VISA เผยนักท่องเที่ยวชาวไทยยังคงเลือกเดินทางเพื่อพักผ่อนภายในประเทศต่อไปในปี 2565 เพราะใช้เวลาเดินทางไม่นานและมีความปลอดภัยกว่า จนกลายเป็นเทรนด์การท่องเที่ยวสำหรับยุคหลังโควิด-19 นี้อีกด้วย โดยจากการศึกษาเรื่องความคิดเห็นของผู้บริโภคโดยวีซ่า พบว่ามากกว่าครึ่งของผู้ทำแบบสำรวจชาวไทย (51 เปอร์เซ็นต์) มีแนวโน้มจะเลือกเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ต่อไปจนถึงปีหน้า ขณะที่ 23 เปอร์เซ็นต์ มีการวางแผนเดินทางไปท่องเที่ยวในต่างแดน
การศึกษาฉบับนี้ยังชี้ให้เห็นถึงสามปัจจัยแรกที่ทำให้นักท่องเที่ยวชาวไทยรู้สึกสบายใจที่จะออกเดินทางอีกครั้ง คือ การได้รับวัคซีน (67 เปอร์เซ็นต์) จำนวนการติดเชื้อทั่วโลกลดลง (55 เปอร์เซ็นต์) และการมีประกันโควิด-19 (41 เปอร์เซ็นต์)
สุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “เป็นที่ชัดเจนว่าผู้คนยังคงระมัดระวังตัว โดยเฉพาะในเรื่องการเดินทางยิ่งชัดเจนว่าพวกเขาเลือกในเรื่องความปลอดภัยและความคุ้นเคยในสถานที่ที่จะไป ผู้ประกอบการในจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวทั่วประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้เพื่อเตรียมรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยหรือต่างชาติก็ตาม อีกทั้งควรสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องความปลอดภัยในทุกมิติ รวมถึงวิธีการชำระเงิน โดยในช่วงการแพร่ระบาดของโรคการชำระเงินแบบไร้สัมผัสเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดเพราะนอกจากจะสะดวก รวดเร็วแล้ว ยังปลอดภัยอีกด้วย นับเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการควรเดินหน้าปรับตัวเพื่อรองรับความความคาดหวังของผู้บริโภคในยามที่พวกเขาเริ่มกลับมาเดินทางท่องเที่ยวกันอีกครั้ง”
ส่วนนักท่องเที่ยวทั่วทั้งเอเชียแปซิฟิกเองก็เริ่มปรับเข้าสู่โหมดการท่องเที่ยวในรูปแบบที่แตกต่างไปจากช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 โดยมากกว่าครึ่ง (53 เปอร์เซ็นต์) เลือกที่จะจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อจองที่พักที่มีการรับรองในด้านความปลอดภัยและคุณภาพ ขณะที่ 44 เปอร์เซ็นต์กำลังวางแผนที่จะพกบัตรต่าง ๆ มากขึ้นเพื่อใช้จ่ายแบบคอนแทคเลสและดิจิทัลแทนการชำระด้วยเงินสด และสองในห้าของผู้ตอบแบบสอบถาม (42 เปอร์เซ็นต์) กำลังวางแผนเดินทางโดยหลีกเลี่ยงแหล่งที่มีคนรวมตัวหนาแน่น
ด้านจุดหมายปลายการท่องเที่ยวในต่างประเทศ นักท่องเที่ยวชาวไทยส่วนใหญ่อยากที่จะเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่นมากที่สุด ตามด้วยประเทศจีน ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ แคนาดา และฝรั่งเศส
ส่วนเรื่องความต้องการสำหรับการท่องเที่ยวนั้น เกือบครึ่ง (48 เปอร์เซ็นต์) บอกว่าพวกเขาสนใจจะเดินทางในรูปแบบทราเวล บับเบิ้ล (travel bubble) แต่คงไม่ใช่ในระยะอันใกล้นี้ ขณะเดียวกันหนึ่งในสาม (33 เปอร์เซ็นต์) ของผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่าพวกเขาสนใจที่จะเริ่มเดินทางทันทีเมื่อเปิดให้มีการท่องเที่ยวแบบทราเวล บับเบิ้ล ส่วนที่เหลือบอกว่าพวกเขาไม่สนใจที่จะท่องเที่ยวในรูปแบบทราเวล บับเบิ้ล
“การใช้ชีวิตแบบไร้เงินสดไม่ใช่แค่เรื่องของความสะดวกสบายอีกต่อไป ในยุคหลังการระบาดของโควิด-19 การชำระเงินในรูปแบบดิจิทัลจะเป็นเรื่องของความมั่นใจ ปลอดภัย และฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ถือเป็นเรื่องที่น่าจับตามองว่าการชำระเงินในรูปแบบดิจิทัลจะมีบทบาทสำคัญในการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศอย่างไร เนื่องจากผู้บริโภคได้มองหาวิธีใหม่ๆ ในการดูแลสุขอนามัยและความปลอดภัยของตนเอง และตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด วีซ่าได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนมากมาย เช่น โครงการมาตรฐานด้านความปลอดภัยและสุขอนามัย (SHA) โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่ให้การรับรองมาตรฐานด้านสุขอนามัยให้กับผู้ประกอบการไทย และเรายังมุ่งมั่นที่จะยกระดับความร่วมมือเช่นนี้ให้มากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน เราหวังว่าข้อมูลจากการศึกษาในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์และช่วยให้คู่ค้าของเราที่อยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการชำระเงินสามารถปรับตัวเข้าสู่วิถีนิวนอร์มัล และเติบโตในสภาพแวดล้อมใหม่ในปัจจุบัน” สุริพงษ์ กล่าวสรุป