มีการพบว่า มีแฟนเพจ Elon Musk ที่มีผู้ติดตาม 153,000 คน ได้รับการ verified เครื่องหมายติ๊กถูกสีฟ้า ให้เป็น official page ตัวแทนของ Tesla Technoking แต่ในความเป็นจริง นี่มันเป็นเพจ Elon Musk ตัวปลอม ที่สร้างขึ้นมาแอบอ้างแถมยังมีการละเมิดกฏร้ายแรงของ Facebook อีกด้วย
ล่าสุด หลังจากที่เว็บไซต์ The Verge นำเสนอเรื่องนี้ไปเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา หน้าเพจนี้ก็ไม่สามารถเข้าถึงได้แล้วแล้ว ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะ Facebook ทำการลบเพจดังกล่าวออกไป หรือเจ้าของเพจเลือกที่จะตั้งค่าเพจให้ไม่สามารถเข้าถึงได้
เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน จะเห็นชัดว่าเพจดังกล่าวระบุรายละเอียดของเพจเอาไว้ชัดดังนี้
This is fanpage , uploading tweets etc from him หรือ นี่เป็นแค่แฟนเพจของ Elon Musk ที่เอาไว้อัปโหลดทวีตและคอนเทนต์ต่างๆ ของเขา
เมื่อเข้าไปดูข้อมูลต่างๆ ในเพจ พบว่า เพจดังกล่าวมีโพสต์เพียง 10 โพสต์เท่านั้น โดยโพสต์ที่เก่าที่สุดเป็นของวันที่ 21 ตุลาคม และที่เหลือก็เป็นการอัปโหลดรูปของ Musk
เมื่อขุดไปดูประวัติการเปลี่ยนชื่อเพจ ยิ่งพบว่าเพจดังกล่าวไม่ได้เปิดตัวในฐานะ fan page ของ Elon Musk ตั้งแต่ต้น จากการเข้าไปดูข้อมูลที่แท็บ Page Transparency ที่แสดงประวัติของเพจ แสดงว่าเพจนี้จัดการโดยใคร และมีการแสดงโฆษณาหรือไม่ ฯลฯ พบว่า เพจดังกล่าวถูกสร้างขึ้นมาเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2019 เพื่อเป็นตัวแทนของ Kizito Gavin ซึ่งเป็นการกลับชื่อของนักฟุตบอล Gavin Kizito
ที่น่าสนใจกว่านั้น คือ เพจมีการเปลี่ยนชื่อทั้งหมด 6 ครั้ง โดยการเปลี่ยนชื่อ 6 ครั้งเกิดขึ้นในปี 2021 ทั้งหมด ทางเพจเปลี่ยนชื่อเป็น Elon Musk เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2021 ที่ผ่านมา ซึ่งข้อมูลในแท็บ Page Transparency ระบุว่าผู้จัดการเพจอยู่ในอียิปต์ แต่ Elon Musk ตัวจริงนั้นอยู่เท็กซัส สหรัฐอเมริกา
หากสังเกตจาก URL ของเพจดังกล่าว https://www.facebook.com/ElonMuskoffici พบว่า เพจมีความพยายามจะลงท้ายด้วยคำว่า official แต่ทำไม่ได้ เพราะมีเพจที่ใช้งาน URL https://www.facebook.com/ElonMuskofficial ก่อนแล้ว ทำให้เพจดังกล่าว ดูยังไงก็ไม่ official เลย
แต่แล้วสุดท้าย ความเป็นมิจฉาชีพก็เก็บทรงไม่มิดจนได้ เพจได้โพสต์เชิญชวนให้คนโอนเงิน 1,000 ดอลลาร์ เข้าบัญชี Bitcoin แล้วเขาจะโอนเงินกลับคืนให้ 2,000 ดอลลาร์ ที่ดูแล้ว ยังไงนี่ก็เป็นวิธีของมิจฉาชีพและเป็นเรื่องหลอกลวงอย่างแน่นอน
ประเด็นที่น่าสงสัยที่สุด แฟนเพจ Elon Musk ตัวปลอม นั้นผ่านการ verified โดยมีเครื่องหมายติ๊กถูก ของ Facebook ได้อย่างไร?
โดยกฏเรื่องการ verified ของ Facebook ระบุว่าบริษัทได้ทำการยืนยันว่า เพจ หรือ โปรไฟล์ นั้นเป็นตัวตนที่แท้จริงของบุคคลสาธารณะหรือแบรนด์ที่เป็นตัวแทน ซึ่งในการยืนยันตัวตนบน Facebook นั้น ผู้ใช้จะต้องกรอกแบบฟอร์มที่กำหนดให้ พร้อมทั้งเอกสารราชการที่สามารถใช้ยืนยันตัวตนได้ เช่น ใบขับขี่ พาสปอร์ต บัตรประจำตัวประชาชน เอกสารการยื่นภาษี หรือเอกสารจดทะเบียนบริษัท เป็นต้น
มันจึงเป็นจุดที่น่าสงสัยว่า เพจได้รับการ verify ตอนไหน และ Facebook ยอมให้เพจแบบนี้ยืนยันตัวตนได้อย่างไร
ในความเป็นจริง Elon Musk ได้ปิดเพจ SpaceX และ Tesla บน Facebook ไปแล้วตั้งแต่เดือนมีนาคม 2018 หลังจากเกิดเหตุการณ์ข้อมูล Facebook หลุดในเวลานั้น
อย่างไรก็ตาม Meta (หรือ Facebook นั่นแหละ) ไม่ได้ตอบหรือให้ความเห็นใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ล่าสุดที่ลองเข้าเพจดังกล่าว พบว่า ไม่สามารถเข้าเพจดังกล่าวได้แล้ว
ที่มา : The Verge