ประเทศสวิตเซอร์แลนด์อนุมัติให้ใช้ “แคปซูลฆ่าตัวตาย” สำหรับการทำการุณยฆาตแล้ว เพื่อที่ผู้เสียชีวิตจะได้จากไปอย่างสงบโดยไม่ทรมาน
Sarco แคปซูลสำหรับฆ่าตัวตายพัฒนาขึ้นโดย Exit International ได้ผ่านการตรวจสอบทางกฏหมายและได้รับการอนุมัติให้ใช้ในการทำการุณยฆาตได้อย่างถูกกฎหมายที่สวิตเซอร์แลนด์แล้ว
ข้อมูลจาก Swiss Info เผยว่า มีผู้เสียชีวิตจากการทำการุณยฆาตในปี 2020 ที่สวิตเซอร์แลนด์ประมาณ 1,300 คน โดยได้รับความช่วยเหลือและความร่วมมือจากองค์กรช่วยเหลือด้านการุณยฆาต 2 แห่งในประเทศอย่าง Dignitas กับ Exit
การทำการุณยฆาตที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นการใช้สาร sodium pentobarbital แบบเหลว ที่จะส่งผลให้หลับไปในเวลาประมาณ 5 นาที ก่อนจะอยู่ในอาการโคม่าและเสียชีวิตไปไม่ช้าหลังจากนั้น
ด้วยเหตุนี้เอง Sarco จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกใหม่ให้ผู้ที่ต้องการเสียชีวิตอย่างสงบโดยไม่ต้องใช้สารเคมีหรือยาตัวใดฉีดเข้าร่างกาย
Philip Nitschke ผู้ก่อตั้ง Exit International กล่าวถึง Sarco ว่ามันเป็นแคปซูลฆ่าตัวตาย ที่เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกเพื่อช่วยเหลือชาวสวิสฯ ที่ประสงค์จะทำการุณยฆาต ซึ่งสามารถเคลื่อนย้ายไปไว้ที่ไหนก็ได้ที่ต้องการ เมื่อผู้ใช้เอนตัวลงนอนในแคปซูล มันจะทำให้รู้สึกผ่อนคลายและสบายตัว ต่อจากนั้น ผู้ใช้จะต้องผ่านการทดสอบทางจิตวิทยาจากการตอบคำถามบางอย่างเพื่อยืนยันว่าเขานั้นพร้อมแล้วสำหรับการทำการุณยฆาต และผู้ใช้สามารถกดปุ่มที่อยู่ภายในแคปซูลเพื่อเริ่มการทำการุณยฆาตได้ทุกเมื่อที่เขาพร้อมจะบอกลาโลกนี้ ทันทีที่กดปุ่ม ปริมาณออกซิเจนภายในแคปซูลจะลดลงอย่างรวดเร็ว จาก 21% ลดลงเหลือ 1% ภายในเวลาเพียง 30 วินาทีเท่านั้นและมันจะถูกแทนที่ด้วยไนโตรเจน
Nitschke กล่าวเพิ่มเติมว่าผู้ใช้จะรู้สึกผ่อนคลาย ไม่ทรมาน ไม่ทุรนทุราย ก่อนจะหมดสติ และเสียชีวิตอย่างสงบในเวลา 5-10 นาทีหลังจากนั้น
ปัจจุบัน Sarco มีแคปซูลต้นแบบอยู่ 2 ตัว ตัวที่ 3 กำลังอยู่ระหว่างการผลิตในประเทศเนเธอร์แลนด์ คาดว่าจะพร้อมใช้งานจริงในปี 2022
ส่วนเรื่องการพัฒนาฟังก์ชันเสริมอื่นๆ ของ Sarco นั้น เนื่องจากการระบาดอย่างหนักของ COVID-19 ส่งผลให้การพัฒนาฟังก์ชันต่างๆ นั้นล่าช้าออกไป ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเรื่องกล้องภายในแคปซูลเพื่อให้ผู้ใช้สื่อสารกับคนภายนอกได้ เป็นต้น
ปัจจุบัน มีหลายประเทศที่สามารถทำการุณยฆาตได้อย่างถูกกฎหมาย เช่น สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม ลักเซมเบิร์ก แคนาดา และโคลอมเบีย แต่จะมีกฏเกณฑ์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ
ที่มา : BRG