Huawei

หัวเว่ย เผยรายงาน การพัฒนาสีเขียว เพื่อสิ่งแวดล้อมแห่งปี พ.ศ. 2573

หัวเว่ย เผยแพร่รายงาน การพัฒนาสีเขียว แห่งปี พ.ศ. 2573 (Green Development 2030 Report) ในระหว่างการเสวนาหัวข้อ “Green ICT Empowers Green Development” ภายในงานประชุม Huawei Global Analyst Summit 2022 (HAS 2022) ที่จัดขึ้น ณ เมืองเซินเจิ้น ประเทศจีน โดยมีนักวิเคราะห์ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และสื่อมวลชนจากทั่วโลกเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก ในโอกาสนี้ นายเควิน จาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาดของธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานไอซีทีของหัวเว่ย ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษเกี่ยวกับรายงานดังกล่าว พร้อมอธิบายถึงบทบาทและแนวทางที่เทคโนโลยีไอซีทีเข้ามามีผลต่อการพัฒนาอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

รายงานการพัฒนาสีเขียวแห่งปี พ.ศ. 2573 (Green Development 2030 Report) เป็นรายงานฉบับล่าสุดภายใต้รายงานโลกอัจฉริยะ พ.ศ. 2573 (Intelligent World 2030) ที่แสดงถึงวิสัยทัศน์ในอนาคตของของหัวเว่ย และยังถือเป็นแผนแม่บทสู่การพัฒนาภายในอุตสาหกรรมไอซีที รวมไปถึงแนวทางเพื่อช่วยในการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วย รายงานฉบับนี้จัดทำขึ้นโดยอ้างอิงข้อมูลเชิงลึกในอุตสาหกรรมและแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดที่หัวเว่ยได้รวบรวมไว้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา รวมไปถึงข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมอีกกว่า 100 คน และองค์กรภายนอกอีกกว่า 30 แห่ง ซึ่งมีทั้งองค์กรภาครัฐ สมาคมอุตสาหกรรม สถาบันวิจัย และองค์กรเอกชน เป็นต้น

รายงานการพัฒนาสีเขียวแห่งปี พ.ศ. 2573 มุ่งเน้นให้เห็นว่าการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (digitalization) และการลดการปล่อยคาร์บอน (Decarbonization) สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร รวมถึงแนวทางในการนำเทคโนโลยีไอซีทีสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไปใช้ในอุตสาหกรรมสำคัญต่างๆ ภายในปี พ.ศ. 2573 โดยในรายงานได้กล่าวถึง 6 เทรนด์ในอนาคต ดังนี้

  1. พลังงานหมุนเวียนจะเป็นที่แพร่หลาย ในปี พ.ศ. 2573 ไฟฟ้ามากกว่า 50% จะมาจากพลังงานหมุนเวียน สัดส่วนการใช้ไฟฟ้าของผู้บริโภคทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบกับการบริโภคพลังงานประเภทอื่น ขณะเดียวกัน คาดว่าระบบกักเก็บพลังงานทั่วโลกจะสามารถรองรับการกักเก็บได้เพิ่มขึ้น 20 เท่า
  2. ภาคอุตสาหกรรมจะมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แรงงานทุกๆ 10,000 คน จะทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ 390 ตัว
  3. การขนส่งขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าอย่างสมบูรณ์ ทั่วโลกจะมีการใช้งานรถยนต์พลังงานใหม่กว่า 145 ล้านคัน และสถานีชาร์จประจุไฟฟ้าอีกกว่า 100 ล้านสถานี   
  4. อาคารสิ่งก่อสร้างในอนาคตจะปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ (net-zero carbon) ได้สำเร็จ อาคารที่สร้างใหม่คาดว่าจะบรรลุเป้าหมายในการลดก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ได้ภายในปี​ พ.ศ. 2573 ในขณะที่อาคารสิ่งก่อสร้างทั้งหมดคาดว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้ภายในปี พ.ศ. 2593
  5. ระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลสีเขียวจะกลายเป็นข้อกำหนดพื้นฐาน ในปี พ.ศ. 2573 ระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลจะมีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานมากกว่าปัจจุบันถึง 100 เท่า    
  6. การใช้ชีวิตแบบคาร์บอนต่ำจะเป็นที่นิยม ตลาดโทรเวชกรรม (telemedicine) ทั่วโลกคาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า การศึกษาแบบออนไลน์ในประเทศจีนจะโตขึ้น 23 เท่า และยอดผู้ใช้บริการทัวร์เสมือนจริงจะมีมากถึง 1 พันล้านคน
หัวเว่ย การพัฒนาสีเขียว

รายงานฉบับนี้ยังแนะนำ 3 แนวทางในการขับเคลื่อนนวัตกรรมไอซีทีในอนาคตเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย การปรับปรุงประสิทธิภาพด้านพลังงานของระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล การเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้า และการผลักดันให้อุตสาหกรรมมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นายเควินอธิบายว่า “การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (digitalization) และการลดการปล่อยคาร์บอน (Decarbonization) เป็นกระบวนการที่ส่งเสริมซึ่งกันและกันที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเทคโนโลยีไอซีทีเป็นกุญแจสำคัญในกระบวนการนี้  ในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมไอซีที หัวเว่ยมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน และช่วยให้อุตสาหกรรมต่างๆ สามารถประหยัดพลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ดียิ่งขึ้น นี่คือแนวทางของเราในการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับสังคม”

นายแอรอน เจียง ประธานฝ่ายผลิตภัณฑ์ SingleRAN ของหัวเว่ย ซึ่งเข้าร่วมการเสวนาในครั้งนี้ด้วย ได้อธิบายถึงแนวปฏิบัติของหัวเว่ยในการพัฒนาเทคโนโลยีเครือข่ายที่ให้ทั้งประสิทธิภาพและการประหยัดพลังงานสูงสุดว่า “โซลูชัน 5G สีเขียวของหัวเว่ยใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะในการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการใช้พลังงานของสถานีฐานและลดการบริโภคพลังงานทั่วทั้งเครือข่าย”

การเสวนาในครั้งนี้ยังได้รับเกียรติจากแขกรับเชิญหลายท่านซึ่งเป็นตัวแทนจากหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ Global Enabling Sustainability Initiative (GeSI), China Mobile, State Grid Yancheng Power Supply Company และ BYD เป็นต้น ซึ่งแต่ละท่านได้นำเสนอแผนปฏิบัติการและแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดขององค์กรในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

นายลูอิส เนเวส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GeSI กล่าวว่า “เทคโนโลยีไอซีทีมีศักยภาพในการช่วยลดการปล่อยค่าคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e) ทั่วโลกได้ถึง 20% ในปี พ.ศ. 2573 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2558 และยังช่วยให้สามารถแยกความสัมพันธ์ระหว่างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกจากกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นหมายความว่าผลลัพธ์เชิงเศรษฐกิจที่ได้จากโซลูชันไอซีทีในปี พ.ศ. 2573 สูงกว่าร่องรอยคาร์บอนที่เกิดจากไอซีทีเกือบถึง 10 เท่า นอกจากนี้ จากการประเมิน 8 ภาคอุตสาหกรรมสำคัญทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การคมนาคมและโลจิสติกส์ การผลิต อาหาร การก่อสร้าง พลังงาน ธุรกิจ สุขภาพ และการศึกษา พบว่าไอซีทีจะมีส่วนช่วยสร้างสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 11 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งเทียบเท่ากับมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ในประเทศจีนตลอดทั้งปี พ.ศ. 2558 ปัจจุบัน เทคโนโลยีดิจิทัลยังไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งการจะบรรลุเป้าหมายนี้ได้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือร่วมกัน ดังนั้น GeSI จึงอยากเรียกร้องให้อุตสาหกรรมไอซีที   จับมือเพื่อขับเคลื่อนการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างมีเป้าหมายผ่านโครงการ Digital with Purpose ร่วมกัน”                

นายลี Zhongyan รองผู้จัดการทั่วไปแผนกการวางแผนและการก่อสร้างของไชน่า โมบายล์ กล่าวถึงแผนปฏิบัติการสีเขียวล่าสุด “C2 + Three Programs” ซึ่งมีการปรับปรุงเพื่อให้สอดรับกับข้อกำหนดด้านการปล่อยก๊าซคาร์บอนและ เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศจีน แผนปฏิบัติการดังกล่าวครอบคลุมถึงโมเดลการพัฒนาอย่างมีนวัตกรรม ซึ่งมุ่งเน้นการดำเนินงานใน 3 ด้าน ได้แก่ การประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานสะอาด และการผลักดันอุตสาหกรรมให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ 6 โครงการสีเขียว ได้แก่ ระบบเครือข่ายสีเขียว การบริโภคพลังงานสีเขียว ซัพพลายเชนสีเขียว ออฟฟิศสีเขียว การส่งเสริมกิจกรรมสีเขียว และวัฒนธรรมสีเขียว โดยกล่าวว่า “อุตสาหกรรมไอซีทีเป็นรากฐานของเศรษฐกิจดิจิทัล ด้วยเหตุนี้ ไชน่า โมบายล์ จึงมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้ประกอบการด้านไอซีทีที่จะต้องทำงานร่วมกับนักวิชาการ สถาบันวิจัย และพันธมิตรในอุตสาหกรรมทั้งต้นน้ำและปลายน้ำเพื่อสร้างแรงกระเพื่อมที่ยิ่งใหญ่” ทั้งนี้ ไชน่า โมบายล์ มีแผนที่จะลดการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่อหน่วยการบริการด้านโทรคมนาคมลงให้ได้อย่างน้อย 20% ลดการใช้ไฟฟ้าให้ได้มากกว่า 4 หมื่นล้านกิโลวัตต์ และผลักดันให้อุตสาหกรรมอื่นๆ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้มากกว่า 1.6 พันล้านตันภายในช่วงสิ้นสุดของแผนการระยะ 5 ปี ครั้งที่ 14 ของบริษัทฯ ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวยังสอดคล้องกับเป้าหมาย “dual carbon” ของประเทศจีนในการบรรลุจุดสูงสุดของการปล่อยก๊าซคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2573 และเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2603

นายหวัง กัวผิง รองผู้จัดการทั่วไปของ State Grid Yancheng Power Supply Company กล่าวว่า “เรากำลังดำเนินการเพื่อให้ Yancheng Low-carbon & Smart-energy Innovation Park ของเราเป็นโรงงานไฟฟ้าอัจฉริยะที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนเกือบเป็นศูนย์ด้วยการใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนใหม่ จากความร่วมมือด้านนวัตกรรมกับหัวเว่ย เราได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อพัฒนาการดำเนินงานใน 4 ด้าน ได้แก่ การผสานการใช้พลังงานหลายรูปแบบ การบริหารจัดการด้านคาร์บอนเป็นศูนย์แบบอัจฉริยะ การปฏิบัติการอย่างมีประสิทธิภาพ และบริการใหม่ๆ ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยให้เราสามารถเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานรูปแบบใหม่ได้มากขึ้น เราภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในโครงการนี้เพื่อช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศจีนได้บรรลุเป้าหมายด้านการจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและความเป็นกลางทางคาร์บอน”​      

นายลู เซียงผิง หัวหน้าฝ่ายความปลอดภัยด้านไอซีที ศูนย์ข้อมูลของ BYD อธิบายถึงการนำเครือข่ายออปติคัลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของหัวเว่ยมาใช้เพื่อพัฒนาการผลิตแบบอัจฉริยะและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการปฏิบัติการแบบคาร์บอนต่ำ ว่า “ตลาดยานยนต์พลังงานใหม่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว ในฐานะผู้นำตลาด เรารู้สึกตื่นเต้นที่จะได้สร้างโครงการต้นแบบในศูนย์การผลิตของเราในเมืองฉางโจว โดยใช้เทคโนโลยีออปติคัลสีเขียวที่ใช้งานง่ายของหัวเว่ยโซลูชันเครือข่ายออปติคัลของหัวเว่ยรองรับการออกแบบเครือข่ายของเรา ทั้งยังมีความยืดหยุ่นสูง สามารถวางใจได้ และช่วยให้การถ่ายโอนข้อมูลระหว่างเครือข่ายการผลิตและสำนักงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เราสามารถรองรับการผลิตที่เพิ่มขึ้นได้อย่างยอดเยี่ยม”         

ในช่วงท้ายของสุนทรพจน์ นายเควิน จาง สรุปทิ้งท้ายโดยเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของหัวเว่ยในการสร้างความร่วมมือและผลักดันให้มีการนำเทคโนโลยีไอซีทีสีเขียวมาใช้เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งยืนยันว่าหัวเว่ยจะเดินหน้าส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่ประหยัดพลังงาน ใช้ “บิต” เพื่อบริหารจัดการ “วัตต์” และเปลี่ยนจาก “คาร์บอนฟุตพริ้นท์” สู่ “คาร์บอนแฮนด์พริ้นท์” เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั่วโลก

รายงานการพัฒนาสีเขียวแห่งปี พ.ศ. 2573

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม สามารถดาวน์โหลดรายงานการพัฒนาสีเขียวแห่งปี พ.ศ. 2573 ได้ที่

https://www.huawei.com/en/giv/green-development-2030