หัวเว่ย เดินหน้ายกระดับศักยภาพบุคลากรไอซีทีไทย สนับสนุนค่าย Super AI Engineer มุ่งพัฒนานวัตกร/วิศวกร/นักวิจัย/วิสาหกิจเริ่มต้นเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อนาคต
บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด หนึ่งในผู้นำด้านเทคโนโลยีไอซีทีระดับโลกและการให้บริการธุรกิจคลาวด์ เดินหน้าสานต่อความมุ่งมั่นด้านการพัฒนาทักษะดิจิทัลและการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาประเทศ ด้วยการสนับสนุนเทคโนโลยีคลาวด์ให้แก่ “โครงการพัฒนานวัตกร/วิศวกร/นักวิจัย/วิสาหกิจเริ่มต้น ด้านปัญญาประดิษฐ์” หรือ “สุดยอดวิศวกรปัญญาประดิษฐ์ (Super AI Engineer)” ที่จัดขึ้นโดยสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (Artificial Intelligence Association of Thailand: AIAT) ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมทั้งส่งต่อองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีระดับสูงและการให้บริการคลาวด์อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อตอกย้ำพันธกิจด้านการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นดิจิทัลฮับของภูมิภาคอาเซียน และการสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ทักษะด้านดิจิทัล
โครงการดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะด้านดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนประเทศในอนาคต โดยโครงการนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2564 ถึง 31 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ด้วยความร่วมมือจากเครือข่ายสมาชิกสมาคมจากองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนไม่น้อยกว่า 40 แห่งเพื่อพัฒนาบุคลากรไทยอย่างต่อเนื่อง
ศ.ดร. ธนารักษ์ ธีระมั่นคง หัวหน้าโครงการพัฒนานวัตกร-วิศวกร-นักวิจัย-วิสาหกิจเริ่มต้น ด้านปัญญาประดิษฐ์ กล่าวว่า “เราต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ช่วยสนับสนุนการจัดโครงการ Super AI Engineer โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่เป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีระดับโลก สามารถส่งมอบบริการคลาวด์ ระบบและแอปพลิเคชันต่างๆ ที่ช่วยสนับสนุนให้ผู้เข้าร่วมโครงการของเราได้เรียนรู้และใช้งานได้จริง พัฒนาตนเองได้จากการใช้เทคโนโลยีของหัวเว่ย พร้อมทั้งได้รับประโยชน์จากการใช้งานฮาร์ดแวร์ GPU ของหัวเว่ย โครงการนี้จึงเปรียบเสมือน Sandbox ด้านการผลิตและยกระดับศักยภาพของบุคลากร เพราะเรารวบรวมคนที่มีความสามารถและสนใจในเทคโนโลยีจากที่ต่างๆ มารวมกัน เรามีแนวคิดพัฒนาการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประเทศไทยอาจกลายเป็นเสือธุรกิจตัวที่ 4 หรือ 5 ในอนาคตได้”
ด้านคุณสุรศักดิ์ วนิชเวทย์พิบูล หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีฝ่ายแผนกธุรกิจคลาวด์ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้กล่าวถึงความร่วมมือในโครงการครั้งนี้ว่า “หัวเว่ยขอขอบคุณสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย ที่ให้เกียรติหัวเว่ยในการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันโครงการ Super AI Engineerครั้งที่ 1 ตั้งแต่ปี 2563 และครั้งที่ 2 ในปีนี้ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลของประเทศไทยในการช่วยขับเคลื่อนภาคธุรกิจต่อไปในอนาคต โดยหัวเว่ยได้สนับสนุนเทคโนโลยีคลาวด์อย่างครบวงจร ทั้งในด้านหลักสูตรอบรม การใช้เครดิตของหัวเว่ย คลาวด์ และการใช้บริการคลาวด์สาธารณะของหัวเว่ย ทั้งนี้ ประเทศไทยนับเป็นตลาดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของหัวเว่ย เราจึงมุ่งมั่นสนับสนุนโครงการพัฒนาทักษะดิจิทัลอย่างต่อเนื่องในหลายด้านสำหรับตลาดประเทศไทย”
เขาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าหัวเว่ยให้บริการคลาวด์สาธารณะที่มีประสิทธิภาพสูงและมีมาตรฐานระดับโลกในไทย ซึ่งตอบโจทย์การใช้งานของภาคธุรกิจสามารถทำงานได้รวดเร็วขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดกระบวนการต่างๆ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้น ทั้งผู้เข้าร่วมโครงการและธุรกิจต่างๆ จึงสามารถนำไปต่อยอดการใช้ทำงานได้อย่างสะดวกง่ายดายและรวดเร็วที่สุด เปรียบเสมือนการเข้าไปใช้บริการห้องของโรงแรมที่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกเพียบพร้อม ทำให้ทีมวิศวกรด้านดิจิทัลสามารถเข้าไปต่อยอดการใช้งานได้ทันที ซึ่งเทคโนโลยีคลาวด์ถือว่ามีความสำคัญต่อเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในด้านการประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาล
คุณเขมะรินทร์ วีระเผ่า หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการพัฒนานวัตกร/วิศวกร/นักวิจัย/วิสาหกิจเริ่มต้น ด้านปัญญาประดิษฐ์ ปีที่ 2 ได้กล่าวว่า “หัวเว่ย คลาวด์ มีความสำคัญมากต่อการทำงานในโครงการ เพราะทำให้เราไม่ต้องหาทรัพยากรมาใช้เอง และยังสามารถรับข้อมูลได้เป็นจำนวนมาก ทำงานได้อย่างรวดเร็วกว่าการใช้ทรัพยากรของเราเอง ผมต้องขอขอบคุณทางหัวเว่ยที่สนับสนุนหัวเว่ยคลาวด์เพราะเป็นเทคโนโลยีที่มีประโยชน์มาก สามารถใช้งานได้จริง และอยากให้ทางหัวเว่ยสนับสนุนต่อไป เพื่อช่วยพัฒนาความสามารถของบุคลากรด้านดิจิทัลให้นำไปพัฒนาประเทศต่อได้”
นอกจากนี้ ยังมีผู้เข้าร่วมโครงการฯ ในปีที่ 1 ที่กลับมาเป็นเจ้าหน้าที่ประจำโครงการในครั้งนี้ โดยคุณเกรียงไกร จิระวงศ์อร่าม ได้กล่าวถึงประสบการณ์ที่ได้รับว่า “การได้กลับมาเป็นเจ้าหน้าที่ประจำโครงการในปีนี้ยิ่งทำให้เห็นได้ชัดว่าหัวเว่ย คลาวด์สำคัญมากในทุกๆ ขั้นตอน นับตั้งแต่ การรับสมัคร การวัดผล การจัดการต่างๆ ในโครงการ และที่สำคัญคือการใช้แก้โจทย์ด้านปัญญาประดิษฐ์ ที่ได้รับจากผู้ประกอบการในแต่ละสัปดาห์ ซึ่งการประมวลผลของหัวเว่ย คลาวด์ เปรียบเสมือนการทำงานกับคอมพิวเตอร์บนคลาวด์ที่มีความสะดวกสบาย สามารถปรับเปลี่ยนได้ทันที และปลอดภัย ซึ่งสามารถอำนวยความสะดวกในการทำงานพัฒนาโปรเจ็คต์ได้เป็นอย่างดี”
ด้าน คุณสัตยา สิงห์กุล อีกหนึ่งผู้เข้าร่วมโครงการฯ ในปีที่ 1 ที่กลับมาเป็นเจ้าหน้าที่ประจำโครงการยังได้กล่าวเสริมว่าปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์เริ่มมีบทบาทมากขึ้น เราเห็นว่าปัญหาที่พบบ่อยคือการกลั่นแกล้งทางสังคม (Social Bullying ) หรือการแชร์ข่าวปลอม (Fake news) แชร์ลูกโซ่ อย่างไรก็ตาม เราสามารถนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เข้ามาคัดกรองสิ่งเหล่านี้ได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งต้องอาศัยการจัดเก็บข้อมูลจำนวนมาก (Big Data) ดังนั้น วิธีการจัดเก็บข้อมูลที่ดีที่สุดคือการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ให้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้
เขายังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าเทคโนโลยีคลาวด์ของหัวเว่ยที่มีระบบเซิร์ฟเวอร์ในประเทศไทย จะสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วกว่าคลาวด์ของผู้ให้บริการอื่น และถูกต้องตามกฎหมายไทย ทำให้ไม่ต้องกังวลในระหว่างทำงานว่าสิ่งที่อัพโหลดจะผิดกฎหมายข้อใดหรือไม่
โครงการพัฒนานวัตกร/วิศวกร/นักวิจัย/วิสาหกิจเริ่มต้น ด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือ สุดยอดวิศวกรปัญญาประดิษฐ์ (Super AI Engineer) นี้นับเป็นการตอกย้ำความสำคัญของการร่วมมือของทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน ที่ต่างมีพันธกิจร่วมกันในการมุ่งนำประเทศไทยเข้าสู่สังคมดิจิทัล ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในพันธกิจของหัวเว่ยที่ต้องการเติบโตไปพร้อมกับประเทศไทยและสนับสนุนช่วยเหลือประเทศไทย เพื่อร่วมมือกันสร้างอีโคซิสเต็มของภาคอุตสาหกรรมเพื่อสังคมอัจฉริยะที่เชื่อมต่ออย่างไร้ที่ติในอนาคตอย่างสมบูรณ์แบบ