AIS เดินหน้าชนมิจฉาชีพ พร้อมปกป้องลูกค้า เปิดสายด่วนโทรฟรี 1185 ครั้งแรกในไทย ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนเบอร์โทรและ SMS มิจฉาชีพ – AIS Spam Report Center ผนึกกำลัง ตำรวจไซเบอร์ รับแจ้ง ตรวจสอบพร้อมดำเนินคดีตามกฎหมายขั้นสูงสุด
AIS เดินหน้าปกป้องลูกค้าจากกลุ่มมิจฉาชีพและแก๊งคอลเซ็นเตอร์ พร้อมขยายขีดความสามารถการตรวจจับภัยคุกคามที่ละเมิดการใช้งาน รวมถึงการรักษาความปลอดภัยด้านไซเบอร์เพื่อปกป้องการใช้งานของลูกค้า ตามเจตนารมณ์การเป็นเครือข่ายปลอดภัยสำหรับคนไทย โดยล่าสุดได้ เปิดสายด่วนโทรฟรี 1185 ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน หรือ AIS Spam Report Center ครั้งแรกในวงการธุรกิจโทรคมนาคม อำนวยความสะดวกให้ลูกค้าโทรฟรี
เพื่อแจ้งข้อมูลเบอร์โทรและ SMS มิจฉาชีพ พร้อมดำเนินการตรวจสอบข้อมูลภายใน 72 ชั่วโมง หากตรวจพบความผิดปกติและยืนยันได้ว่าเบอร์โทรและ SMS ดังกล่าวเป็นกลุ่มมิจฉาชีพจริง AIS จะทำการบล็อกเบอร์โทรและ SMS ในทันที และแจ้งกลับลูกค้า พร้อมกันนี้ยังได้ทำงานร่วมกับ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ตำรวจไซเบอร์ เพื่อสืบสวน สอบสวน ตรวจสอบ และดำเนินการทางกฎหมายในการจับกุม เอาผิดกับกลุ่มมิจฉาชีพอย่างเด็ดขาด แก้ปัญหาแบบถอนรากถอนโคน
นายปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหาร กลุ่มลูกค้าทั่วไป AIS กล่าวว่า “การปกป้องข้อมูลและการใช้งานของลูกค้าถือเป็นเป้าหมายสูงสุดของเราในฐานะผู้ให้บริการเครือข่าย ซึ่งที่ผ่านมาเราได้พัฒนาดิจิทัลเซอร์วิสอย่าง AIS Secure Net ที่เปิดให้บริการสำหรับลูกค้าได้ใช้งานฟรี! เพื่อป้องกันภัยไซเบอร์จากการใช้งานไม่ว่าจะเป็น สแปม ฟิชชิ่ง ไวรัสต่างๆ รวมถึงบริการ Google Family Link สำหรับลูกค้าทุกเครือข่าย ที่สามารถดูแลการใช้งานโทรศัพท์มือถือของบุตรหลานให้อยู่บนความปลอดภัยและสร้างสรรค์”
“จากปัญหามิจฉาชีพที่ละเมิดการใช้งานประชาชนที่เกิดขึ้นหลากหลายรูปแบบในปัจจุบันนั้น นอกเหนือจากการทำงานร่วมกับ กสทช.ในการจัดระเบียบมิจฉาชีพที่แฝงการส่ง Spam SMS หรือ Spam โทร มารบกวนลูกค้า เพื่อปิดกั้นตั้งแต่ต้นทางแล้ว เรายังมองถึงช่องทางที่จะอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าในการแจ้งข้อมูล อันจะนำมาซึ่งการติดตาม ตรวจสอบ แก้ปัญหาแบบถอนรากถอนโคนอีกด้วย
ดังนั้นครั้งนี้จึงเป็นก้าวสำคัญที่จะยืนยันถึงเจตนารมณ์ของเราที่จะให้ AIS เป็นเครือข่ายปลอดภัยของคนไทย เราจึงเปิดตัว สายด่วน 1185 ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนเบอร์โทรและ SMS มิจฉาชีพ หรือ AIS Spam Report Center ให้ลูกค้า AIS สามารถโทรฟรีในรูปแบบ IVR Self Service และ AI Chatbot เพื่อแจ้งเบอร์โทรหรือ SMS ที่คาดว่าเป็นกลุ่มมิจฉาชีพ
โดยเราจะดำเนินการตรวจสอบถึงที่มา รายละเอียดการจดแจ้งลงทะเบียน รูปแบบการโทรของเบอร์ดังกล่าว ซึ่งจะบ่งชี้ได้ว่าเป็นเบอร์หรือ SMS ของกลุ่มมิจฉาชีพหรือไม่ หลังจากนั้นเราจะดำเนินการบล็อกเบอร์และ SMS นั้นๆ โดยทันที พร้อมแจ้งกลับไปยังลูกค้าภายใน 72 ชั่วโมง”
“โดยการทำงานของ AIS ในวันนี้ นอกเหนือจากการบล็อกเบอร์ พร้อมรายงานการแจ้งร้องเรียนของลูกค้ากลับไปยัง กสทช. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลแล้ว เรายังทำงานเชิงรุกโดยได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจาก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อดำเนินการขั้นเด็ดขาดต่อกลุ่มมิจฉาชีพ ด้วยการส่งข้อมูลของเบอร์โทร/SMS ของมิจฉาชีพไปยังตำรวจไซเบอร์ ซึ่งจะช่วยทำให้กระบวนการสืบสวนสอบสวนของตำรวจไซเบอร์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และสามารถติดตามจับกุมผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมายได้”
พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้บัญชาการ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีกล่าวว่า “การที่ AIS ได้อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการแจ้งเรื่องร้องเรียนเบอร์โทรและ SMS จากกลุ่มมิจฉาชีพผ่านสายด่วน 1185 ในครั้งนี้ นับว่ามีประโยชน์ต่อผู้ใช้งาน รวมถึงการทำงานของเราเป็นอย่างมาก เพราะจะทำให้เราสามารถติดตามผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีทางกฎหมายได้อย่างรวดเร็ว เพื่อไม่ให้กลุ่มคนเหล่านี้ไปสร้างความเดือดร้อน เสียหายให้กับผู้ที่รู้ไม่เท่าทันได้อีก”
แน่นอนว่าการทำงานร่วมกับ AIS ในครั้งนี้ สอดคล้องกับภารกิจของกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีคือการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีโดยตรง ที่มีเป้าหมายในการยับยั้งรวมถึงแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด โดยข้อมูลที่ประชาชนได้ร้องเรียนเข้ามาผ่านสายด่วน 1185 ซึ่ง AIS ได้ทำการตรวจสอบและพบว่าเป็นกลุ่มมิจฉาชีพจริง จะทำให้เราสามารถติดตามจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีทางกฎหมายได้อย่างแน่นอน”
นายปรัธนา กล่าวในช่วงท้ายว่า “ปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกจากเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว การจะแก้ปัญหาได้นั้นนอกเหนือจากการ Update เทคโนโลยีแล้ว ยังต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่จะมาทำงานร่วมกันอย่างไร้รอยต่อ รวมถึงสร้างการตระหนักรู้เท่าทันให้แก่ผู้ใช้งานควบคู่กันไป การเปิดตัว AIS Spam Report Center 1185 ในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างมาตรฐานใหม่ในอุตสาหกรรม เพราะเป็นการทำงานเชิงรุกที่มิได้มองเพียงแค่การปิดกั้นการเข้าถึงจากมิจฉาชีพเท่านั้น แต่มองไปถึงการร่วมมือกับภาครัฐ อย่าง กสทช. และ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อแก้ปัญหาให้ถึงต้นตอ สร้างความเกรงกลัวให้แก่มิจฉาชีพก่อนนำเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย มอบความอุ่นใจจากการใช้งานบนโลกไซเบอร์ ตอกย้ำเจตนารมณ์การเป็นเครือข่ายปลอดภัยสำหรับคนไทย”