คำฮิตที่เราใช้กันมีอะไรบ้าง ได้อิทธิพลมาจากไหน มาได้อย่างและมีคำไหนที่ฮิตมากที่สุด เราคัดมาแล้วมันคือ ‘ปังปุริเย่’ วลีฮิตประจำปี 2564
ภาษาไทยเป็นอีกหนึ่งภาษาที่มีความลื่นไหลสูง คนไทยอาจจะเป็นหนึ่งในชาติที่มีความครีเอทีฟสูงก็ว่าได้ เพราะไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรก็มักจะสร้างแฮชแท็ก หรือวลีใหม่ๆ ให้กับเรื่องในกระแสได้อย่างรวดเร็ว หรือแม้กระทั่งเวลาพิมพ์ผิด, เปลี่ยนวรรณยุกต์, เปลี่ยนตัวสะกด, ตัดคำ ก็เกิดเป็นคำศัพท์ใหม่เพื่อเพิ่มอรรถรสในการสนทนาอย่างไม่รู้จบ เช่น ยืนหนึ่ง, เกินต้าน, มงลง, พส., ดือ, สู่ขิต, ความโป๊ะเป็นศูนย์ เป็นต้น บางคำมาจากผู้ทรงอิทธิพลในสังคม บางคำเริ่มใช้เฉพาะกลุ่ม ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา จึงได้เห็นคำสแลงหรือวลีติดปากเกิดขึ้นเป็นกระแสมากมายบนโลกโซเชียล
บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ทำการสำรวจวลีฮิตประจำปี 2564 ทั้งหมดมากกว่า 150 คำ และ‘ปังปุริเย่’ วลีฮิตประจำปี 2564 ทำการเก็บข้อมูลผ่านเครื่องมือ ZOCIAL EYE ตลอดทั้งปี (วันที่ 1 มกราคม – 8 ธันวาคม 2564 เพื่อจัดอันดับ 10 วลีที่มีจำนวนการพูดถึงและจำนวนเอ็นเกจเมนต์สูงที่สุด พร้อมส่องที่มาของแต่ละคำว่ามีต้นตอมาจากไหน ใครหยิบยกไปใช้กันบ้าง
ทุกคนพอจะเดากันได้ไหมว่ามีคำไหนบ้าง จะมีคำที่คุณใช้เป็นประจำทุกวันหรือเปล่า ลองไปดูกันเล้ย
- ปัง (3,147,078 ข้อความ, 216,656,590 เอ็นเกจเมนต์) ปัง! ในความหมาย เลิศ, อลังการ, ดี! ชาวโซเชียลใช้คำนี้กันมาสักพักใหญ่และมักใช้ร่วมกับคำอื่น อาทิ ปังมาก, ปังปุริเย่, ปังไม่ไหว, สุดปัง
- สภาพ (1,887,529 ข้อความ, 178,830,358 เอ็นเกจเมนต์) จากไลฟ์ของ พส. หรือพระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ ที่มียอดเข้าชมกว่า 2 แสนคน มีหนึ่งคำที่หยิบยกมาใช้บ่อยๆ คือ สภาพ ซึ่งเมื่อถามถึงความหมายจากพระมหาไพรวัลย์ท่านก็ตอบกลับมาว่า “สภาพก็คือ สภาพไง ขายขำหรอ” นั่นเอง ชาวโซเชียลที่ถูกอกถูกใจจึงหยิบคำนี้มาใช้อยู่บ่อยๆ
- น้อน (1,822,825 ข้อความ, 101,661,318 เอ็นเกจเมนต์) ถัดมาคือคำว่าน้อน ที่แปลงเสียงมาจากคำว่า น้อง ชาวโซเชียลมักใช้คำนี้เรียกสิ่งมีชีวิตที่น่าเอ็นดู และมักจะพิมพ์ นนนนนนนน เพื่อเพิ่มความน่ารักสดใสทวีคูณขึ้นอีก 10 เท่า
- ต้าว (1,269,500 ข้อความ, 101,581,279 เอ็นเกจเมนต์) อีกหนึ่งคำที่แปลงเสียงมาจากคำว่า เจ้า เพื่อแสดงถึงความน่ารักน่าเอ็นดู บางครั้งอาจลากเสียงว.แหวน เพิ่มกิมมิคความเอ็นดูเข้าไปอีก โดยชาวโซเชียลมักใช้คำนี้ร่วมกับคำอื่น เช่น ไอ้ต้าวบ้า, ไอ้ต้าวฟามรัก, ไอ้ต้าวยูกหมา เป็นต้น
- คลั่งรัก (808,051 ข้อความ, 73,109,345 เอ็นเกจเมนต์) อาการตกหลุมรักระดับมากที่สุด ระดับที่ใช้เสียงสอง เสียงสาม เสียงสี่
- ของมันต้องมี (547,494 ข้อความ, 65,609,253 เอ็นเกจเมนต์) #ของมันต้องมี อาการอยากได้ของสิ่งหนึ่งที่จริงๆ ก็ไม่ได้จำเป็นกับชีวิต แต่จำเป็นต้องมีไว้เพื่อความชิค คำนี้เป็นวลีฮิตเมื่อหลายปีก่อนจากคุณสู่ขวัญ บูลกุล ที่ชาวโซเชียลขาช้อปยังคงใช้กันมากปัจจุบันนี้
- จุกๆ (384,508 ข้อความ, 72,702,458 เอ็นเกจเมนต์) ที่แปลว่า แบบเต็มที่, เต็มอิ่ม ชาวโซเชียลมักใช้คำนี้กับการอยากทำอะไรให้สุดๆ ไปเลย เช่น หยุดอยู่บ้านนาน อยากไปเที่ยวแบบจุกๆ, อาหารจานใหญ่จุกๆ, กินแบบจุกๆ
- หิวแสง (361,006 ข้อความ, 10164906 เอ็นเกจเมนต์) คำศัพท์ใหม่ที่พึ่งเกิดขึ้นได้ไม่นานแต่ก็ได้รับเอ็นเกจเมนต์อย่างท่วมท้นจากชาวโซเชียล โดยคำนี้จะใช้เรียกคนที่ต้องการเป็นจุดสนใจของสังคม เช่น ทำคอนเทนต์ดราม่าออกมาเรียกยอดไลก์, แสดงความคิดเห็นไม่เหมาะสมและไม่รู้กาลเทศะ, หรือพูดจาบั่นทอนความรู้สึกคนอื่น ซึ่งมักจบลงด้วยการทัวร์ลงนั่นเอง
- ต๊าช (278,296 ข้อความ, 34,329,159 เอ็นเกจเมนต์) มาต่อกับ คำว่า ‘ต๊าซ’ ที่ต้องเน้นเสียงและใส่อารมณ์เวลาพิมพ์หรือพูด ต๊าช มีความหมายว่า ยอดเยี่ยม, ปัง, ดีย์! คนที่นำคำนี้มาใช้เป็นคนแรก คือ สไปรท์ บะบะบิ ยูทูปเบอร์สายฮาและเจ้าของเพจสไปรท์ไงที่ไหล่กว้าง
- จึ้ง (213,403 ข้อความ, 31,543,748 เอ็นเกจเมนต์) อีกหนึ่งคำที่มีความหมายว่า เลิศ, ดี ชาวโซเชียลมักใช้คำนี้ร่วมกับคำว่า มากแม่ เพิ่มความปังเข้าไปให้คู่สนทนาแบบ 10 10 10
นอกจากนี้ ยังมีคำอื่นๆ ที่ชาวโซเชียลใช้อย่างแพร่หลาย อาทิ เกินต้าน, จกตา, กล้าที่จะ, เอาปากกามาวง, ปั๊ว, จึ้ง, อรุ่มเจ๊าะ, จะเทย โดยแต่ละคำได้รับเอ็นเกจเมนต์เกิน 1,000,000 เอ็นเกจเมนต์ จะเห็นได้ว่าปีนี้เป็นอีกปีที่ชาวโซเชียลมีการใช้คำศัพท์และภาษาเฉพาะกลุ่มของตนเอง คำใหม่ๆ ก็เกิดขึ้นเยอะมากเช่นกัน ซึ่งบางคำกลายมาเป็นปรากฎการณ์บนโลกออนไลน์เลยทีเดียว ยิ่งรู้คลังศัพท์เหล่านี้มากก็จะได้ไม่ตกเทรนด์ เดี๋ยวจะคุยกับวัยสะรุ่นเมืองทิพย์ไม่รู้เรื่อง!!