Adobe

Adobe เผย พนักงานและผู้จัดการ มากกว่า 70% มีการเข้าถึงเครื่องมือดิจิทัล เพื่อช่วยลดอัตรา Great Resignation

รายงานวิจัยของ Adobeเผย มากกว่า 70% ของพนักงานและผู้จัดการพบว่า การเข้าถึงเครื่องมือดิจิทัลที่ทันสมัย เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดอัตรา Great Resignation

แน่นอนว่าการทำงานจากที่บ้านในช่วงสองปีที่ผ่านมานับเป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก แต่จะเป็นเรื่องยากมากยิ่งขึ้นถ้าหากเราไม่สามารถเข้าถึงเครื่องมือที่รองรับการทำงาน การติดต่อสื่อสาร และการทำงานร่วมกันผ่านการเชื่อมต่อระยะไกลในช่วงเวลาดังกล่าว

นี่คือหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ระบุไว้ในรายงานฉบับล่าสุดของอะโดบีที่มีชื่อว่า “The Future of Time: Hybrid Workplace” ที่เจาะลึกปัญหา ความท้าทายและโอกาสของการทำงานในโลกยุคใหม่

ขณะที่องค์กรต่าง ๆ เปลี่ยนรูปแบบการทำงานแบบ WFH ไปสู่การทำงานแบบไฮบริด เราต้องการที่จะศึกษาว่าความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างไรบ้างต่อการทำงานของบุคลากร รวมถึงบทบาทของเทคโนโลยีในโลกยุคใหม่ของการทำงาน  เราได้สำรวจความคิดเห็นของพนักงานและผู้จัดการ 1,400 คนในองค์กรขนาดใหญ่ รวมถึงเอสเอ็มอี ในประเด็นที่เกี่ยวกับการทำงานแบบไฮบริด เทคโนโลยี และอนาคตของการทำงาน เพื่อตรวจสอบว่าสถานที่ทำงานที่เปลี่ยนไปส่งผลกระทบอย่างไรต่อทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุดสำหรับทุกคน ซึ่งนั่นก็คือ “เวลา”

อะโดบี Great Resignation

ผลการสำรวจของเราชี้ให้เห็นถึงปัญหาท้าทายสำคัญ ๆ ที่บุคลากรต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน และเราได้เสนอแนะแนวทางสำหรับองค์กรต่าง ๆ ที่ต้องการเสริมศักยภาพให้แก่ทีมงานเพื่อก้าวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต

เทคโนโลยีมีความสำคัญมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

การทำงานแบบไฮบริดมีประโยชน์อย่างมากต่อบุคลากรที่ทำงานเกี่ยวข้องกับข้อมูล เพราะช่วยลดเวลาที่ต้องใช้ในการเดินทางไปทำงาน และทำให้มีเวลามากขึ้นสำหรับการจัดการเรื่องส่วนตัว อีกทั้งยังช่วยรักษาองค์ประกอบที่สำคัญของการทำงานในออฟฟิศ เช่น วัฒนธรรมองค์กร และชุมชน

แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงย่อมมาพร้อมกับปัญหาท้าทายบางประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี  พนักงานและผู้จัดการที่ทำงานแบบไฮบริด มีการแบ่งเวลาสำหรับการทำงานที่บ้านและที่ออฟฟิศ ระบุว่าตนเองใช้เวลาประมาณ 5-7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในการติดตั้งหรือแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเทคโนโลยี  เมื่อถามว่าอะไรคือปัญหาท้าทายที่สำคัญที่สุดในการเปลี่ยนย้ายไปสู่การทำงานแบบไฮบริด พนักงานเกือบ 70% ตอบว่า “เทคโนโลยี” ซึ่งครอบคลุมทั้งในส่วนของการติดตั้งระบบ การทำงานร่วมกันบนไฟล์ข้อมูล และการแก้ไขปัญหา เช่น สัญญาณ WiFi ที่ขาด ๆ หาย ๆ และการแก้ไขเอกสารที่ใช้ร่วมกันในกลุ่มเพื่อนร่วมงานที่ทำงานแบบไฮบริด

แม้ว่าเทคโนโลยีจะก่อให้เกิดอุปสรรคบางประการต่อการทำงานแบบไฮบริด แต่ขณะเดียวกันก็มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการแก้ไขปัญหาเรื่องประสิทธิภาพการทำงานที่องค์กรต่าง ๆ ต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน  ทั้งนี้จากการสำรวจพบว่า พนักงานจำนวนมากเชื่อว่าการทำงานแบบไฮบริดไม่อาจเกิดขึ้นได้ถ้าหากไม่มีเครื่องมือดิจิทัลที่ทันสมัย โดย 3 ใน 4 คนระบุว่าการเข้าถึงเครื่องมือดิจิทัลก่อให้เกิดผลดีต่อการทรานส์ฟอร์มไปสู่รูปแบบการทำงานไฮบริด

พนักงานคนหนึ่งในองค์กรขนาดใหญ่บอกกับเราว่า “การทำงานแบบไฮบริด เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลยถ้าหากไม่มีเทคโนโลยี  ผมต้องเรียนรู้ที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง ซึ่งถ้าอยู่ในที่ทำงาน พนักงานฝ่ายไอทีก็จะเป็นคนจัดการเรื่องนี้ และผมคงไม่สามารถทำงานได้เลยถ้าหากไม่มีเทคโนโลยีที่ใช้รองรับการทำงาน”

เทคโนโลยีที่ดีกว่าจะช่วยลดช่องว่างในการมีส่วนร่วมของพนักงาน-ผู้จัดการ

ขณะที่หลาย ๆ บริษัทเริ่มออกนโยบายการกลับเข้าทำงานในออฟฟิศ พบว่าผู้จัดการและพนักงานมีความเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับพัฒนาการล่าสุด และเมื่อตรวจสอบลึกลงไป เราพบว่า “เทคโนโลยี” เป็นปัจจัยที่ช่วยอธิบายความเห็นที่แตกต่างกันของผู้จัดการและทีมงาน กล่าวคือ พนักงาน 1 ใน 3 รู้สึกว่าตนเองไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ เพราะผู้จัดการใช้เทคโนโลยีที่ล้าสมัยหรือมีปัญหาในการใช้เครื่องมือที่ทันสมัยในการทำงานร่วมกัน และมีเพียง 1 ใน 2 เท่านั้นที่รู้สึกว่าผู้จัดการของตนเองมีความชำนาญในเรื่องเทคโนโลยีในระดับหนึ่ง  ที่จริงแล้วพนักงานจำนวนมากระบุว่าระบบที่ไร้ประสิทธิภาพในแง่ของเทคโนโลยีส่งผลให้พนักงานต้องใช้เวลามากขึ้นในการทำงาน ขณะที่ประสิทธิภาพการทำงานลดน้อยลง

ส่วนประเด็นที่ผู้จัดการและพนักงานมีความเห็นสอดคล้องกันก็คือ แนวคิดที่ยืดหยุ่นและมุ่งเน้นดิจิทัลเป็นหลักจะช่วยเสริมศักยภาพให้แก่ทีมงานได้อย่างแท้จริง ทั้งผู้จัดการและพนักงานพึงพอใจกับชั่วโมงการทำงานที่ปรับเปลี่ยนได้ การลาป่วย-ลากิจที่ยืดหยุ่น และการอัพเกรดเทคโนโลยีที่มีอยู่ในออฟฟิศเพื่อรองรับการทำงานแบบไฮบริดสำหรับทุกคน  ทั้งนี้บริษัทจำเป็นที่จะต้องตระหนักว่าไม่มีโซลูชั่นแบบครอบจักรวาลที่สามารถใช้ได้กับทุกสถานการณ์  ทางที่ดีผู้บริหารควรจะรับฟังความเห็นจากพนักงานเพื่อให้เข้าใจว่าอะไรคือเครื่องมือที่จะช่วยเสริมศักยภาพให้แก่พนักงานได้มากที่สุด รวมไปถึงรูปแบบการทำงานที่เหมาะกับออฟฟิศนั้น ๆ

อะโดบี Great Resignation

“เทคโนโลยี” เป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยลดปัญหาพนักงานลาออก

แน่นอนว่าความเหลื่อมล้ำทางด้านเทคโนโลยียังคงเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้พนักงานจำนวนมากลาออก  ตัวอย่างเช่น จากการสำรวจพบว่า พนักงาน 72% และผู้จัดการ 88% ระบุว่าการเข้าถึงเครื่องมือดิจิทัลที่ทันสมัยเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการประเมินตำแหน่งงานใหม่  นอกจากนี้ยังพบว่า พนักงาน 61% รู้สึกเหนื่อยล้าและหมดไฟในการทำงานเนื่องจากการลาออกของคนในทีม และความรู้สึกดังกล่าวยิ่งเพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มพนักงานที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัย  ยิ่งไปกว่านั้น พนักงาน 1 ใน 3 คนระบุว่าตนเองอาจจะหางานใหม่ในปีหน้า  ด้วยเหตุนี้บริษัทต่าง ๆ จึงควรอัพเกรดเทคโนโลยีที่มีอยู่เพื่อปรับเปลี่ยนสถานที่ทำงานให้เป็นแบบไฮบริดอย่างเหมาะสม และช่วยให้ทุกคนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม และที่สำคัญก็คือ บริษัทควรเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงในทันทีก่อนที่จะสายเกินไป

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถดาวน์โหลดรายงาน The Future of Time: Hybrid Workplace ฉบับเต็มได้ ที่นี่