Google ร่วมกับ YouTube ครีเอเตอร์ จัดกิจกรรม “Safer Songkran” ช่วงสงกรานต์ปีใหม่ไทย สร้างคอนเทนต์เพื่อช่วยปกป้องคนไทยให้ปลอดภัยในโลกออนไลน์และรับมือกับข่าวลวง
Google ประเทศไทย ร่วมกับ YouTube ครีเอเตอร์ จัดกิจกรรม “Safer Songkran” ภายใต้พันธกิจ Safer with Google ตลอดช่วงเดือนเมษายนซึ่งเป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลองเทศกาลวันสงกรานต์และปีใหม่ไทย และเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ผู้คนทุกเพศทุกวัยได้มีโอกาสเดินทางกลับไปใช้เวลาร่วมกับครอบครัว
รวมไปถึงการใช้เวลาร่วมกันระหว่างการเดินทาง จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับ Google ในการช่วยสนับสนุนให้ผู้คนสามารถนำคำแนะนำจากคอนเทนต์ของเหล่าครีเอเตอร์นั้นจากกิจกรรม “Safer Songkran” ไปบอกเล่าและแนะนำสมาชิกในครอบครัวและบุคคลอันเป็นที่รักทั้งเด็กและผู้สูงวัย ที่เกี่ยวกับการทำอย่างไรถึงจะปลอดภัยในโลกออนไลน์และเคล็ดลับการรับมือกับข่าวลวงในชีวิตประจำวัน
แจ็คกี้ หวาง Country Director, Google ประเทศไทย กล่าวว่า “เทศกาลสงกรานต์ในทุกๆ ปีเป็นช่วงเวลาที่คนไทยส่วนใหญ่จะเดินทางกล้บบ้าน แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ที่ทำให้คนไทยไม่สามารถเดินทางกลับไปทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัวได้เหมือนเคย
ดังนั้น ในปีนี้เมื่อประเทศไทยได้มีการผ่อนคลายมาตรการการเดินทาง เราจึงได้จัดกิจกรรมพิเศษโดยมีเป้าหมายหลักเพื่อให้คนในครอบครัวได้ใช้โอกาสที่ได้พบปะกันครั้งนี้แบ่งปันข้อมูลที่เป็นประโยชน์ด้วยกัน เพื่อช่วยให้ทุกคนสามารถอยู่บนโลกออนไลน์ได้อย่างมั่นใจและปลอดภัยด้วยเครื่องมือและฟีเจอร์ต่างๆ ของ Google ที่เราได้มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อง่ายสำหรับผู้ใช้งานในการปรับตั้งค่าความปลอดภัยให้รัดกุมยิ่งขึ้น”
กิจกรรม “Safer Songkran” ที่ Google ได้จัดขึ้นตลอดทั้งเดือนเมษายนสำหรับผู้ใช้งานบนโลกออนไลน์และออฟไลน์ ได้แก่ การจัดทำคอนเทนต์ร่วมกับ 5 YouTube ครีเอเตอร์ชื่อดัง โดยแบ่งเป็นออกเป็นคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ ได้แก่
ช่อง Bie The Ska, ple nakorn CHANNEL และ Peanut Butter และคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับเคล็ดลับการรับมือกับข่าวลวง ได้แก่ช่อง เกษียณสำราญ และ Paul Pattarapon นอกจากนี้ Google ยังได้ร่วมมือกับ ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท และ โคแฟค (ประเทศไทย) ซึ่งทั้ง 2 องค์กรนี้เป็นพันธมิตรของเราด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องที่แชร์กันบนโซเชียล รวมทั้ง เพื่อช่วยเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องและไขข้อสงสัยที่เป็นประโยชน์ในประเด็นที่เป็น กระแสในสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นอยู่รอบตัวเรา”
พีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้ดำเนินรายการ ‘ชัวร์ก่อนแชร์’ กล่าวว่า “ในแต่ละวันมีการแชร์ข้อมูลเผยแพร่ผ่านโซเชียลเป็นจำนวนมาก บางครั้งไม่มีการตรวจข้อมูลนั้นก่อนว่า “จริง แชร์ได้” “จริงบางส่วน ไม่ควรแชร์” หรือ “ไม่จริง อย่าแชร์” บางเนื้อหาสามารถสร้างความเสียหายให้กับครอบครัวจนถึงสังคมไทย อันตรายถึงขั้นการเสี่ยงต่อชีวิต อย่างไรก็ตาม
เรื่องที่น่าชื่นชมซึ่งพบเห็นได้มากขึ้น คือ มีผู้คนหลากหลายช่วงวัย ไม่ยอมปล่อยให้ข้อมูลเท็จมาหลอกลวง พากันตื่นตัวลุกขึ้นมาฝึกฝนและใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีในอุปกรณ์พกพา ตรวจสอบข้อเท็จจริงหาข้อเท็จจริงแบบ ‘Fact Checker’ ร่วมกันไปกับเรา สื่อมวลชน หน่วยงานทางการ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญอีกมากมาย กลายเป็น “วัคซีนไซเบอร์” ที่เปรียบเสมือนภูมิคุ้มกันป้องกันสารพัดภัยออนไลน์ให้กับตนเองและสังคม
และนอกจากนี้ เครื่องมือที่ Google มีไว้ให้ค้นหาเรื่องที่เราอยากรู้ก็เป็นเครื่องมือที่ใช้ช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างดีและคล่องตัว ไม่ว่าจะเป็น ช่องทางการค้นหาตามปกติ คำสั่งค้นหาขั้นสูง การค้นหาแบบเทียบรูปภาพ (Reverse Image Search) รวมไปถึงแท็กการตรวจสอบข้อเท็จจริง (Fact-Check Tag และ Fact Check Explorer) ที่เพิ่งเปิดตัวไม่นานมานี้”
สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้ง โคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวว่า “โคแฟค เป็นนวัตกรรม “Fact Checker” มีเจตนารมณ์เพื่อช่วยให้คนไทยไม่ตกเป็นเหยื่อของข่าวลวงที่มีอยู่ในสื่อสังคมออนไลน์ในทุกรูปแบบ มีกาารทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายป้องกันและตรวจสอบข่าวลวงต่างๆ
ปัจจุบัน คนไทยกำลังเผชิญปัญหาข่าวลวงที่ระบาดหนักในสังคมโดยเฉพาะทางสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ความเข้าใจที่ผิดๆ ด้านสุขภาพโดยเฉพาะในการระบาดของโควิด-19 การหลอกขายสินค้า แชร์ลูกโซ่ การพนันออนไลน์ ข่าวภัยพิบัติต่างๆ ทั้งนี้ เรามีการสร้างพื้นที่ให้มีการแสวงหาข้อเท็จจริงร่วมกันด้วยการเปิดเวทีตลาดทางความคิดเห็นที่หลากหลายเพื่อสร้างสุขภาวะร่วมกันของสังคมไทย”
อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวเสริมว่า “ช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย (Anti Fake News Center : AFNC) ได้รับแจ้งเบาะแส และติดตามการสนทนาบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับข่าวปลอมจำนวนมาก ดังนั้น ในช่วงที่ข่าวปลอมและการหลอกลวงทางออนไลน์แพร่ระบาดเป็นวงกว้าง กระทรวงฯ ขอความร่วมมือประชาชนไม่หลงเชื่อในทันที มีสติ รู้เท่าทัน ระมัดระวังการส่งต่อข้อมูลผ่านโซเชียล ทั้งนี้ ความเท่าทันต่อข่าวปลอม และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก โครงการ Safer Songkran จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ประชาชนจะสามารถอัปเดตความรู้ เพื่อปกป้องตัวเองและคนที่คุณรักได้”นอกจากนี้ Google ยังได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเคล็ดลับความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ เพื่อเป็นการช่วยให้คนไทยสามารถอยู่บนโลกออนไลน์และออฟไลน์ได้อย่างปลอดภัยได้ทุกเพศทุกวันและทุกเวลา