ย้อนความสำเร็จในปีแรกของโครงการผลิต เครื่องตรวจจอประสาทตา EYELIKE จากซัมซุง ที่เปลี่ยนเทคโนโลยีสู่การปกป้องผู้คนและโลก
วันอนามัยโลกปีนี้ถูกจัดขึ้นภายใต้คอนเซปต์ “โลกของเรา สุขภาพของเรา” (Our Planet, Our Health) เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งระหว่างสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม โดยซัมซุง อิเลคโทรนิกส์ มีความตั้งใจที่จะพัฒนาแนวทางปฏิบัติที่สร้างสรรค์และยั่งยืน ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยรักษาทรัพยากรของโลกเท่านั้น แต่ยังพร้อมสนับสนุนเพื่อการดูแลสุขภาพที่เข้าถึงได้ ผ่านโครงการ Galaxy Upcycling program
และเพื่อเป็นการรำลึกถึงวันอนามัยโลก ซัมซุงขอย้อนกลับไปยังปีแรกของการดำเนินการโครงการนี้ ซึ่งมีการอัพไซเคิลอุปกรณ์กาแลคซี่ที่ผ่านการใช้งานแล้วกว่าร้อยชิ้น เพื่อส่งมอบการดูแลดวงตาให้แก่คนไข้กว่า 3,000 ราย ในประเทศโมรอคโค อินเดีย และปาปัวนิกินี
“โปรแกรม Galaxy Upcycling จากซัมซุง ได้เปลี่ยนสมาร์ทโฟนให้กลายเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีค่า ซึ่งนอกจากแก้ปัญหาเรื่องการดูแลสุขภาพดวงตาแล้ว โปรแกรมนี้ยังเป็นตัวอย่างที่ดีของซัมซุงในการคิดค้นวิธีการที่สร้างสรรค์เพื่อลดขยะอิเลคโทรนิกส์และรีไซเคิลทรัพยากรอันมีค่าของโลก” ดร.เซ็งชอล ยูน ศาสตราจารย์ประจำวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยยอนเซ และศาสตราจารย์รับเชิญที่โรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ด กล่าว
การอัพไซเคิลเทคโนโลยีจากกาแลคซี่สู่กล้องวินิจฉัยโรค
ปัจจุบันมีประชากรกว่าพันล้านคนทั่วโลกประสบปัญหาทางการมองเห็น กว่า 90% ของคนกลุ่มนี้อาศัยอยู่ในประเทศที่มีรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ และประสบปัญหาในการเข้าถึงการดูแลสุขภาพดวงตาที่มีคุณภาพ ด้วยเหตุนี้ ซัมซุงจึงร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการป้องกันการตาบอด (IAPB) และระบบสุขภาพมหาวิทยาลัยยอนเซ (YUHS) เพื่อเปลี่ยนเทคโนโลยีกาแลคซี่ที่ไม่ใช้งานแล้วเป็นกล้องวินิจฉัยโรคทางการแพทย์ที่มีชื่อว่า EYELIKE เครื่องตรวจจอประสาทตา EYELIKE จากซัมซุง หรือเครื่องตรวจจอประสาทตาที่ช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญสามารถคัดกรองอาการของคนไข้ก่อนนำไปสู่อาการตาบอด
“พวกเรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ทีมของเราในซัมซุงได้มีส่วนช่วยในกระบวนการอัพไซเคิลเทคโนโลยีเพื่อการวินิจฉัยผู้ป่วยผ่านแพลตฟอร์ม EYELIKE” ดร.อาลกนาธ เดอ ผู้อำนวยการที่ปรึกษาผู้บริหาร นวัตกรรมแบบเปิดของสถาบัน Samsung R&D ในบังกาลอร์ กล่าว
การจัดตั้งบริการดูแลดวงตาสำหรับผู้พิการในโมร็อกโก
หลังจากการเปิดตัว EYELIKE ในประเทศโมรอคโค ซัมซุงได้ร่วมมือกับองค์การอนามัยโลกและอีก 21 องค์กร ได้แก่ ศูนย์สาธารณสุขและคลินิกเอกชน เพื่อเปลี่ยนสมาร์ทโฟนเก่าจำนวน 60 เครื่องให้กลายเป็นเครื่องตรวจจอประสาทตา EYELIKE
“ประเทศโมร็อกโกขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ด้านจักษุวิทยา ดังนั้นผมคิดว่า EYELIKE จะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์มหาศาล โดยเฉพาะกับผู้ป่วยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล” ดร.มัวซีน แอเรียท ฮิดา จักษุแพทย์ในประเทศโมรอคโค กล่าว
นักตรวจวัดสายตาท้องถิ่นมีการนำกล้องไปใช้ตรวจคนไข้กว่า 2,028 ราย พร้อมให้การดูแลหลังวินิจฉัยอาการ แบ่งออกเป็น การสั่งตัดแว่นตาสำหรับคนไข้ 128 ราย การนัดหมายเพื่อติดตามผล 205 ราย และประสานกับโรงพยาบาลตาเฉพาะทางเพื่อรับการรักษาพยาบาลเพิ่มเติม 50 ราย
ผลการดำเนินโครงการเพื่อเข้าถึงผู้ป่วยในอินเดีย
อาการตาบอดกำลังเป็นปัญหาสำคัญในประเทศอินเดีย ด้วยเหตุนี้ ซัมซุงจึงเริ่มกระบวนการอัพไซเคิลเพื่อเปลี่ยนสมาร์ทโฟนที่ไม่ใช้แล้วกว่า 200 เครื่อง และส่งมอบให้แก่โรงพยาบาลในท้องถิ่น ซึ่งนวัตกรรมใหม่นี้ถือเป็นความก้าวหน้าทางการรักษาสำหรับผู้ป่วยอย่าง นายจามูนา ปราสาท ผู้ที่ได้รับการตัดแว่นใหม่หลายครั้งเพื่อแก้ไขปัญหาทางการมองเห็นมามากกว่าหนึ่งปี โดยหลังจากที่ตรวจวัดสายตาของเขาด้วยเครื่องตรวจจอประสาทตา EYELIKEที่ศูนย์สุขภาพดวงตาของโรงพยาบาลตาสิตาปูร์ เขาก็ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องว่าเกิดจากภาวะเบาหวานขึ้นจอตา ซึ่งนักตรวจวัดสายตาของเขาเปิดเผยว่าสายตาของนายจามูนาดีขึ้นนับแต่นั้นเป็นต้นมา
ในขณะเดียวกัน นักตรวจวัดสายตายังสามารถใช้กล้องตรวจวินิจฉัยโรคแบบพกพาเพื่อเดินทางไปตรวจให้กับผู้ป่วยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลชุมชน และคัดกรองอาการในการตรวจรักษาปัญหาสายตาต่อไปได้อีกด้วย โดยเครื่องตรวจจอประสาทตา EYELIKE ช่วยให้ผู้ป่วยมากกว่า 1,000 รายในอินเดียได้รับการตรวจคัดกรองจากสถาบันทางการทางแพทย์และพื้นที่ส่วนต่อขยายอื่นๆ ของโครงการ
การฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศปาปัวนิวกินี
ระบบสาธารณสุขของประเทศปาปัวนิวกินีมักจะประสบปัญหาการขาดแคลนแพทย์ที่ผ่านการฝึกอบรมเฉพาะทางและอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการรักษาโรคจอประสาทตา โดยทั้งประเทศมีจักษุแพทย์เพียง 14 คน และมีเครื่องตรวจจอประสาทตาเพียง 3 เครื่องเท่านั้น จึงทำให้อาการตาบอดในประเทศยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น
“จากการดำเนินการของทางโครงการฯ และกล้องตรวจจอประสาทตา EYELIKE ทำให้พวกเรามีอุปกรณ์ที่ช่วยในการดูแลและคัดกรองอาการผู้ป่วยเพียงพอต่อการใช้งานในระดับประเทศ โดยเรากำลังดำเนินการฝึกอบรมแพทย์และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าแพทย์เหล่านี้จะสามารถช่วยวินิจฉัยผู้ป่วยทั่วประเทศและสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาการที่ผู้ป่วยกำลังประสบได้เป็นอย่างดี” ดร.จามบิ การาป ประธานคณะกรรมการป้องกันการตาบอดแห่งชาติและอาจารย์ด้านจักษุวิทยา มหาวิทยาลัยปาปัวนิวกินี กล่าว
โครงการ EYELIKE ช่วยเสริมสร้างความเท่าเทียมด้านสาธารณสุข โดยการฝึกอบรมแพทย์ เจ้าหน้าที่คลินิก หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่ในชุมชน เพื่อการคัดกรองผู้ป่วยโดยใช้อุปกรณ์ และแม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 จะทำให้เกิดความล่าช้าในการตรวจคัดกรองผู้ป่วย ดร.การาป ยังคงรอที่จะกลับมาทำหน้าที่คัดกรองผู้ป่วยอีกครั้งในปีนี้ และหวังว่าจะสามารถส่งผู้ฝึกสอนไปยังชุมชนในชนบทเพื่อให้การฝึกอบรมเพิ่มเติมแก่เจ้าหน้าที่ รวมถึงการทำวิจัยเกี่ยวกับความผิดปกติของดวงตาที่หายาก เช่น โรค Eales ด้วยอุปกรณ์ EYELIKE
วิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืนอันก้าวหน้าของซัมซุง
จากพันธกิจในการควบคุมเทคโนโลยีเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อทั้งผู้คนและโลกใบนี้ ซัมซุงจึงวางแผนที่จะยกระดับความร่วมมือในครั้งนี้ผ่านการสนับสนุนทางด้านเทคนิคอย่างต่อเนื่อง รวมถึงให้ความร่วมมือแบบเปิดกว้าง เพื่อให้มีการฝึกอบรมและคัดกรองผู้ป่วยทั่วประเทศได้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ซัมซุงยังมุ่งมั่นที่จะนำเสนอเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมใหม่เพื่อสร้างอนาคตที่ดีขึ้น และส่งเสริมให้ผู้ใช้นำแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนมาปรับใช้มากยิ่งขึ้น ตลอดจนการดำเนินการที่จับต้องได้เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและปรับเปลี่ยนประสบการณ์ของผู้บริโภคผ่านแพลตฟอร์มความยั่งยืน Galaxy for the Planet โดยโครงการ EYELIKE มีส่วนช่วยให้ซัมซุงสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ ตามเป้าหมายในการลดขยะในหลุมฝังกลบให้กลายเป็นศูนย์ รวมถึงการลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ภายในปี 2025