Huawei

หัวเว่ย จัดงานประชุม Global Rail Summit 2022 ในประเทศไทย

หัวเว่ย จัดงานประชุม Global Rail Summit 2022 ในประเทศไทย การประชุมครั้งนี้ยังมีเป้าหมายเพื่อมองหาโอกาสในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อเสริมศักยภาพให้แก่หน่วยงานคมนาคมขนส่งทางรางทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับโลก โดยหัวเว่ยพร้อมนำเทคโนโลยีไอซีทีอันล้ำสมัยมาใช้เพื่อช่วยยกระดับระบบโครงสร้างพื้นฐานให้กับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมรองรับการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองและการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

งานประชุม Global Rail Summit 2022 ของหัวเว่ย จัดขึ้นภายในงาน Asia Pacific Rail 2022 ภายใต้หัวข้อ “ผลักดันการใช้เทคโนโลยีในระบบรางแห่งอนาคต เพื่อสร้างคุณค่าใหม่ร่วมกัน” (Driving Digitalization in Future Rail to Create New Value Together) ทั้งนี้ งาน Asia Pacific Rail ถือเป็นงานสัมมนาประจำปีที่จัดขึ้นมาอย่างยาวนาน โดยตลอด 23 ปีที่ผ่านมา มีผู้นำและผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมได้เข้าร่วมงานมาแล้วมากกว่า 25,000 คน ภายในงานของปีนี้ หัวเว่ยยังได้จัดบูธนิทรรศการเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับโซลูชันสุดล้ำของบริษัทฯ ที่ออกแบบมาเพื่ออุตสาหกรรมการคมนาคมด้วยระบบรางโดยเฉพาะ

“ในฐานะผู้ให้บริการโซลูชันไอซีทีชั้นนำระดับโลก หัวเว่ยพร้อมนำเสนอโซลูชันระบบขนส่งทางรางในเมืองและระบบทางรถไฟอัจฉริยะ ด้วยสถาปัตยกรรมแบบครบวงจรที่สามารถรองรับการเชื่อมต่อที่หลากหลายได้บนแพลตฟอร์มดิจิทัลเพียงหนึ่งเดียว เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีดิจิทัลให้กับระบบรางและสร้างความอัจฉริยะให้กับธุรกิจ” นายแอรอน หวัง ประธานอาวุโสของกลุ่มธุรกิจองค์กร หัวเว่ย เอเชียแปซิฟิก กล่าว      

“เราเห็นการเติบโตอย่างรวดเร็วของความต้องการระบบดิจิทัลสำหรับการขนส่งด้วยระบบราง ผู้ให้บริการรถไฟและการขนส่งด้วยระบบรางในเมืองกำลังพยายามที่จะเปลี่ยนจากระบบแบบเฉพาะสถานี ไปใช้โครงสร้างพื้นฐานระบบรางในรูปแบบคลาวด์เพื่อเชื่อมต่อบริการต่างๆ เข้าด้วยกัน นอกจากนี้ยังมีการผลักดันไปสู่ระบบแบบบูรณาการที่มีความชาญฉลาดมากขึ้น เราคาดการณ์ว่าจะมีการนำระบบเหล่านี้มาใช้ในระดับมหภาคในอนาคตอันใกล้นี้ ด้วยเหตุนี้ หัวเว่ย จึงได้ออกแบบและเปิดตัวโซลูชันอัจฉริยะแบบครบวงจรสำหรับอุตสาหกรรมระบบรางโดยเฉพาะ” นายเซียง สี รองประธานกลุ่มธุรกิจการขนส่งระดับโลกของหัวเว่ย กล่าว

หัวเว่ย Global Rail Summit 2022 

งานประชุม Global Rail Summit 2022 ของหัวเว่ย ประกอบด้วยวาระการประชุมที่หลากหลายครอบคลุมทั้งประเด็นด้านนวัตกรรม การเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีดิจิทัล และการคมนาคมขนส่งด้วยระบบรางที่รองรับเทรนด์อนาคต     

นายลี จองเฮา ผู้อำนวยการสมาคมผู้ให้บริการรถไฟใต้ดินแห่งประเทศจีน ได้แบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลของระบบรถไฟใต้ดินในประเทศจีน ขณะที่การรถไฟแห่งประเทศไทยและบริษัท ซีอาร์เอสซี อินเตอร์เนชันแนล ได้ร่วมกันพิจารณากลยุทธ์ในการปรับปรุงระบบการเชื่อมต่อ การนำเทคโนโลยีไอซีทีที่ล้ำสมัยมาใช้ และการสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพสำหรับทางรถไฟ

นอกจากนี้ ภายในงาน หัวเว่ยยังได้เปิดตัวรายงานสมุดปกขาว Future Railway Mobile Communications System (FRMCS) ซึ่งเผยถึงเทรนด์ล่าสุดและแนวปฏิบัติสมัยใหม่ของระบบการสื่อสารแบบเคลื่อนที่สำหรับระบบทางรถไฟและรถไฟใต้ดิน รายงานฉบับนี้จัดทำขึ้นโดยมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้นำอุตสาหกรรมนี้และผู้ที่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเป็นหลัก โดยได้สรุปถึงหลายๆ เทคโนโลยีที่มีความโดดเด่นที่สุดในอุตสาหกรรม รวมไปถึงแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในการใช้งานโซลูชันการสื่อสารคุณภาพสูง

ไม่เพียงเท่านั้น หัวเว่ยยังได้แบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดหลากหลายประการ พร้อมทั้งนำเสนอโซลูชันต่างๆ ณ บูธของหัวเว่ยภายในงาน Asia Pacific Rail 2022 หนึ่งในไฮไลท์นั้น ได้แก่ โซลูชันโครงข่ายการสื่อสาร Urban Rail Wi-Fi 6 Vehicle-to-Ground Communication Network ที่ช่วยให้ระบบการขนส่งทางรางสามารถรับส่งข้อมูลระหว่างกันได้ในแบบเกือบเรียลไทม์ โดยเครือข่ายการสื่อสารระหว่างยานพาหนะและหน่วยงานภาคพื้นดินนี้ นับเป็นแนวทางใหม่สำหรับผู้ให้บริการรถไฟในการแชร์ข้อมูล สร้างความปลอดภัย และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการบริการ โดยเจ้าหน้าที่บนรถไฟสามารถสื่อสารกับสถานีและศูนย์ควบคุมรถไฟได้แม้ในขณะที่รถไฟกำลังเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง ช่วยขจัดความล่าช้าของการรับส่งข้อมูลได้อย่างเกือบสมบูรณ์

งานประชุมครั้งนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงถึงมติที่มีร่วมกันของทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมต่อความต้องการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลอย่างรวดเร็ว ซึ่งหัวเว่ยพร้อมที่จะสานต่อความร่วมมือกับลูกค้าและพันธมิตรในระบบนิเวศของการคมนาคมขนส่งด้วยระบบราง และส่งมอบระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่ทันสมัยเพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมการขนส่งด้วยระบบรางในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและทั่วโลกสามารถเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลได้อย่างราบรื่น ทั้งนี้ โซลูชันระบบรางอัจฉริยะที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำของหัวเว่ยสามารถช่วยเสริมความปลอดภัย เพิ่มประสิทธิภาพ ยกระดับประสบการณ์การใช้งาน ขับเคลื่อนการพัฒนาเมือง และสร้างคุณค่าใหม่ให้กับอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาไปสู่เมืองดิจิทัลพร้อมกัน