เมื่อถึงจุดที่สงครามเกิดขึ้นจริง เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญและมีส่วนช่วยเหลือผู้คนเป็นอย่างมาก นักพัฒนาแอปของยูเครนได้สร้าง “แอปสงคราม” ขึ้นมาเพื่อให้ชาวยูเครนช่วยกันสอดส่องและอัปเดตข้อมูล แทนที่จะพัฒนาพวกแอปสำหรับผู้ใช้/ผู้บริโภค
รัฐบาลยูเครนได้พัฒนาแอป eVorog หรือ eBopor หรือ e-Enemy ขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนช่วยและมีส่วนร่วมในการรายงานข้อมูลต่างๆ อย่างจำนวนอาวุธ อาวุธที่ใช้ และรูปแบบการโจมตีเมื่อเจอกับทหารรัสเซีย โดยแอปนี้มีรูปแบบเป็น chatbot ทำงานผ่านแพลตฟอร์มของ Telegram ที่เป็นช่องทางการสื่อสารที่ได้รับความนิยมในยูเครน อีกทั้งยังสามารถตรวจสอบได้คนที่กำลังคีย์ข้อมูลเข้ามานั้นเป็นสายของรัสเซียเพื่อเข้ามาสืบข้อมูลหรือไม่ มีผู้ใช้งานเข้ามาร่วมรายงานผ่านแอปกว่า 200,000 คน ที่สำคัญ มันสามารถช่วยสกัดกั้นและปราบกองกำลังที่บุกรุกได้กว่า 10,000 คน อีกทั้งยังช่วยทำลายรถถัง รถหุ้มเกราะ และรถยนต์ได้มากถึง 4,000 คัน
นอกจาก e-Enemy แล้ว รัฐบาลยูเครนยังมีแอป Diia (แปลว่า Action) ที่กระทรวงดิจิทัลของยูเครนเปิดตัวเมื่อต้นปี 2020 ที่ทำงานเหมือนกับใบขับขี่ดิจิทัล และมีการรวบรวมลิงก์ไปยังบริการสาธรณะต่างๆ ตั้งแต่ใบรับรองการฉีดวัคซีน COVID-19 ไปจนถึงใบอนุญาตก่อสร้าง และยังเป็นอีกช่องทางที่สามารถรายงานข้อมูลความเคลื่อนไหวของกองกำลังทหารรัสเซียได้
บริการรักษาความปลอดภัยระบบของยูเครนยังมีการรัน bot ของ Telegram อย่าง @stop_russian_war_bot แยกอีกตัว โดยจะเปิดให้ผู้คนส่งรายละเอียดการพบเห็นบุคคลและยานพาหนะที่น่าสงสัยเข้ามาได้
ทางด้านศูนย์ยุทธศาสตร์การสื่อสารและความปลอดภัยของข้อมูล ภายใต้กระทรวง ICT ของยูเครนได้ใช้ Google Form ในการประสานงานกับประชาชนเพื่อจัดกิจกรรมประท้วงเพื่อต่อต้านสงครามใน 18 เมืองทั่วโลก
บริษัทการตลาดที่ช่วยนาย Volodymyr Zelensky ประธานาธิบดียูเครนหาเสียงผ่านแพลตฟอร์ม e-Zelensky นั้นเข้ามาช่วยเหลือรัฐบาลยูเครนด้วยการไปล็อบบี้บริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ ทั่วโลกให้ทำการคว่ำบาตรรัสเซีย
สำหรับประชาชนที่ทำงานที่บ้านหรือหลบอยู่ในที่กำบัง/ที่หลบภัย มีทีมโปรแกรมเมอร์ร่วมมือกันสร้างแอปแจ้งเตือนชื่อ Air Alert ที่ช่วยแจ้งเตือนภัย กลายเป็นแอปที่ถูกดาวน์โหลดไปใช้งานมากที่สุดในยูเครน ปัจจุบันมีผู้ใช้งานกว่า 4 ล้านคน
ด้าน International Legion of Territorial Defense ของยูเครนที่เป็นกองกำลังอาสานานาชาติเองก็มีเว็บไซต์ https://fightforua.org/ ให้ผู้คนทั่วโลกที่ต้องการร่วมรบกับทางยูเครนสามารถยื่นใบสมัครและสัมภาษณ์ทางออนไลน์ได้
ทางการยูเครนยังได้รับความช่วยเหลือจากบริษัทเทคโนโลยีของยูเครนโดยการให้เครื่องมือที่ชื่อ Prykhystok ซึ่งเป็นเว็บไซต์สำหรับประสานงานเรื่องการจัดห้องพักร่วมกันสำหรับผู้ลี้ภัยชาวยูเครนที่หลบหนีออกจากเขตสงคราม ยังมี UkraineNow เว็บไซต์จากองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่เข้ามาช่วยประสานงานเรื่องการเดินทางกับคนขับที่เป็นอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือเรื่องการเดินทางและพาคนหลบหนีไปด้วยกัน , Pomich เว็บไซต์ที่พัฒนาโดยสตาร์ทอัพเทคโนโลยีการขนส่งของยูเครน และ CARGOFY ที่ช่วยประสานงานกับเจ้าของรถบรรทุกกับผู้คนที่ต้องการขนย้ายอาหารและเสบียง
จะเห็นว่าในยามศึกสงครามนั้น ยูเครนได้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยเหลือการป้องกันประเทศหลายตัว
ที่มา : The Washington Post