตฟอร์ม ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทย” นี้ขึ้น

ภายใต้ความร่วมมือกับพาทเนอร์ อย่าง บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด, บริษัท Thai Livestream X จำกัด SpringNews และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ เพื่อเป็นพื้นที่ในการเจาะลึกถึงสถานการณ์ที่อุตสาหกรรมสื่อไทยต้องเผชิญในปัจจุบัน พร้อมแลกเปลี่ยนมุมมอง เรียนรู้ประสบการณ์จากเหล่านักวิชาการที่ทำการศึกษาประเด็นนี้และรับฟังประสบการณ์จากผู้บริหารจากอุตสาหกรรมสื่อตัวจริง ซึ่ง ETDA ไม่เพียงหวังให้เวทีเสวนาครั้งนี้ เป็นเพียงการเผยแพร่ความรู้ในอุตสาหกรรมสื่อเท่านั้น แต่หวังให้เป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งคำถาม เพื่อนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรมสื่อไทย รวมถึงเป็นการพัฒนาสร้างเครือข่ายของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสื่อ สู่การแลกเปลี่ยนทรัพยากร ข้อมูล และการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมที่จะนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรม แพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อคนไทยให้เกิดขึ้นจริง

สำหรับไฮไลท์ในงานที่น่าสนใจ ได้แก่ การเสวนาในหัวข้อ “ดูแลเพื่อหนุน สร้างกลไกให้เกิด และเพิ่มโอกาสพัฒนา Digital Media Platform ของคนไทย”  โดย รองศาสตราจารย์พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล คณะนิเทศศาสตร์
จุฬาฯ หนึ่งในทีมวิจัยโครงการศึกษาผลกระทบ OTT ต่อการกำกับดูแลของ กสทช., ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง อนุกรรมการกฎหมาย ภายใต้คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (คธอ.),  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรรณวิภางค์ มานะโชติพงษ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์จุลภาค และรายอุตสาหกรรม

ทั้งอุตสาหกรรมสื่อและธุรกิจดิจิทัล, นายระวี ตะวันธรงค์ บรรณาธิการบริหาร SpringNews และนายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ (Moderator) และปิดท้ายสัมมนากับหัวข้อ “Traditional Media Adaptation เผยเส้นทางการปรับตัวของสื่อดั้งเดิมสู่อนาคตยุค Full-Scale Digital Platform” โดย นายนภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ บรรณาธิการบริหาร Workpoint Today นางสาวกนกพร ประสิทธิ์ผล ผู้อำนวยการสำนักสื่อใหม่ Thai PBS, นายนันทสิทธิ์ นิตย์เมธา ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์ธุรกิจสื่อใหม่ สถานีโทรทัศน์ PPTV36 และนายพิภู พุ่มแก้วกล้า Program & Content Creator Director บริษัท เอ็นบีซี เน็กซ์ วิชั่น จำกัด (Moderator)