กล้องเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่ถูกพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาให้ความคมชัดที่สูงขึ้น หรือแม้แต่ทำให้มีขนาดเล็กลง ล่าสุด ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Princeton และ University of Washington ได้ออกมาประกาศว่าพวกเขาสามารถพัฒนา กล้องจิ๋ว ultra-compact ที่มีขนาดเล็กเท่ากับเม็ดเกลือได้สำเร็จแล้ว โดยกล้องดังกล่าวใช้นวัตกรรมหลักที่เป็นเทคโนโลยีที่เรียกว่า “metasurface” ทำให้มันมีมีขนาดเล็กกว่ากล้องทั่วๆ ไปถึง 500,000 เท่า
ถึงแม้ตัวกล้องจะมีขนาดเล็กนิดเดียวแต่คุณภาพกลับไม่เล็กตาม โดยที่มันยังสามารถถ่ายภาพสีได้อย่างมีคุณภาพไม่แพ้กล้องที่มีขนาดใหญ่
กล้องจิ๋วนี้ใช้ระบบ optical แบบใหม่จากเทคโนโลยี metasurface ที่มีขนาดเพียงครึ่งมิลลิเมตร ทำหน้าที่เป็นเสาทรงกระบอกทั้งหมด 1.6 ล้านเสาที่ทำหน้าที่เหมือนเป็นเสาอากาศแบบ optical นอกจากนี้ กล้องจิ๋วยังใช้เทคโนโลยี machine learning ในการสร้างภาพความละเอียดสูง รวมถึงให้ภาพถ่ายมีมุมกล้องที่กว้างที่สุด โดยให้สีสันที่สดใสและครบถ้วนทุกเฉดสี
ที่สำคัญ เจ้ากล้องขนาดเท่าเม็ดเกลือนี้ยังได้แก้ปัญหาที่เคยมีในกล้องขนาดเล็กจิ๋วรุ่นอื่นๆ ที่ออกมาก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขเรื่องภาพเพี้ยน จนถึงข้อจำกัดเรื่องการจับแสงภาพที่มองเห็นได้เต็มสเปกตรัม โดยมันจะทำงานด้วยการตั้งค่าแสงเลเซอร์จากห้องปฏิบัติการ หรือในสภาวะที่คล้ายกับห้องปฏิบัติการ เพื่อสร้างภาพให้ออกมามีคุณภาพที่สูงที่สุด
ความสำเร็จในการสร้างกล้องจิ๋วนี้ น่าจะสามารถนำเทคโนโลยี metasurface ไปช่วยเหลืองานทางด้านอื่นๆ ได้ เช่น ด้านการแพทย์อย่างการส่องกล้อง รวมไปถึงวิทยาการหุ่นยนต์ ไปจนถึงการพัฒนากล้องของสมาร์ทโฟน เป็นต้น
ที่มา : TECHSPOT