ETDA

ไทยพร้อมแล้วหรือยัง? ที่จะมีแพลตฟอร์มดิจิทัลสู้ตลาดโลก

ETDA ร่วมกับบริษัท Techsauce Media จำกัด, บริษัท Thai Livestream X จำกัด, Spring News และ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ จัดงานสัมมนาออนไลน์ ภายใต้ชื่องาน “Digital Video Platform Seminar 4D : เผย 4 มิติ ดิจิทัลวิดีโอ แพลตฟอร์ม ดิจิทัล ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทย”

ETDA ในฐานะหน่วยงานที่มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อให้เกิดการทำธุรกรรมออนไลน์ผ่านช่องทางต่างๆ รวมไปถึงผ่าน แพลตฟอร์มดิจิทัล ได้อย่างมั่นคงปลอดภัย น่าเชื่อถือ ลดความเสี่ยงและปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อให้คนไทยเติบโตบนโลกออนไลน์ได้อย่างมีคุณภาพ จึงร่วมกับบริษัท Techsauce Media จำกัด, บริษัท Thai Livestream X จำกัด, Spring News และ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ จัดงานสัมมนาออนไลน์ ภายใต้ชื่องาน “Digital Video Platform Seminar 4D : เผย 4 มิติ ดิจิทัลวิดีโอแพลตฟอร์ม ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทย” เปิดทิศทางอนาคตอุตสาหกรรมสื่อไทยและผู้ผลิตคอนเทนต์ จากผลกระทบของแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งจากต่างประเทศ สู่การสร้าง Engagement ร่วมกับผู้แทนจากทุกภาคส่วนในการร่วมส่งเสริมให้เกิดแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งสัญชาติไทย

จากข้อมูลจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยที่ทะลุกว่า 70% ของจำนวนประชากรและความนิยมของคนไทยในการใช้แอปพลิเคชันต่างๆ ในชีวิตประจำวันกับยุค new normal คือดัชนีบ่งชี้ว่าคนไทยมีความพร้อมสำหรับการบริโภคดิจิทัลมีเดียแพลตฟอร์ม ดังนั้น สิ่งที่จะเข้ามาตอบโจทย์วิถี ก็คือ ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มสัญชาติไทยที่สามารถวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคและพัฒนาแพลตฟอร์มให้ตอบโจทย์คนไทยได้ ก็มีแนวโน้มที่ตรงใจคนไทย ถึงแม้ปัจจุบันในตลาดจะมีแพลตฟอร์มต่างประเทศให้เลือกใช้อยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าสร้างคอนเทนต์ หรือแพลตฟอร์มได้ “ปัง” ก็มีโอกาสท้าชนกับคู่แข่งระดับอินเตอร์

ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA เปิดประเด็นก่อนเข้าสู่เวทีเสวนาว่า จากการสำรวจมูลค่า อีคอมเมิร์ซในประเทศไทยล่าสุด พบว่าผู้ให้บริการดิจิทัลคอนเทนต์ไทยเติบโตขึ้นเพียง 10% และเชื่อว่าผู้ประกอบการด้านนี้ของไทยน่าจะยังเติบโตกว่านี้ได้อีก เพราะเมื่อมองภาพรวมตลาดทั่วโลกเราจะเห็นว่ามีสัดส่วนเติบโตอย่างมาก แต่สัดส่วนที่คนไทยจะได้ประโยชน์ยังน้อย ยกตัวอย่าง ยอดการดาวน์โหลดแอป โดยเฉพาะวิดีโอ บางรายที่เป็นแพลตฟอร์มระดับโลกเติบโตมากกว่า 40% ขณะที่ การใช้เวลาบนแอป โดยเฉพาะแอปการแบ่งปันวิดีโอ เติบโตสูงถึง 70-80% ซึ่งสะท้อนว่าคนในยุคปัจจุบันใช้ชีวิตอยู่บนแพลตฟอร์มค่อนข้างมาก โจทย์ข้อสำคัญ คือ จะมีการปรับตัวทั้งของภาครัฐและเอกชนเข้าสู่ยุคสมัยใหม่นี้ได้อย่างไร โดยเฉพาะหนึ่งในเซคเตอร์สำคัญอย่าง “ผู้ผลิตสื่อ” ที่ขยับหาช่องทางและแพลตฟอร์มใหม่ๆ เพื่อสื่อสารถึงกลุ่มผู้บริโภคสื่อให้ได้มากที่สุด แต่เนื่องจากแพลตฟอร์มส่วนใหญ่เป็นของต่างประเทศ ดังนั้น จึงเปรียบเสมือนกับการเอาชีวิตไปฝากไว้กับคนอื่น ต้องไปอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของคนอื่น ภาครัฐไม่สามารถเข้าไปดูแลประชาชน และผู้ผลิตสื่อได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะกรณีที่เกิดปัญหากับผู้ใช้บริการ

ทั้งนี้ ETDA มองว่า Digital VDO Platform เป็นสาขาที่ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก ผู้ผลิตสื่อของไทยหลายราย มีต่างประเทศติดตามและนำสื่อไปใช้ ทำซ้ำ หรือติดตาม เช่น เกมโชว์ ภาพยนตร์ แต่เนื่องจากแพลตฟอร์มในด้านนี้ของคนไทยยังมีน้อย จึงมองถึงการส่งเสริมเพื่อให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศ โดยจะมีการศึกษาวิเคราะห์ถึงข้อจำกัด โอกาส กลยุทธ์ในการขับเคลื่อนเพื่อสร้างให้เกิดระบบนิเวศ (ecosystem) ที่เอื้อสำหรับวิดีโอ คอนเทนต์ สตรีมมิ่งของประเทศไทย ตลอดจนใครจะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก (Major Stakeholder) ควรจะเป็นภาครัฐ หรือภาคเอกชน เป็นต้น

ทางด้าน ผศ.ดร.วรรณวิภางค์ มานะโชติพงษ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์จุลภาค และรายอุตสาหกรรม ทั้งอุตสาหกรรมสื่อและธุรกิจดิจิทัล กล่าวว่า ปัจจุบันการแข่งขันของในโลกออนไลน์เข้มข้นมาก สื่อไทยที่ต้องการนำเนื้อหาเข้าไปแข่งจำเป็นต้องมีคอนเทนต์ที่จูงใจมากๆ โดยเฉพาะเมื่อผู้บริโภคเจนเนอเรชั่นหลังๆ ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี จากที่ กสทช. เคยสำรวจพบว่า กลุ่มดังกล่าวได้มีการขยับการรับชมโทรทัศน์ไปรับชมผ่านแพลตฟอร์มอื่น เช่น OTT (Over-the-top) เน็ตฟลิกซ์ แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ หรือการแบ่งปันคอนเทนต์ เป็นต้น อีกทั้งประชากรกลุ่มนี้มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น การจะดึงให้อยู่กับคอนเทนต์ของรายใดๆ จึงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับผู้ประกอบการ

อีกทั้ง ปัจจุบันหลายประเทศมีโมเดลธุรกิจการให้บริการโดยการจัดเก็บค่าใช้บริการคอนเทนต์จากผู้ชมในประเทศของตัวเอง และนำบางส่วนมาจัดสรรผลิตคอนเทนท์บุกตลาดประเทศอื่น เช่น บีบีซี นำรายได้จากค่าบริการคอนเทนต์ให้กับผู้ชมในอังกฤษ มาเปิดช่องทางโซเชียล บีบีซีไทย (BBC Thai) ในประเทศไทย หรือเอ็นเอชเค เวิลด์ เจแปน ที่ใช้งบส่วนนั้นมาผลิตข่าวประเทศไทย เป็นต้น  เหล่านี้ในแง่หนึ่งนั้น คือ อุปสรรคต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตคอนเทนต์ไทย เพราะถ้าจะแข่งได้ ก็ต้องใช้งบประมาณสูง แต่ไม่รู้ว่าจะได้รับผลตอบแทนกลับมาคุ้มหรือไม่

ด้านสถานการณ์ภาพรวมของกิจการสื่อไทย และ OTT ในประเทศไทย มองว่ายังมีโอกาสสำหรับผู้ผลิตคอนเทนต์ไทยใน 3 หมวดหมู่เด่นๆ ได้แก่ 1. เนื้อหาบันเทิง วาไรตี้ ละคร เพราะได้รับความนิยม ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ดี สามารถทำรายได้จากค่าโฆษณา 2. เนื้อหากีฬา ปัจจุบันการรับชมเนื้อหาเกือบทั้งหมดเป็นคอนเทนต์จากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมการแข่งขันในประเทศ จะช่วยเพิ่มเนื้อหาที่น่าสนใจในช่องกีฬา และ 3. เนื้อหาข่าว สารคดี รายการเด็ก ยังมีช่องทางให้เติบโตอีกมากบนแพลตฟอร์ม OTT เมื่อเทียบกับที่เคยล้มเหลวจากช่องทีวีดิจิทัล เนื่องจากทุกวันนี้ผู้ชมอยู่ในตลาดโลกแล้ว แต่โจทย์สำคัญคือ เนื้อหาของสื่อไทยที่ต้องการแข่งขันในตลาดโลก ต้องพัฒนาไปถึงจุดที่ทำให้ผู้ชมเต็มใจในการจ่ายค่าบริการให้มากขึ้น

“อย่างหนึ่งที่รัฐสามารถช่วยผู้ประกอบการไทยได้ก็คือ ช่วยให้มี level playing field คือ ต้องพูดในสิ่งที่คนอื่นทั่วโลกพูดได้ สามารถนำเสนอคอนเทนต์ที่ทั่วโลกนำเสนอได้ เพราะอย่างน้อยก็สามารถทำให้ผู้ชมไทยเข้าไปสนับสนุน และรับชมคอนเทนต์ที่คนไทยผลิตมากขึ้น” ผศ.ดร.วรรณวิภาชงค์ กล่าว

ทางด้าน ผศ.ดร. ปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง อนุกรรมการกฎหมาย ภายใต้คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (คธอ.) ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับชาติในการกำหนดทิศทางและผลักดันการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของไทย กล่าวว่า ปัจจุบันกรอบความคิดในเรื่องการกำกับดูแลแพลตฟอร์ม ไม่ได้มองที่บทบาทรัฐเป็นหลักอีกต่อไป เพราะแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ที่เป็นผู้เล่นระดับโลก (Global Player) ไม่ได้สนใจกฎระเบียบของแต่ละประเทศ (Local) แต่จะมองว่าประเทศไหนที่มีผู้ใช้บริการ ก็จะหาทางนำบริการของตนเข้าไป ดังนั้น เครื่องมือเดิมๆ คือกฎหมายแต่ละประเทศที่เคย deal อยู่กับผู้ประกอบการ/คนในประเทศจึงไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป เพราะตามหลักแล้ว กฎหมายต้องวิ่งตามสิ่งที่เกิดขึ้นจริง

อย่างไรก็ตาม ในส่วนประเด็นสำคัญของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแพลตฟอร์มสื่อ (Media Platform) จะมีอยู่ 2 ส่วนหลัก ได้แก่ 1. ความโปร่งใสและความเป็นธรรม ซึ่งจะครอบคลุมถึงเรื่องลิขสิทธิ์ การเก็บภาษีและรายได้ต้องเข้าประเทศไทยด้วย การกำกับเรตติ้ง/การดูแลข้อมูล ใบอนุญาต/แสดงตัวตนผู้ให้บริการ ความเป็นส่วนตัวและความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และ 2. การแข่งขัน จะครอบคลุมประเด็นสำคัญหรือหลักปฏิบัติที่เรียกว่า หลักความเป็นกลางทางเน็ต (Net neutrality) ที่ระบุว่าผู้ให้บริการเครือข่ายรวมถึงรัฐบาลจะต้องจัดการกับข้อมูลต่างๆ บนอินเทอร์เน็ตอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ทำการลดความเร็วของผู้ใช้งานบางคนลงให้แตกต่างจากผู้ใช้งานคนอื่น

ทั้งนี้ (ร่าง) พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ ซึ่งเป็นกฎหมายลูกของ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ก็มีการอ้างถึงใน 2 ประเด็นนี้ไว้ โดยในประเด็นความโปร่งใสและเป็นธรรม ก็เพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการ จากการที่ปัจจุบันจะมี “แพลตฟอร์ม” เข้ามาเป็นตัวกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายในการซื้อขายออนไลน์ ขณะที่ในประเด็นด้านการแข่งขัน ปัจจุบันในระดับโลกอย่างเช่นของสหภาพยุโรป (EU) ได้มีการออกกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองผู้ประกอบการ/แพลตฟอร์มรายเล็กหรือท้องถิ่น เพื่อดูแลคนตัวใหญ่ไม่ให้รังแกคนตัวเล็ก ดังนั้น ถ้ากฎหมายด้านกำกับดูแลแพลตฟอร์มของไทยกำหนดให้สอดคล้อง ก็จะเป็นไปตามแนวทางสากล

“การกำกับดูแลที่จะส่งเสริมให้เกิด Digital Platform ของคนไทยที่ประสบความสำเร็จ รัฐต้องกำกับดูแลอย่างเหมาะสม และมีการสนับสนุนเงินทุน และสร้างคนของเราขึ้นมา เน้นว่าถ้าอยากสนับสนุนต้องเห็นเงิน ต้องมีตัวเลขที่ให้ชัดเจน เพื่อให้สามารถแข่งระดับโลกได้จริง งบประมาณจึงต้องมา ควบคู่กับการสร้าง ecosystem สนับสนุน โดยอาจสร้างให้เกิดการรวมตัวกัน แล้วรัฐเข้าไปช่วยส่งเสริม” ดร.ปิยะบุตร กล่าว 

ทางด้าน รศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในทีมวิจัยโครงการศึกษาผลกระทบ OTT ต่อการกำกับดูแลของ กสทช. กล่าวถึงภาพรวมสถานการณ์การส่งเสริมและกำกับดูแลบริการสื่อสารและแพร่ภาพและเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT : Over-the-top) ในบางประเทศที่สามารถนำแนวทางมาปรับใช้เป็นต้นแบบสำหรับประเทศไทยได้ พบว่าแต่ละประเทศจะมีคาแรคเตอร์ที่แตกต่างกัน จำแนกได้ 4 โมเดลจากกรณีศึกษา ดังต่อไปนี้

ประเทศสิงคโปร์ ใช้นโยบายเปิดเสรีให้ตัวเองเป็น “ฮับ” (hub) ของภูมิภาคเพื่อดึงฐานการลงทุนของอุตสาหกรรม OTT มาตั้งสาขาอยู่ที่สิงคโปร์ เหตุผลส่วนหนึ่งเนื่องจากสิงคโปร์เป็นประเทศขนาดเล็ก จำนวนประชากรในประเทศไม่เพียงพอสำหรับสร้าง economy of scale ปัจจุบันแพลตฟอร์มระดับโลกหลายราย เช่น เฟซบุ๊ก กูเกิล ซึ่งมีสำนักงานที่สิงคโปร์  ทางด้านประเทศเกาหลี ถือว่ามีความเป็นชาตินิยม และนำมาสู่การสร้าง Soft Power ผลักดันคอนเทนต์สัญชาติเกาหลีออกไปเป็นปริมาณมาก ทั้งในลักษณะที่ปกป้องตลาดภายในประเทศ และมีการส่งออกคอนเทนต์ไปอยู่บนแพลตฟอร์มต่างชาติ เพื่อให้คอนเทนต์ได้เกิดและใช้สร้างรายได้ เพราะการสร้างแพลตฟอร์มของตัวเองจะทำให้มีภาระหนัก จึงเลือกใช้การพึ่งพาแพลตฟอร์มต่างประเทศ แต่โปรโมทเป็นคอนเทนต์สัญชาติเกาหลี สามารถเกาะกระแสดิจิทัลได้ในลักษณะของการเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์

ส่วนอังกฤษ เป็นประเทศที่มีการเปิดเสรีมากๆ และหากย้อนหลังไปจะพบว่าสถานีโทรทัศน์ในประเทศ รวมถึง   บีบีซี ได้มีการขยับขึ้นไปสู่ OTT ก่อนที่เน็ตฟลิกซ์จะเข้าเจาะตลาด อย่างไรก็ตาม ในรอบ 1-2 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีผู้บริโภคสื่อในอังกฤษเข้าไปสมัครใช้งานแพลตฟอร์มที่มาจากต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่น เน็ตฟลิกซ์ ดิสนีย์พลัส  ส่วนทางด้านญี่ปุ่น ได้ใช้รูปแบบการเปิดตลาดเสรี และมี OTT ที่เป็นผู้ประกอบการในประเทศจำนวนมาก มาจากทั้งช่องเคเบิลทีวี ฟรีทีวี อุตสาหกรรมเกม อีกทั้งมีช่องยูทูบของตัวเองสำหรับตลาดเฉพาะกลุ่มจำนวนมาก เช่น ช่องอะนิเมะ

“จากการศึกษาพบว่าในภาพรวม OTT ทุกประเทศมีความหลากหลาย ทั้งที่มาจากต่างชาติ เช่น เน็ตฟลิกซ์ หรือบริษัทเทเลคอมในประเทศขยายมาทำ OTT เช่น AIS PLAY ของไทย  หรือผู้ประกอบการทีวีในประเทศทั้งแบบเพย์ทีวี หรือฟรีทีวี ขยับขึ้นมาอยู่บน OTT เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในส่วนของประเทศไทย ถึงเวลาที่ต้องมองแล้วว่า ในเวทีการแข่งขันเราจะวางจุดยืนอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อมีตัวอย่างของสิงคโปร์ ที่ใช้มาตรการลดหย่อนภาษีดึงดูดคนทำคอนเทนต์เก่งๆ คนทำแพลตฟอร์มจากต่างชาติเข้าไปตั้งฐาน ซึ่งน่ากังวลสำหรับประเทศไทยที่ผู้ผลิตคอนเทนต์จะไหลออกไป” รศ.พิจิตรา  กล่าว

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดความคืบหน้าในการผลักดันเรื่องนี้ได้ที่เว็บไซต์ ETDA (www.etda.or.th)  หรือช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ของ ETDA เช่น เฟซบุ๊ก ETDA Thailand (facebook.com/ETDA.Thailand) #VideoStreamingPlatform #DigitalMediaPlatform #DigitalPlatform #ETDAThailand