Huawei

หัวเว่ย จัดประชุม Huawei APAC Digital Innovation Congress 

หัวเว่ย จัดประชุม Huawei APAC Digital Innovation Congress ชู “นวัตกรรมเพื่อเอเชียแปซิฟิกยุคดิจิทัล” โดยมีหน่วยงานภาครัฐ, ผู้เชี่ยวชาญ, นักวิจัย, พันธมิตรธุรกิจและนักวิเคราะห์เข้าร่วมงานกว่า 1,500 คน

หัวเว่ยร่วมกับมูลนิธิอาเซียน (ASEAN Foundation) จัดงานประชุม Huawei APAC Digital Innovation Congress เป็นวันแรกที่ประเทศสิงคโปร์ โดยมีหน่วยงานภาครัฐ, ผู้เชี่ยวชาญ, นักวิจัย, พันธมิตรธุรกิจและนักวิเคราะห์เข้าร่วมงานกว่า 1,500 คน จากกว่า 10 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อร่วมวางโครงสร้างอนาคตของนวัตกรรมและเศรษฐกิจดิจิทัล โดยหัวข้อการประชุมครอบคลุมถึงเรื่องความรุดหน้าในเทคโนโลยีไอซีที การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ตลอดจนการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมุ่งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

“เอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก และมีบทบาทสำคัญในการผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจโลกมาเป็นเวลานาน และปัจจุบันก็มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรมดิจิทัลอีกด้วย” นายเคน หู ประธานกรรมการบริหารหมุนเวียนตามวาระของหัวเว่ย กล่าวในสุนทรพจน์เปิดงาน และกล่าวย้ำว่าหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิยกระดับการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลสู่นโยบายเชิงกลยุทธ์และร่วมสนับสนุนนโยบายที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง

Huawei APAC Digital Innovation Congress

“หัวเว่ยมีรากฐานหยั่งลึกในเอเชียแปซิฟิก และให้บริการลูกค้าในภูมิภาคมาเป็นเวลากว่า 30 ปี เราภูมิใจที่ได้ร่วมสนับสนุนการพัฒนาด้านดิจิทัลในภูมิภาคให้รุดหน้า ซึ่งต่อจากนี้ เราจะมุ่งลงทุนอย่างต่อเนื่องในด้านนวัตกรรมเพื่อเสริมศักยภาพของพันธมิตรให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาเชิงกลยุทธ์ โดยในปีพ.ศ. 2565 เราวางแผนสนับสนุนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเพิ่มเติมในด้านดิจิทัลและสิ่งแวดล้อม ด้วยการเสริมศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล มุ่งเน้นการพัฒนาที่ลดการปล่อยคาร์บอน และสนับสนุนความเท่าเทียมในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล”

ดร.หยาง มี เอง กรรมการบริหารมูลนิธิอาเซียน ได้กล่าวสุนทรพจน์ในงานว่า “การรวมตัวที่แข็งแกร่งระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลเท่านั้นที่จะร่วมสร้างภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในยุคดิจิทัลที่เท่าเทียมกันและพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต การประชุม Huawei APAC Digital Innovation Congress 2022 นับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่างมูลนิธิอาเซียนกับหัวเว่ย เพื่อสร้างอีโคซิสเต็มการเรียนรู้ที่เน้นการพัฒนาทักษะของผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก”

กลยุทธ์ส่งเสริมนวัตกรรมดิจิทัลและเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

นายสัตวินเดอร์ ซิงห์ รองเลขาธิการประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เน้นย้ำความคืบหน้าของแผนแม่บทด้านดิจิทัลในอาเซียน พ.ศ. 2568 รวมถึงมุมมองด้านการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า “การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้ลงทะเบียนใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มขึ้นถึง 60 ล้านคนในอาเซียน ส่งผลให้มีฐานผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตใหญ่เป็นอันดับสาม ด้วยจำนวนผู้ใช้รวมเกือบ 400 ล้านคน มีการคาดการณ์ว่ารายได้ด้านดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียนจะสูงถึง 363,000 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี พ.ศ. 2568” เขากล่าวเสริมอีกว่า “การผนึกกำลังที่เข้มแข็งจากหลายฝ่ายรวมถึงภาคเอกชน จำเป็นอย่างยิ่งในการเข้าถึงศักยภาพสูงสุดของการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียน”

นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า “ประเทศไทยสนับสนุนการดำเนินการตามแผนแม่บทด้านดิจิทัลในอาเซียน พ.ศ. 2568 อย่างเต็มที่ เพราะเป็นกลยุทธ์สำคัญในการปรับตัวด้านเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เรามุ่งยกระดับศักยภาพของเทคโนโลยีไอซีทีและดิจิทัลเพื่อเข้าถึงบริการของภาครัฐและเอกชนอย่างเท่าเทียมกัน และร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน”

ดร. เอช. ซานเดียกา ซาลาฮัดดิน อูโน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจนันทนาการของอินโดนีเซีย กล่าวถึงนวัตกรรมที่ผลักดันประเทศอินโดนีเซียในยุคดิจิทัลว่า “เทคโนโลยี ‘Frontier’ ช่วยผลักดันการฟื้นฟูเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย และสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและนันทนาการในปัจจุบัน คือมาตรการที่ยั่งยืนในด้านสุขอนามัย, การดูแลสุขภาพ ตลอดจนความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมที่ปรับเปลี่ยนได้เฉพาะบุคคลและกลมกลืนกับวิถีชีวิตท้องถิ่น” เขากล่าวเสริมว่า “เรามุ่งหาโซลูชันและความก้าวหน้าเชิงเทคนิคเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงด้านอุตสาหกรรมในประเทศอินโดนีเซีย โดยได้ร่วมลงนามในโครงการสำคัญเชิงกลยุทธ์กับหัวเว่ย เพื่อขยายขีดความสามารถด้านดิจิทัลของชาวอินโดนีเซียและเสริมศักยภาพให้กับสตาร์ทอัพในท้องถิ่น ซึ่งนำไปสู่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุดในอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อฟื้นฟูและสร้างความแข็งแกร่งไปพร้อมกัน”

ดาโตสรี ดร. อดัม บิน บาบา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของมาเลเซีย กล่าวว่า การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมีความจำเป็นอย่างยิ่งในปัจจุบัน ประเทศมาเลเซียเพิ่งเปิดตัวพิมพ์เขียวเศรษฐกิจดิจิทัลของมาเลเซีย (MyDIGITAL) เพื่อเสริมความแข็งแกร่งและยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างยั่งยืนด้วยการประยุกต์ใช้แพลตฟอร์มการทำงานร่วมกันและสร้างอุปสงค์สำหรับโซลูชันดิจิทัลที่พัฒนาโดยสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีดิจิทัลท้องถิ่นรวมถึงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ทั้งด้านอุปกรณ์และงานระบบตลอดจนซอฟต์แวร์ที่ครอบคลุมถึงโปรแกรมและปัญญาประดิษฐ์ (AI) สิ่งเหล่านี้ร่วมผลักดันให้มาเลเซียก้าวสู่การเป็นประเทศผู้ผลิตชั้นนำด้านโซลูชันเทคโนโลยี

นายมุสตาฟา แจ็บบาร์ รัฐมนตรีกระทรวงไปรษณีย์และโทรคมนาคมของบังกลาเทศ อธิบายว่าอุตสาหกรรมการสื่อสารของบังกลาเทศเติบโตอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่การนำเสนอกลยุทธ์ ‘ดิจิทัลบังกลาเทศ’ ในปี พ.ศ. 2551 ส่งผลให้อัตราครอบคลุมบรอดแบนด์มือถือในประเทศเพิ่มขึ้นจาก 0% เป็น 98.5% และขยายฐานผู้ใช้จาก 40 ล้านคนในปีพ.ศ. 2561 เป็น 180 ล้านคนในปัจจุบัน “ความสำเร็จนี้เปลี่ยนวิถีชีวิตชาวบังกลาเทศไปอย่างมาก และคงไม่เกิดขึ้นหากปราศจากการสนับสนุนจากพันธมิตรในอุตสาหกรรมและอีโคซิสเต็มทั้งหมด” แจ็บบาร์กล่าวเสริม

พันธกิจของหัวเว่ยเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

นายไซมอน หลิน ประธานกรรมการบริหารประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของหัวเว่ย กล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับโอกาสมหาศาลด้านดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและกล่าวถึงพันธกิจ ‘ในเอเชียแปซิฟิก สำหรับเอเชียแปซิฟิก’ หรือ ‘In Asia-Pacific, for Asia-Pacific’ ของหัวเว่ย เพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นในการเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักในด้านเศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียแปซิฟิก โดยทำงานร่วมกับลูกค้าและพันธมิตรเพื่อสร้างวิถีชีวิตดิจิทัลที่ดีขึ้นและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เขากล่าวเสริมว่า “หัวเว่ยมุ่งมั่นขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานอันทันสมัยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในเอเชียแปซิฟิก สร้างระบบนิเวศเชิงอุตสาหกรรมที่รุดหน้า และผลักดันภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเท่าเทียม”

นอกจากนี้เขายังเปิดเผยว่า หัวเว่ยส่งมอบบริการเชื่อมต่อให้กับประชากรกว่า 90 ล้านครัวเรือนและผู้ใช้มือถือหนึ่งพันล้านคนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับที่ 4 ด้านการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที (IaaS) ในตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หัวเว่ยผสานเทคโนโลยีดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์กำลังเพื่อประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในด้านพลังงานเพื่อสร้างโลกอนาคตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

หัวเว่ยร่วมมือกับพันธมิตรองค์กรและคลาวด์เกือบ 10,000 ราย และวางแผนการลงทุน 100 ล้านเหรียญสหรัฐในโครงการ Spark เพื่อสร้างอีโคซิสเต็มสตาร์ทอัพในเอเชียแปซิฟิก หัวเว่ยและพันธมิตรจัดฝึกอบรมทักษะด้านดิจิทัลให้ประชากรกว่า 170,000 คน และวางแผนฝึกอบรมให้กับประชากรอีกกว่า 500,000 คนภายในเวลาห้าปีเพื่อพัฒนาอีโคซิสเต็มที่เปี่ยมศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลให้รุดหน้า

การอภิปรายในงาน Huawei APAC Digital Innovation Congress มีแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมจำนวนมาก รวมถึงศาสตราจารย์ พอล เชิง ผู้อำนวยการสถาบัน Asia Competitiveness Institute จากโรงเรียนนโยบายสาธารณะ ลี กวน ยู แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์, โมฮัมเหม็ด เจลิด ผู้อำนวยการสำนักวิทยาศาสตร์ยูเนสโกแห่งภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก, ดร. อิสคานดาร์ ซาหมัด ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ MIMOS Berhad หรือศูนย์วิจัยและพัฒนาแห่งชาติของมาเลเซียและ นายเดวิด ลู ประธานด้านกลยุทธ์และการตลาดภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิกของหัวเว่ย ผู้อภิปรายร่วมสรุปว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกแบบดิจิทัลที่ก้าวหน้าและยั่งยืนนั้นขึ้นอยู่กับการวางแผนเชิงกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพ นโยบายอุตสาหกรรมที่เอื้ออำนวย โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่แข็งแกร่ง การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ครอบคลุม และอีโคซิสเต็มที่แข็งแกร่งของผู้เชี่ยวชาญทักษะดิจิทัล

ภายในงานมีการอภิปรายเชิงอุตสาหกรรม 4 ด้าน โดยเน้นนวัตกรรมใหม่ของโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ได้แก่ แคมปัสอัจฉริยะ ศูนย์ข้อมูลแบบฟูลสแตก (full-stack data centers) ดิจิทัลพาวเวอร์ และคลาวด์ ในเซสชันแคมปัสอัจฉริยะ หัวเว่ยเปิดตัวโซลูชันเพื่อใช้ประเมินสถานการณ์แคมปัส รวมถึงเครือข่ายแคมปัสพื้นฐานและการสถานการณ์การใช้ FTTO/FTTM พร้อมทั้งประกาศความสำเร็จล่าสุดและตัวอย่างแนวทางการดำเนินงานยอดเยี่ยมของลูกค้าและคู่ค้า การอภิปรายในเซสชันคลาวด์ หัวเว่ยเปิดตัวผลิตภัณฑ์และโซลูชันใหม่ ได้แก่ GaussDB ซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลที่จัดเก็บบนคลาวด์และ DevCloud หรือศูนย์รวม DevOps แบบครบวงจรเพื่อการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เปี่ยมประสิทธิภาพยิ่งขึ้น