บริษัท Mitsubishi Heavy Industries จากญี่ปุ่น วางแผนจะพัฒนาและผลิต Microreactor เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็กเชิงพาณิชย์ ที่สามารถจัดส่งผ่านทางรถบรรทุกได้ ภายในสิ้นทศวรรษหน้า โดยหวังว่าโครงการนี้จะสามารถผลิตพลังงานจำนวนมากได้โดยไม่มีการปล่อยคาร์บอนออกมา
เครื่องปฏิกรณ์ขนาดเล็กที่ว่าจะมีขนาดสูงเพียง 3 เมตร กว้าง 4 เมตร และมีน้ำหนักที่น้อยกว่า 40 ตัน โดยเครื่องปฏิกรณ์และเครื่องกำเนิดพลังงานจะขนาดพอดีกับภายในรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ ทำให้สามารถขนส่งไปยังพื้นที่ห่างไกลหรือพื้นที่ประสบภัยได้
ด้วยขนาดของมัน ทำให้มีขนาดเล็กพอที่จะฝังไว้ใต้ดินได้ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ เทคโนโลยีนี้ยังสามารถใช้ในการสำรวจอวกาศได้ด้วย
เครื่องนี้มีกำลังการผลิตสูงสุดที่ 500 กิโลวัตต์ หรือ 1/20 ของความจุของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั่วไปที่ผลิตได้มากกว่า 1 กิกะวัตต์
ทาง Mitsubishi วางแผนจะจำหน่ายเทคโนโลยีนี้โดยเร็วที่สุดในช่วงทศวรรษ 2030 หลังจากได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม เรื่องความปลอดภัยเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก โดยเครื่องปฏิกรณ์ขนาดเล็กจะต้องทำให้มีความปลอดภัยกว่าเครื่องปฏิกรณ์ทั่วไป เนื่องจากมีการทำงานที่ใกล้กับพื้นที่ที่มีประชากรจำนวนมาก ตัวแกนของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ สารหล่อเย็น และอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งหมดจะต้องถูกบรรจุไว้ในแคปซูลที่ปิดสนิท
เครื่องปฏิกรณ์จะใช้เชื้อเพลิงเป็นยูเรเนียมที่เสริมสมรรถนะสูง โดยไม่ต้องเปลี่ยนใหม่ตลอดระยะเวลาการทำงานประมาณ 25 ปี เมื่อเชื้อเพลิงหมดลง ยังสามารถกู้คืนเครื่องปฏิกรณ์ขนาดเล็กทั้งหมดได้
เนื่องจากเครื่องปฏิกรณ์ขนาดเล็กนี้ต้องการการบำรุงรักษาเพียงเล็กน้อย รวมถึงเรื่องขนาดของมัน ทำให้สามารถติดตั้งไว้ใต้ดินเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและการก่อการร้าย นอกจากนี้ Mitsubishi ยังช่วยลดความเสี่ยงของอันตรายที่เกิดจากความล้มเหลวของสารหล่อเย็น แทนที่จะใช้สารหล่อเย็นเหลว เครื่องปฏิกรณ์ขนาดเล็กนี้จะใช้วัสดุกราไฟท์แบบโซลิดสเตตที่นำความร้อนได้สูง
กราไฟต์ที่ล้อมรอบแกนกลางและถ่ายเทความร้อนไปยังระบบผลิตไฟฟ้าระหว่างการทำงานปกติ หากเกิดอุบัติเหตุขึ้น ความร้อนส่วนเกินจากแกนกลางจะถูกกำจัดโดยการระบายความร้อนตามธรรมชาติ
Mitsubishi กล่าวว่าเครื่องปฏิกรณ์ขนาดเล็กนี้จะมีราคาหลายสิบล้านดอลลาร์ ซึ่งถูกกว่าการจะก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาด 1.2 กิกะวัตต์ที่มีค่าใช้จ่าย 6 พันล้านดอลลาร์ หรือสูงกว่านั้น
แม้ต้นทุนในการผลิต 1 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมงจะสูงกว่าเครื่องปฏิกรณ์ทั่วไป แต่จะสอดคล้องกับต้นทุนที่ใช้ในการจัดหาพลังงานให้กับพื้นที่ห่างไกล โดยเครื่องปฏิกรณ์นี้จะเข้ามาช่วยให้พื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงแหล่งพลังงานที่ประหยัดโดยไม่ต้องพึ่งพาการใช้งานคาร์บอนเพื่อเป็นการลดมลพิษ
ที่มา : NIKKEI ASIA | DAILY ARRAY